เมื่อคนทำหนังขอลดบทบาทเป็น ‘ผู้ฟัง’ เพราะบางเรื่องที่ไม่ได้ถาม อาจมีคน ‘อยากเล่า’
“เราเชื่อว่าคนเวลาเป็นทุกข์ มันพร้อมที่จะพูดอะไรบางอย่างกับใครบางคนเสมอ แค่เราพร้อมที่จะฟังเขาจริงๆ หรือเปล่า”
วรรจธนภูมิ ลายสุวรรณชัย หรือ ‘เบสท์’ ผู้กำกับภาพยนตร์และนักออกแบบประสบการณ์ (Experience Designer) บอกกับ BrandThink Cinema โดยพูดถึงผลงานช่วงแรกๆ ก่อนที่เขาจะกลายเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น จากผลงานสารคดี School Town King (แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน) ซึ่งกำลังจะฉายทาง Netflix ในวันที่ 26 พฤศจิกายนนี้
ผลงานหนึ่งที่เกิดจากการ ‘รับฟัง’ ผู้คน คือ My Echo, My Shadow, and Me หนังสารคดีปี 2562 ของเขาที่เป็นการต่อยอดจากโครงการศิลปะ ซึ่งเขาและเพื่อนๆ ได้เข้าไปทำกิจกรรมร่วมกับเด็กๆ ในชุมชนคลองเตย ภายใต้โปรเจกต์ชื่อว่า ‘คอนเน็กซ์ คลองเตย’ (Connext Klongtoey Project) โดยมีการเปิดชั้นเรียนวิชาศิลปะ 4 แขนง คือ ถ่ายภาพ, แฟชั่น, แร็ป และสักลาย
“มันเป็นโปรเจกต์ที่เข้าไปดูว่าความเหลื่อมล้ำและการศึกษามันมีผลยังไงกับเด็กในชุมชน”
“ทั้ง 4 คลาสนี้เป็นการเอาเครื่องมือของศิลปะไปให้น้องๆ คือน้องเขารีเควสต์มาแหละ ไม่ใช่เราเอาไปให้เขาหรอก เขาอยากเรียน 4 คลาสนี้ เราก็เอาวิทยากร คือ เพื่อนๆ เราที่เรารู้จักในวงการไปสอนเขา ให้เขาเล่าเรื่องของตัวเองผ่านเครื่องมือของสี่สายนี้”
ถ้าจะบอกว่า My Echo, My Shadow, and Me เป็นต้นเรื่องของ School Town King (แร็ปทะลุฝ้า ราชาไม่หยุดฝัน) ก็คงไม่ผิดความจริงนัก เพราะเด็กๆ หลายคนที่ทำกิจกรรมร่วมกันใน Connext Klongtoey มีเรื่องราวเกี่ยวโยงกับภาพยนตร์ทั้งสองเรื่อง และเขาอยากถ่ายทอดให้คนอื่นๆ ในสังคมได้รับรู้ และได้เห็นภาพชีวิตในชุมชนคลองเตยอย่างใกล้เคียงความเป็นจริงมากที่สุด
“My Echo เป็นหนังที่ต่อยอดจากคลาสถ่ายภาพ (Photo) ซึ่งมันก็เป็นภาพยนตร์ที่พูดถึงเด็กในคลาสแหละ ที่เอากล้องไปถ่ายชีวิตประจำวันตัวเอง แล้วแต่ละคนก็มีเรื่องส่วนตัวที่ไม่เหมือนกัน”
“ความน่าสนใจของมันคือการที่เราได้เห็นว่าเขาเห็นอะไร เขาสนใจอะไร เพราะหนังเรื่องนี้ เอาจริงๆ เราแทบไม่ได้เรียกด้วยซ้ำว่าเราเป็นผู้กำกับ เราแค่เป็นคนโมเดอร์เรตเฉยๆ ให้กิจกรรมมันเกิดขึ้น แล้วคนที่กำกับจริงๆ คือเขาเอง เพราะภาพก็มาจากเขา เรื่องก็มาจากเขา นี่แหละที่เราอยากจะทำหนังที่ลดบทบาทของเราให้มากที่สุด และอยากจะฟังและอยากเข้าใจว่าเขามองอะไรอยู่วะ สิ่งที่เขามอง เขาคิดอะไรกับมัน”
