รู้ไหม? หนังแอ็คชั่นมันๆ ของอินเดีย ไม่ใช่หนัง Bollywood แต่เป็น ‘หนังอินเดียใต้’
ในอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย สิ่งที่เรียกว่า Bollywood คืออุตสาหกรรมภาพยนตร์ภาษาฮินดีที่มีศูนย์กลางที่เมืองมุมไบ รัฐมหาราษฏระ (Maharashtra) ซึ่งแต่ไหนแต่ไรมา มันถูกนับว่าเป็นตัวแทนของ ‘หนังอินเดีย’ เพราะผลิตหนังมาเยอะสุด และหนังภาษาฮินดีพวกนี้รายได้กินไปราวๆ 40 เปอร์เซ็นต์ของอุตสาหกรรมหนังอินเดียทั้งประเทศ
อย่างไรก็ดี อินเดียเป็นประเทศที่คนใช้ภาษาหลากหลายมาก และเป็นประเทศที่ไม่มีภาษาประจำชาติ ขณะที่การปกครองแบบสหพันธรัฐก็ให้อิสระกับรัฐต่างๆ สูง ดังนั้นภาษาราชการในแต่ละรัฐจึงไม่เหมือนกัน และภาษาฮินดีก็เป็นภาษาที่มีใช้กันไม่ถึง 10 รัฐด้วยซ้ำ (อินเดียมี 28 รัฐ และใช้ภาษาฮินดีเป็นภาษาราชการแค่ 9 รัฐ) ซึ่งถ้าจะให้อธิบายง่ายๆ ภาษาฮินดีคือภาษาของ ‘คนเหนือ’ หรือพวกอินเดียเหนือ แต่พวก ‘คนใต้’ จะไม่ใช้ภาษาฮินดี
และถ้าเราพอรู้ อินเดียเหนือกับใต้ในภาพรวมมีความต่างกันมากทั้งภาษาและวัฒนธรรมในปัจจุบัน ซึ่งถ้าจะให้ลงลึกไปในประวัติศาสตร์ คนอินเดียเหนือคือคนอินโด–อารยัน ที่มีประวัติศาสตร์ร่วมกันภายใต้จักรวรรดิใหญ่ๆ ซึ่งจักรวรรดิพวกนี้จะไม่แผ่มาถึงทางใต้ ซึ่งทางใต้ก็จะมีพลวัตทางการเมืองของตัวเองภายใต้จักรวรรดิของคนดราวิเดียนอย่างโจฬะ เจนละ และปัณฑยะ
กล่าวอีกแบบคือ อินเดียเหนือกับใต้ในอดีตเป็น ‘คนละประเทศ’ กันเลย และมันเพิ่งมาเป็น ‘ประเทศเดียวกัน’ เมื่ออังกฤษเข้ายึดตอนกลางในศตวรรษที่ 19
และด้วยประวัติศาสตร์และวิถีที่ต่างกันแบบนี้เอง ก็เลยทำให้คนอินเดียเหนือกับใต้มีความ ‘เขม่น’ กันอยู่กลายๆ (ก็คงคล้ายๆ คนอิตาลีเหนือกับใต้ หรือคนคันไซกับคนคันโตของญี่ปุ่น)
ในขณะที่คนอินเดียเหนือมีจุดร่วมกันที่การใช้ภาษาฮินดี คนอินเดียใต้กลับมีความแตกต่างหลากหลายทางภาษากว่ามาก โดยคนอินเดียใต้แต่ละรัฐจะมีภาษาของตัวเองที่ต่างกันเกือบหมด ถ้าจะพูดถึงแค่รัฐใหญ่ๆ ก็เช่น รัฐกรณาฏกะ (Karnataka) ก็ใช้ภาษากันนาดา รัฐอานธรประเทศ (Andhra Pradesh) กับ รัฐเตลังคานา (Telangana) ใช้ภาษาเตลูกู รัฐทมิฬนาฑู (Tamil Nadu) ใช้ภาษาทมิฬ เป็นต้น
ตรงนี้เวลาเราพูดถึงรัฐในอินเดีย ขนาดของมันอาจเทียบเท่าประเทศหนึ่งได้เลย เช่น รัฐทมิฬนาฑู มีประชากรมากกว่าไทย (ซึ่งไทยคือประเทศที่มีประชากรระดับ Top 20 ของโลก) 2 รัฐที่ใช้ภาษาเตลูกู มีประชากรรวมกันก็มากกว่าไทย และการที่มีกลุ่มประชากรใช้ภาษาร่วมกันแบบนี้ มันก็เลยทำให้เกิดตลาดเฉพาะของภาษาพวกนี้
