ยุโรปร้อนจัด ไฟป่าโหมกระหน่ำ สายน้ำแห้งเหือด นี่คือสัญญาณอันตรายจากวิกฤตโลกรวน

3 Min
556 Views
27 Jul 2022

หากจะกล่าวว่าทศวรรษที่ผ่านมาเป็นยุคสมัยที่อากาศร้อนที่สุด ก็คงไม่ใช่เรื่องเกินจริงแต่อย่างใด เพราะมีทั้งสิ่งที่สัมผัสได้และข้อมูลเชิงสถิติยืนยันอย่างชัดเจน

มาในปีนี้ ก็ดูเหมือนจะไม่ต่างจากปีที่แล้วสักเท่าไหร่ (ปี ค.. 2021 อากาศรอบโลกร้อนเป็นอันดับ 5 เท่าที่มีการบันทึกมา) มีเหตุการณ์เชิงประจักษ์ปรากฏให้เห็น ไล่มาตั้งแต่การเกิดคลื่นความร้อนในช่วงต้นปีบริเวณจะงอยแอฟริกา ถัดมาก็เป็นแถบเอเชียกลาง และตอนนี้เป็นประเทศโซนยุโรป

โดยเฉพาะฟากของยุโรปที่ปีนี้นับว่าเลวร้ายกว่าปีไหนๆ คลื่นความร้อนทำให้อากาศร้อนจัดทุบสถิติเดิมๆ ทำแผ่นดินแล้งจนเกิดไฟป่าขนาดใหญ่ อีกทั้งยังทำแม่น้ำสายหลักๆ แห้งเหือดอย่างไม่เคยเป็นมาก่อน

และเรื่องชวนเศร้าที่สุด เวลานี้มีผู้เสียชีวิตเพราะสภาพอากาศไปแล้วนับพันราย

สถานการณ์สภาพอากาศในยุโรปเป็นอย่างไร นี่คือภาพรวมที่เกิดขึ้นในรอบสัปดาห์ที่ผ่านมา

คลื่นความร้อนปกคลุมยุโรป

คลื่นความร้อนได้เริ่มเข้ามาปกคลุมประเทศต่างๆ ในทวีปยุโรปตั้งแต่ประมาณวันที่ 7 กรกฎาคม 2022 ก่อนจะทวีความรุนแรงขึ้นในช่วงวันที่ 10 กรกฎาคม โดยเหตุการณ์เกิดขึ้นทางตอนใต้ของทวีปก่อน และเริ่มขยายตัวไปยังทางภาคเหนือของทวีป

พื้นที่ที่เผชิญคลื่นความร้อนรุนแรงชนิดนี้ที่อุณหภูมิพุ่งสูงเกิน 40 องศาเซลเซียส ประกอบไปด้วย โปรตุเกส สเปน อิตาลี กรีซ ฝรั่งเศส และสหราชอาณาจักร 

โดยเฉพาะโปรตุเกสที่อุณหภูมิสูงสุดวัดได้ 47 องศาเซลเซียส ขณะที่สเปนอยู่ที่ 45 องศาเซลเซียส ทำให้ทั้งสองประเทศนี้มีผู้เสียชีวิตเพราะโรคลมแดดรวมกันไม่ต่ำกว่าพันราย (ส่วนใหญ่เป็นผู้สูงอายุ และคนที่มีโรคประจำตัว) 

ขณะที่สหราชอาณาจักร อิตาลี และฝรั่งเศส อุณหภูมิสูงสุดตอนนี้วัดได้อยู่ที่ 41-44 องศาเซลเซียส แม้จะไม่สูงเท่าโปรตุเกสและสเปน แต่ก็ถือว่าร้อนไม่น้อยไปกว่ากัน โดยอุณหภูมิเฉลี่ยสูงสุดที่เคยวัดได้อยู่ที่ 38 องศาเซลเซียส ในปี ค.. 2019 ซึ่งเป็นปีที่อากาศรอบโลกร้อนที่สุด

นอกจากอุณหภูมิจะเพิ่มสูงมากเป็นประวัติการณ์แล้ว เรื่องที่น่ากังวลอีกอย่างคือการพยากรณ์อากาศในปีนี้ คาดว่าช่วงเวลาที่คลื่นความร้อนปกคลุมประเทศต่างๆ จะกินเวลายาวนานกว่าปกติ จากเดิมที่เคยเจอะเจอกันไม่ถึงสัปดาห์ แต่ปีนี้อาจยาวนานไม่ต่ำกว่าครึ่งเดือน

และอุณหภูมิในบางประเทศยังมีแนวโน้มจะเพิ่มมากกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งรัฐบาลหลายประเทศที่อ้างถึงได้ออกคำเตือนภาวะฉุกเฉิน ให้ประชาชนหลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมกลางแจ้งอย่างน้อยที่สุดจนกว่าจะผ่านพ้นเดือนกรกฎาคม 