แม้ในความคิดของคนนอกชุมชนจะมองว่า ‘คลองเตย’ คือ ‘สลัม’ ที่เต็มไปด้วยผู้คนอันตราย แต่ถ้าได้เห็นภาพถ่ายจากสายตาของเด็กๆ ใน My Echo, My Shadow, and Me ก็อาจทำให้หลายคนฉุกคิดขึ้นมาได้ว่า ครั้งหนึ่งทุกคนเคยมีความหวัง ความฝัน ความเปราะบาง และความไม่แน่ใจในช่วงชีวิตไม่ต่างอะไรกับเด็กๆ เหล่านี้ ซึ่งเด็กหลายคนต้องต่อสู้กับหลายเรื่องที่แม้แต่คนในวัยผู้ใหญ่ก็อาจจะท้อได้ง่ายๆ เช่นกัน โดยเฉพาะการต่อสู้กับสายตาของคนในสังคมภายนอกที่จ้องมองพวกเขาอย่างหวาดระแวง
เด็กในชุมชนคลองเตยหลายคนอยู่ในครอบครัวที่พ่อแม่หย่าร้าง ทั้งยังมีข้อจำกัดเรื่องอาชีพและรายได้ของผู้ปกครอง จนเด็กบางคนต้องล้มเลิกความฝันเรื่องการศึกษา เพราะต้องไปทำงานหาเลี้ยงชีพ
การได้รับรู้เรื่องราวที่อยู่เบื้องหลังภาพถ่ายธรรมดาสามัญของพวกเขา อ่านเปลี่ยนความคิดและกระเทาะมายาคติในใจบางคนได้บ้าง
หนึ่งในเด็กวัยรุ่นที่บอกเล่าเรื่องราวของเธอใน My Echo, My Shadow, and Me พูดถึงภาพถ่าย ‘เพื่อน’ ซึ่งถูกสายตาผู้ใหญ่รอบตัวตัดสินไปแล้วว่าเป็นเด็กเกเร แต่สำหรับเธอ เพื่อนคือคนที่มีน้ำใจ และเป็นต้นทางของเสียงหัวเราะในแต่ละวัน
เบสท์บอกว่าเด็กที่เข้าชั้นเรียนถ่ายภาพแต่ละคนจะได้รับสมุดไดอารี่ให้จดบันทึกด้วยเช่นกัน ซึ่งเขาได้รับอนุญาตให้เข้าถึงทั้งภาพถ่ายและเรื่องราวที่เด็กแต่ละคนระบายความในใจลงในสมุดเหล่านั้น
ภาพถ่ายใบหนึ่งเห็นเงาสะท้อนของท้องฟ้าใกล้กับแอ่งน้ำฝน และคนถ่ายภาพให้เหตุผลว่า รูปนี้สื่อได้หลายความหมาย แต่ตอนที่เห็นและถ่ายภาพนี้คือความรู้สึกว่า “จุดๆ นั้นเราอยู่แค่คนเดียว…เราเข้าไปอยู่คนเดียว แล้วเป็นโลกของเราคนเดียว” พร้อมย้ำด้วยว่า “ดวงตาสวยๆ ไม่ได้อยู่แค่บนใบหน้า”
ภาพชุมชนคลองเตยที่เต็มไปด้วยหลังคาบ้านเรือนขนาดเล็กเกยกันหนาแน่นคือ ‘สลัม’ ในสายตาของคนนอก แต่เป็น ‘บ้าน’ ของเด็กหลายคนที่ปรากฏภาพและเสียงใน My Shadow, My Echo, and Me
เบสท์เล่าว่า ผู้คนจากคลองเตยกระจายไปทำงานในหลายๆ บทบาท โดยเฉพาะย่านธุรกิจกลางกรุงเทพมหานคร
ใครหลายคนอาจเคยพูดคุยและมีปฏิสัมพันธ์กับคนในชุมชนคลองเตยโดยที่ไม่รู้ตัว พวกเขาอาจจะเป็นวินมอเตอร์ไซค์ที่คุณเคยขึ้น พนักงานขายของในห้างละแวกใกล้เคียง แม่บ้านผู้คอยทำความสะอาดให้ออฟฟิศต่างๆ รวมถึงเจ้าของร้านรวงบนถนนแถวนั้น ซึ่งเบสท์มองว่า “ทั้งหมดเป็นผู้คนที่ทำให้เมืองมันเดินได้ แล้วทำไมเขาถึงมีชีวิตที่ยากลำบากกว่าเรา? ฝันได้แต่ไปถึงยากกว่าเรา?”
“พวกเขาล้วนเชื่อมโยงกับเราแต่ทำไมถึงกลับถูกทิ้งไว้ข้างหลังของการพัฒนา มิหนำซ้ำคนทั่วไปยังตีตราและกดทับความเป็นมุนษย์ของเขาอีก การที่เราได้ไปทำโครงการกับภาพยนตร์สารคดีในพื้นที่ มันเหมือนได้เป็นการเชื่อมต่อกับความคิดกับพวกเขาแล้วสื่อสารออกไปให้ผู้คนได้รับรู้”