ดังนั้นจึงทำให้เกิดตลาดภาพยนตร์ในภาษาต่างๆ และจริงๆ แทบทุกรัฐทางใต้ที่ไม่ได้ใช้ภาษาฮินดีก็มีอุตสาหกรรมภาพยนตร์ของตัวเองเกือบหมด แต่ที่ใหญ่สุดมันคือ Kollywood (อุตสาหกรรมภาพยนตร์ภาษาทมิฬ) และ Tollywood (อุตสาหกรรมภาพยนตร์ภาษาเตลูกู) ซึ่งสองเจ้านี้รายได้รวมกันมันพอฟัดพอเหวี่ยงกับ Bollywood (และจริงๆ ก็ยังมีอุตสาหกรรมหนังอีกหลาย Wood เช่น หนังภาษากันนาดาก็จะเรียกว่า Sandalwood หนังภาษามลยาฬัมก็จะเรียก Mollywood เป็นต้น)
ทีนี้ถ้าไปดูหนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของอินเดีย ณ ปัจจุบัน เราก็จะพบว่ามันมีแค่ 5 เรื่องเท่านั้นที่เป็นภาษาฮินดี (Dangal, Bajrangi Bhaijaan, Secret Superstar, PK และ Sultan) อีก 4 เรื่องเป็นภาษาทมิฬและเตลูกู (Baahubali: The Beginning, Baahubai: The Conclusion, RRR และ 2.0) อีก 1 เรื่องคือเป็นภาษากันนาดา (K.G.F: Chapter 2) ดังนั้น ในตอนนี้หนังทำเงินตลอดกาลของอินเดียครึ่งหนึ่งเป็นหนังอินเดียเหนือ อีกครึ่งเป็นหนังอินเดียใต้
และที่โหดคือ นี่เป็นปรากฏการณ์ใหม่ เพราะสมัยก่อนสุดยอดหนังทำเงินอินเดียคือหนังภาษาฮินดีจาก Bollywood ล้วนๆ แต่ในรอบ 5 ปีหลัง หนังจากภาษาอื่นๆ ในอินเดียพาเหรดเข้าติด Top 10 กันเป็นแถว
นี่เลยทำให้เกิดสิ่งที่เรียกว่า วิวาทะหนังอินเดียเหนือ VS ใต้ ขึ้นมา คือจะมีคนที่บอกว่าเบื่อหนังแนว Bollywood แล้ว และหนังสไตล์อินเดียใต้นี่แหละคืออนาคตของอุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดีย
นอกจากนี้ ‘หนังอินเดียใต้’ ที่ดังๆ ส่วนใหญ่คือ แนวบู๊แอ็คชั่น ล่าสุด RRR ที่ฉายใน Netflix ใครดูก็บอกบันเทิงทั้งนั้น แต่ถ้าใครตามหนังอินเดียมานานๆ ก็คงจะจำหนังหุ่นยนต์แอ็คชั่นไซไฟไซบอร์กสุดคัลต์อย่าง Enthiran จากปี 2010 ได้ ซึ่งหนังเรื่องนี้ก็เป็นหนังที่ทำเงินสูงสุดในปีนั้น และมันเป็นหนังภาษาทมิฬ
และจริงๆ ถ้าเราช่างสังเกตหน่อย เราจะดูรู้เลยว่าเรื่องไหนคือ ‘หนังอินเดียใต้’ จากโปสเตอร์ คือพวกหนังภาษาทมิฬและเตลูกู โปสเตอร์พวกหนังแอ็คชั่นมันก็จะโฟกัสพระเอก และพระเอกก็จะดูเท่สุดๆ แบบดูจากโปสเตอร์ก็รู้ว่าเป็นนักบู๊ที่เก่งแบบหลุดโลก (และดูในหนังก็จะรู้ว่ายังเก่งได้มากกว่านั้นอีก)
และตรงนี้ก็อยากจะเน้นว่าอินเดียใต้ไม่ได้ผลิตแต่หนังแอ็คชั่น หนังแนวอื่นก็มี แต่ที่มันดังระดับประเทศเป็นบล็อคบัสเตอร์ฉายทั่วอินเดียคือหนังแอ็คชั่นแทบจะล้วนๆ คนอินเดียเองก็เลยมักจะจำว่าหนังอินเดียใต้คือหนังแอ็คชั่นมันๆ เว่อร์ๆ (คงคล้ายๆ นานาชาติจำว่าหนังไทยคือหนังผี ทั้งที่จริงๆ อุตสาหกรรมภาพยนตร์ไทยก็มีหนังหลากหลาย แต่ที่โกอินเตอร์รุ่งๆ เป็นหนังผีเกือบหมด)
อีกเรื่องที่ต้องเน้นก็คือว่า อุตสาหกรรมภาพยนตร์อินเดียใต้ผลิตหนังแอ็คชั่นมาแบบถูกจริตคนอินเดียที่สุดจริงๆ เพราะหนังแอ็คชั่นดังๆ จากอินเดียใต้เกือบหมด ทำรายได้มากกว่า Avengers: Endgame ซะอีก และจริงๆ นี่ก็เป็นหนังฮอลลีวูดเพียงเรื่องเดียวที่ติด Top 20 ของหนังที่ทำเงินสูงสุดในอินเดีย
