ถ้าไม่บังคับเกณฑ์ทหาร ก็คงไม่มี ‘ทหารหนีทัพ’ ครบรอบ 1 ปี D.P. ซีรีส์ตีแผ่กองทัพเกาหลี
ถึงแม้ซีรีส์ว่าด้วย ‘หน่วยล่าทหารหนีทัพ’ ของเกาหลีใต้จะออกฉายครบ 1 ปีในปลายเดือนสิงหาคม 2022 แต่ถือว่ากระแสยังแรง เพราะมีการประกาศสร้างซีซั่น 2 ไปแล้ว แถมซีรีส์และนักแสดงยังกวาดรางวัลไปหลายสาขา ทั้งซีรีส์ยอดเยี่ยมแห่งปี นักแสดงชายหน้าใหม่ และนักแสดงสมทบชายยอดเยี่ยมแห่งปี จากเวทีประกาศรางวัล Baeksang Art Awards และ Blue Dragon Series Awards รวมถึงถูกเสนอชื่อเข้าชิงหลายสาขาในการประกาศรางวัล APAN 2022 ที่จะจัดขึ้นปลายเดือนกันยายน
หลายคนคงนึกออกว่าซีรีส์ที่พูดถึง คือ D.P. ที่มีชื่อย่อมาจาก Deserter Pursuit ซึ่งเป็นหน่วยงานที่มีอยู่จริงๆ ในกองทัพเกาหลีใต้ และคนในหน่วยก็มีหน้าที่ ‘ตามล่า’ ทหารหนีทัพเพราะกฎหมายเกาหลีใต้ระบุชัดเจนว่าพลเมืองชายเกาหลีทุกคนที่มีร่างกายแข็งแรงจะต้องเกณฑ์ทหารเพื่อรับใช้ชาติส่วนใครหนีการปฏิบัติหน้าที่ในฐานะทหารถือว่ามีความผิดที่ต้องโดนลงโทษ
สิ่งที่ D.P. ได้รับเสียงชื่นชมจากคนดูและนักวิจารณ์ เป็นเพราะเนื้อหาของมันตีแผ่ปัญหาเรื้อรังที่อยู่คู่กับกองทัพเกาหลีใต้มาเนิ่นนานแล้ว ซึ่งก็คือการใช้ความรุนแรง การละเมิดสิทธิพลทหาร ความเหลื่อมล้ำที่ชายหนุ่มจากครอบครัวร่ำรวยมีช่องทาง ‘หลบหลีก’ การเกณฑ์ทหารได้หรือไม่ก็มีโอกาสทำงานสบายๆในค่ายทหารได้ง่ายดายกว่าชายหนุ่มที่มาจากครอบครัวยากจนหรือฐานะปานกลาง
และถึงที่สุดแล้วก็นำไปสู่การตั้งคำถามว่ายังจำเป็นต้อง ‘บังคับเกณฑ์ทหาร’ อยู่อีกไหม
อาจมีคนสงสัยเช่นกันว่า ชีวิตในค่ายทหารเกาหลีใต้ (หรือชีวิตทหารเกณฑ์) มันโหดร้ายและเถื่อนขนาดที่เห็นจาก D.P. จริงๆ ไหม แต่ถ้าใครตามข่าวคราวและเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นจริงในกองทัพเกาหลีใต้ช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา ก็คงบอกได้ว่าสิ่งที่เห็นในซีรีส์อาจจะ ‘ไม่เกินเลยจากความเป็นจริง’ สักเท่าไหร่
เพราะในสิบกว่าปีที่ผ่านมาเคยมีทั้งเหตุการณ์ที่พลทหารฆ่าตัวตายเพราะถูกทหารที่ยศสูงกว่ากลั่นแกล้ง ซึ่งเหตุผลก็มีตั้งแต่การ ‘รับน้อง’ ตามปกติ ไปจนถึง ‘เหยียดเพศ’ เพราะคาดเดาได้ว่าผู้ที่เป็นทหารเกณฑ์เป็นผู้มีความหลากหลายทางเพศ รวมถึงทหารเสียชีวิตเพราะถูกซ้อมจนตาย และมีพลทหารที่ทนไม่ไหวและลงมือ ‘สังหาร’ เพื่อนร่วมค่ายจนตายตกไปตามกันจริงๆ
ด้วยเหตุผลเหล่านี้ ทำให้ประโยคที่พลทหารอันจุนโฮ (รับบทโดย ‘จอง แฮอิน’ Jung Hae-in) ตั้งคำถามกันตั้งแต่ตอนแรกของซีรีส์ D.P. เป็นสิ่งเดียวกับที่หลายคนมองเห็น ซึ่งก็คือข้อเท็จจริงว่า ถ้าไม่ได้บังคับให้คนต้องมาเกณฑ์ทหารกันตั้งแต่แรก ก็คงไม่มีทหารที่คิดจะหนีทัพใช่หรือไม่?