ไฟป่าลุกลามอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน

เมื่อเกิดคลื่นความร้อนปกคลุมเป็นเวลานาน สิ่งที่ตามมาอย่างเลี่ยงได้ยาก คือ สภาพความแห้งแล้งและการเกิดไฟป่า โดยพื้นที่ที่กำลังได้รับผลกระทบอย่างหนักคือ โปรตุเกส สเปน อิตาลี กรีซ ฝรั่งเศส โมร็อคโค และสหราชอาณาจักร 

สถานการณ์ไฟป่าที่ลุกลามในช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา ทำให้แต่ละประเทศมีผู้อพยพไม่ต่ำกว่าหลักหมื่นราย แน่นอนว่าโปรตุเกสและสเปนที่ร้อนมากกว่าประเทศใดๆ ได้รับผลกระทบหนักที่สุด 

ตอนนี้ยังไม่สามารถสรุปรายงานความเสียหายที่แน่ชัดได้ แต่สิ่งหนึ่งที่จะเกิดต่อเนื่องตามมา คืออุณหภูมิที่จะร้อนต่อไปอีกระยะหนึ่ง จากความอบอ้าวของไฟป่าที่ทำให้ความชื้นของแผ่นดินหดหาย

ความแห้งแล้งที่เกิดจากคลื่นความร้อน นอกจากก่อให้เกิดไฟป่าขนาดมหึมาแล้ว ยังทำให้แม่น้ำหลายสายแห้งเหือดอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน 

ปีนี้ประเทศอิตาลีได้รับผลกระทบหนักสุด เนื่องจากแม่น้ำโป ซึ่งเป็นแม่น้ำสายหลักของประเทศแห้งสนิทชนิดไร้น้ำสักหยดในบางบริเวณ ซึ่งจะกระทบต่อคนทำอาชีพเกษตรกรรม ตลอดจนการใช้น้ำอุปโภคบริโภคของผู้คนริมลำน้ำในช่วงปลายปีอย่างแน่นอน

คลื่นความร้อนเกิดจากอะไร

การเกิดคลื่นความร้อนนั้นมีที่มาจากหลายสาเหตุ สำหรับสิ่งที่เกิดขึ้นในยุโรปยังไม่อาจฟันธงได้ 100 เปอร์เซ็นต์ ว่ามาจากสาเหตุไหน 

ส่วนหนึ่งคาดว่า เพราะความกดอากาศนอกชายฝั่งโปรตุเกส ดึงเอามวลอากาศร้อนจากแอฟริกาเหนือเข้าสู่ยุโรป

อีกสาเหตุหนึ่งอาจเป็นไปได้ว่า อุณหภูมิในภูมิภาคอาร์กติกที่กำลังร้อนขึ้นเรื่อยๆ ส่งผลให้ความแตกต่างของอุณหภูมิบริเวณขั้วโลกเหนือและเส้นศูนย์สูตรลดลง ลมในช่วงฤดูร้อนของยุโรปจึงอ่อนกำลัง ทำให้การไหลเวียนอากาศเกิดแรงเฉื่อย เมื่อเกิดคลื่นความร้อนจึงอยู่นานและร้อนมาก

และเรื่องที่ปฏิเสธไม่ได้คือ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ทำให้อากาศแปรปรวนได้ง่าย เมื่อร้อนก็จะร้อนสุดขั้ว และกินเวลายาวนานกว่าปกติ 

โดยพื้นฐานเมื่อเกิดคลื่นความร้อน ความชื้นในแผ่นดินจะทำหน้าที่บรรเทาความร้อน แต่เมื่อเกิดคลื่นความร้อนถี่ๆ และกินเวลานาน ความชื้นในดินถูกเผาผลาญจนหมดแล้ว แสงแดดที่ส่องลงมาก็ยิ่งอบพื้นดินให้แห้งเกรียมจนเป็นเหตุให้เกิดไฟป่าได้ง่าย

เหล่านี้คือความเป็นไปของโลกในปัจจุบัน เมื่ออุณหภูมิทั้งโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้น 1.1 องศาเซลเซียส และเป็นสภาพที่พร้อมจะเกิดซ้ำซากได้ทุกๆ ปี 

หนทางเดียวที่จะหยุดวิกฤตนี้ได้ คือรัฐบาลทุกประเทศต้องรีบเร่งผลักดันเป้าหมาย Net Zero ให้สำเร็จโดยไวที่สุด

หมายเหตุ: ตัวเลขอุณหภูมิมาจากจุดที่ร้อนที่สุดของแต่ละประเทศ ซึ่งในบางประเทศอาจเกิดขึ้นเฉพาะพื้นที่หรือบางจังหวัด ไม่ใช่อุณหภูมิเฉลี่ยทั้งประเทศ

อ้างอิง