และพอหนังดังๆ จากอินเดียใต้เป็นหนังแอ็คชั่นทุนสูงอลังการงานสร้าง มันก็เลยเป็นการ ‘ป้องกัน’ การรีเมคใหม่เป็นหนังภาษาฮินดีไป เพราะในอดีต ถ้าพวกหนังอินเดียใต้ดังมากๆ ทาง Bollywood ก็จะรีเมคแล้วใช้ดาราดังๆ ของหนังภาษาฮินดีมาเล่น และโกยเงินมากกว่า เพราะตลาดใหญ่กว่า แต่พอเป็นหนังแอ็คชั่น การทำแบบนั้นมันไม่คุ้ม การรีเมคใช้เงินเยอะไป สุดท้ายก็เลยใช้ระบบพากย์เสียงเอา และนี่ก็เป็นปัจจัยสำคัญว่าทำไมหนังจากอินเดียใต้ที่ดังระดับชาติ มันเป็นหนังแอ็คชั่นเกือบหมด
เหตุผลง่ายๆ เลยคือถ้าเป็นหนังดราม่าที่ดังๆ มันจะไม่ถูกพากย์เป็นภาษาฮินดีแล้วฉายทางตอนเหนือ แต่ Bollywood จะทำการรีเมคเป็นภาษาฮินดี ด้วยดาราอีกชุดหนึ่งที่ดังกว่าในโลกภาพยนตร์ภาษาฮินดี โดยตรงนี้เราจะเห็นเลยว่าอุตสาหกรรมภาพยนตร์ในอินเดียแต่ละภาษา ก็จะมีดาราเฉพาะของเขา ซึ่งหนังแต่ละภาษาก็จะมีตัวชูโรงทั้งชายและหญิง (คงคล้ายๆ ที่บ้านเรามี ดาราช่อง 3 ดาราช่อง 7 ดาราช่อง One อะไรอย่างนี้)
และนี่อาจเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้ ‘หนังอินเดียใต้’ เริ่มดังในวงกว้าง คือถ้าคนอินเดียเริ่มเบื่อ Bollywood แล้ว การไปดูหนังอินเดียใต้นี่คือแทบจะเหมือนดูหนังจากอีกประเทศ เพราะดาราเป็นคนละชุดกันหมด เรียกได้ว่าแก้เบื่อแก้เลี่ยนได้เป็นอย่างดี
แต่ที่เหนือกว่านั้น หนังอินเดียใต้นั้นโด่งดังในพล็อตที่เรียบง่าย ตัวละครมีความขาว–ดำชัดเจน และเล่นกับประเด็นที่เป็นสากลระดับคนอินเดียที่ไม่จำเป็นต้องเป็นคนใต้ก็ดูแล้ว ‘อิน’ ได้ไม่ยาก
ถ้าอยากรู้ว่าหนังแอ็คชั่นอินเดียใต้เป็นยังไง ลองเปิด RRR ที่เพิ่งเข้า Netflix เมื่อกลางเดือนพฤษภาคม 2022 ดูก็ได้ น่าจะเป็นอะไรที่คอหนังแอ็คชั่นดูแล้วไม่ผิดหวัง แค่ฉากเปิดของพระเอกสองคนที่คนหนึ่งปราบม็อบทั้งม็อบด้วยตัวคนเดียว กับอีกคนปราบเสือด้วยมือเปล่า ก็น่าจะได้ใจคอหนังแอ็คชั่นไปเต็มๆ แล้ว
และถ้าจะเชื่อมโยงให้คนไทยคุ้นหน่อย อาเลีย บาตต์ (Alia Bhatt) ผู้รับบท ‘คังคุไบ’ ผู้สั่นสะเทือนโลกโซเชียลไทยก็เล่นใน RRR ด้วย ซึ่งความต่างคือ ‘คังคุไบ’ แทบไม่ทำเงินในอินเดียเลย เรียกได้ว่ารอดเจ๊งมาฉิวเฉียด (แม้นักวิจารณ์จะชอบ) แต่ RRR ทำให้เธอกลายเป็น ‘นางเอกหมื่นล้าน’ ไปโดยสมบูรณ์ เพราะหนังทำเงินไปเกินกว่า 10,000 ล้านรูปี และขึ้นทำเนียบ Top 5 หนังทำเงินสูงสุดตลอดกาลของอินเดียไปชิลล์ๆ
อ้างอิง
- Gulfnews. Why South Indian films are sweeping Bollywood? https://bit.ly/3z4IEu0
- SundayGuardian. Indian cinema and the North-South divide. https://bit.ly/3GtS9on
- Wikipedia. List of highest-grossing Indian films. https://bit.ly/3wWIwtV
- Wikipedia. List of highest-grossing films in India. https://bit.ly/38V4K7D