หลังจากซีรีส์ D.P. ออกฉายได้ไม่นาน กระทรวงกลาโหมเกาหลีใต้ก็ประกาศว่าจะยุบหน่วยล่าทหารหนีทัพทิ้งไปจริงๆ เพียงแต่เจ้าหน้าที่ระดับสูงระบุว่าไม่เกี่ยวอะไรกับซีรีส์เรื่องนี้มากนัก เพราะทางกองทัพก็ได้พยายามปฏิรูปองค์กรอยู่เรื่อยๆ จนมีทหารหนีทัพน้อยลงตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การถกเถียงเรื่องเกณฑ์ทหารในเกาหลีใต้กลับดุเดือดขึ้นเมื่อไม่นานมานี้ โดยมีชนวนเหตุที่สำคัญ คือ สมาชิกบางคนของวงบอยแบนด์เกาหลีที่โด่งดังระดับโลกอย่าง BTS กำลังจะหมดวาระที่จะขอผ่อนผันการเกณฑ์ทหารแล้ว แม้ว่าก่อนหน้านี้ในปี 2020 รัฐบาลเกาหลีใต้จะเพิ่งผ่านกฎหมายฉบับแก้ไขเพื่อผ่อนผันการเกณฑ์ทหารให้แก่พลเมืองชายในวงการศิลปินและกีฬา ทำให้สื่อเรียกกฎหมายนี้สั้นๆ ว่า BTS Law
รัฐบาลเกาหลีใต้ยอมผ่อนผันให้คนกลุ่มนี้เป็นการเฉพาะ โดยให้เหตุผลว่าพวกเขา ‘ปฏิบัติหน้าที่ส่งเสริมวัฒนธรรมและศักดิ์ศรีของประเทศ’ อยู่แล้ว ยิ่งถ้าเทียบกับรายได้จากการท่องเที่ยวและการส่งออกสินค้าวัฒนธรรมที่เกี่ยวข้องกับ BTS (และศิลปินไอดอลชายคนอื่นๆ) ก็เรียกว่าเป็นกอบเป็นกำต่อเศรษฐกิจประเทศจริงๆ โดย Nikkei Asia ประเมินว่า BTS จะสร้างรายได้ให้ประเทศราวๆ 56 ล้านล้านวอน หรือประมาณ 1.52 ล้านล้านบาท ช่วงปี 2014-2023
เมื่อเทียบกับผู้ชายเกาหลีใต้ทั่วไปที่จะต้องเข้ารับการเกณฑ์ทหารภายในช่วงอายุ 18-28 ปี แม้จะผ่อนผันได้ก็ไม่นานเท่าสมาชิกวง BTS ที่ขยายเวลาต่อไปได้จนถึงอายุ 30 ปี หรือถ้าเข้าเกณฑ์ทหารจริงๆ ก็ยังมีสิทธิ์ได้รับการผ่อนผันให้รับงานแสดงต่างๆ ได้โดยขึ้นอยู่กับการพิจารณาของหน่วยงานต้นสังกัด
ทั้งหมดที่ว่ามาก็ไม่ใช่เรื่องน่าแปลกใจ ถ้าพลเมืองชายเกาหลีทั่วไปซึ่งเป็นคนวัยเรียน วัยทำงาน หรือไม่ก็เพิ่งเริ่มต้นชีวิตครอบครัวในช่วงอายุ 18-28 ปี จะรู้สึกว่านี่คือความไม่เป็นธรรมซึ่งถูกรับรองด้วยกฎหมาย เพราะผู้ชายจำนวนมากไม่มีโอกาสเลื่อนการเกณฑ์ทหารได้นานเท่ากับสมาชิกวง BTS และคนที่เกณฑ์ทหารโดยทั่วไปจะต้องปฏิบัติหน้าที่ตั้งแต่ 18-24 เดือน
ความมีอภิสิทธิ์ของคนบางกลุ่มที่เป็นลูกหลานคนมีฐานะและมีอำนาจ รวมถึงความเหลื่อมล้ำในการส่งตัวพลทหารไปประจำหน่วยต่างๆ ที่ปรากฏอยู่ใน D.P. จึงเป็นเรื่องที่คนดูพูดถึงกันไม่น้อย และเรื่องราวในซีรีส์ก็สะท้อนว่า แรงกดดันเหล่านี้แหละที่มีผลให้ทหารหลายคนตัดสินใจ ‘หนีทัพ’ พอๆ กับที่ความไม่พอใจพุ่งเป้าไปยังวัฒนธรรมความรุนแรงต่างๆ และการปกปิดปัญหาซึ่งมาจากการล่วงละเมิดสิทธิมนุษยชนขั้นหนักหนาสาหัสในกองทัพเกาหลีใต้
ด้วยเหตุนี้ประชาชนเกาหลีใต้จำนวนมากไม่ใช่แค่ผู้ชายที่ต้องเกณฑ์ทหารเท่านั้นรวมถึงองค์กรด้านสิทธิมนุษยชนต่างๆจึงพยายามเรียกร้องให้ยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารไปแต่ให้ใช้วิธีสมัครเข้าเป็นทหารด้วยตัวเองเพื่อให้คนที่ไม่สะดวกเกณฑ์ทหารจะได้ไม่ต้องสูญเสียโอกาสอื่นๆในชีวิตไปและไม่ควรจะผ่อนผันให้เฉพาะเหล่าคนดังที่มีอำนาจต่อรองทางเศรษฐกิจเพียงกลุ่มเดียว
แต่พอมีการหยิบประเด็นนี้ขึ้นมา ก็จะมีกลุ่มชาตินิยมคัดค้านแบบหัวชนฝา เพราะจำนวนกำลังพลสำรองในเกาหลีใต้ลดลงในช่วงหลายปีที่ผ่านมา ขณะที่สถานการณ์ตึงเครียดด้านความมั่นคงก็ยังไม่คลี่คลาย ทั้งจากภาวะสงครามระหว่างเกาหลีเหนือและเกาหลีใต้ที่ยังต่อเนื่องมาจนถึงปัจจุบัน เพราะไม่เคยมีการลงนามสงบศึกอย่างเป็นทางการ ทั้งยังมีภัยคุกคามในคาบสมุทรเกาหลีและกรณีพิพาทแย่งชิงสิทธิเหนือเกาะในน่านน้ำเชื่อมต่อระหว่างเกาหลีใต้–ญี่ปุ่น รวมถึงกรณีพิพาทเกาหลีใต้–จีน จึงเป็นเหตุผลใหญ่ที่กองทัพหยิบยกมาตอกย้ำว่า ไม่สามารถยกเลิกการบังคับเกณฑ์ทหารได้นั่นเอง
อ้างอิง
- War on the Rocks. SOUTH KOREA NEEDS A WAKE-UP CALL ON ITS RESERVIST CRISIS. https://bit.ly/3KwpRvw
- Nikkei Asia. Buzz cuts for BTS? Military service debate builds in South Korea. https://s.nikkei.com/3ctfJHm
- YNA. Military to abolish ‘deserters pursuit’ position next year. https://bit.ly/3CAO55K
- Reuters. Popular Netflix series sparks new debate over S.Korea’s military conscription. https://reut.rs/3R0AYPu