“Femme Fatale” คนสวยที่อย่าหลงมาก เดี๋ยวถึงฆาตไม่รู้ตัว

3 Min
3288 Views
14 May 2021

Select Paragraph To Read

  • “Femme Fatale”
  • “รากเหง้า Femme Fatale”
  • “สวยสยองศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา”
  • “บทบาท Femme Fatale”

“สวัสดี เราแนนโน๊ะนะ”

“แนนโน๊ะ” ชื่อนี้อาจเป็นชื่อที่ทุกคนคุ้นหูกันในช่วงนี้ ด้วยความสวยและความแรง ทำให้เมื่อใดก็ตามที่ปรากฏตัว ไม่ว่าจะในปี 2018 หรือในปี 2021 นี้ เธอก็ฮอตจนติดเทรนด์ทวิตเตอร์ประจำ แนนโน๊ะมาพร้อมกับผมบ๊อบสั้นหน้าม้ากับรอยยิ้มมีเลศนัย และไม่ว่าเธอจะไปโรงเรียนไหน ก็สามารถเรียกให้ทุกสายตาเหลียวมองเธอได้ไม่ยาก

น่าเสียดาย ที่ผู้ชาย (หรือผู้หญิง) ที่เข้าไปเกี่ยวพันกับเธอ ล้วนแต่มีจุดจบที่ “ไม่น่าดู” เท่าไหร่

แนนโน๊ะเป็น “Girl From Nowhere” ซึ่งหลายความเห็นลงมติว่ามีความคล้ายคลึงกับ “โทมิเอะ” หนังสยองขวัญลายเส้นสุดสะพรึงจาก “Junji Ito” ซึ่งทั้งสองสตรีเป็นผู้หญิงที่ไม่มีที่มาที่ไปเหมือนกัน ไม่ตายง่ายๆ และเสน่ห์ล้นเหลือมีไว้ดั่งอาวุธสร้างความบรรลัยให้แก่ใครก็ตามที่ติดกับ

สองสุภาพสตรีร่วมสมัยนี้ ทำให้ Localry นึกย้อนไปถึงวลีเก่าอันหนึ่ง…

“Femme Fatale”

“แฟม-เฟอทาล” เป็นภาษาฝรั่งเศส แปลได้ว่า “ผู้หญิงก่อหายนะ หรือ ผู้หญิงที่ทำให้ถึงตายได้” คือวลีที่ไว้เรียกสตรีที่ใช้แรงดึงดูดทางเพศของเธอเพื่อดึงอำนาจจากผู้ชาย และมักส่งผลให้บุรุษเหล่านั้นถึงคราวหายนะ

วลีนี้เริ่มปรากฏให้เห็นช่วงกลางศตวรรษที่ 18 และปรากฏแพร่หลายในวรรณกรรมยุโรป แต่หากพูดถึงสตรีเพศที่มีเสน่ห์ยั่วยวนจนเข้าขั้นอันตรายแล้ว แนวความคิดนี้ถือว่าอยู่มาช้านานหลายพันปี ก่อนที่นักเขียนในยุโรปทั้งหลายจะเริ่มจะสะกดคำว่า femme fetale บนหน้ากระดาษเป็นเสียด้วยซ้ำ

“รากเหง้า Femme Fatale”

ชาวกรีกและโรมันมีตำนานเกี่ยวกับ “ไซเรน” เหล่าสตรีที่พยายามจะล่อลวงให้ “โอดิสซิอุส” โดดลงจากเรือ แล้วว่ายน้ำตามเสียงเพรียกหวานหูมาหาพวกนาง โชคดีที่โอดิสซิอุสสั่งให้ลูกเรือมัดตนเองไว้กับเสาเรืออย่างแน่นหนา และสั่งให้ลูกเรือทั้งหมดอุดหูด้วยขี้ผึ้ง จนพวกเขาไม่ได้ยินเสียงโหยหวนขอไปหาไซเรนของโอดิสซิอุส ไม่อย่างนั้น เขาคงได้พบจุดจบน่าสยองอย่างการถูกฉีกทึ้งเป็นชิ้นๆ

ในปกรณัมยิวมี “ลิลิธ” ผู้เป็นภรรยาคนแรกของอดัม แต่เธอโดนเฉดออกจากสวนอีเดนหลังร้องขอความเท่าเทียมเทียบเท่าอดัม แล้วกลายเป็นปีศาจผู้มีความกระหายทางเพศอย่างรุนแรง อีกทั้งยังกลายเป็นมารดาให้กำเนิดปีศาจทั้งหลาย

แน่นอนว่าจะขาด “แม่มด” ไปไม่ได้ แม่มดเป็นแนวคิดจากยุคกลางที่ว่า หากผู้หญิงคนใดมีแรงปรารถนาทางเพศอย่างจริงจัง แสดงว่าเธอคนนั้นถูกครอบครองโดยปีศาจ มีตำนานจำนวนมากเล่าว่า แม่มดเหล่านี้ได้สมสู่กับปีศาจ และร่วมเปลือยกายเริงระบำในพิธีวันสะบาโตของเหล่าแม่มด ซึ่งแน่นอนว่าต้องมีซาตานเป็นประธานพิธี

และยังมี Femme Fatale ที่นำเสนอในรูปแบบเรื่องสยองขวัญ “Carmilla” นวนิยายโกธิคปี 1872 ประพันธ์โดย Joseph Sheridan de Fanu เล่าถึงหญิงโบราณหน้าตางดงามผู้เป็นแวมไพร์ และชอบหลอกล่อขอเป็นเพื่อนกับมนุษย์สาววัยเยาว์ เพื่อล่อลวงพวกเธอมาดื่มเลือด Carmilla ยังมีสัมพันธ์ผู้หญิงที่เธออุปถัมภ์ ซึ่งเพิ่มมิติให้กับ Femme Fatale ในเรื่องของรสนิยมทางเพศ

“สวยสยองศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา”

Femme Fatale เวอร์ชัน “คลาสสิค” ที่ติดตาผู้ชมและสร้างภาพจำมาจนถึงปัจจุบัน มีรากฐานที่มาจากหนังฮอลลีวูดยุคเก่าราวๆ ยุค 1920-1940 ซึ่งในช่วงระยะเวลานั้น Femme Fatale ก็พัฒนาคาแรคเตอร์มาเรื่อยๆ อย่างในยุคหนังเงียบ Femme Fatale มักเป็นสาวชาวต่างชาติสุดเร้าใจที่ล่าผู้ชายอย่างเปิดเผย นักแสดงสาวในยุคนั้น “Theda Bara” ดาราสาวเจ้าของสายตาอันเฉียบคม เธอคือสาว “Vamp” คนแรกในประวัติศาสตร์ภาพยนตร์อเมริกัน

ส่วนในยุค 40’ s หนัง Film noir หรือหนังพล็อตแนวดราม่าสืบสวนเข้มข้น ก็เริ่มเข้ามา และบทของ Femme Fatale ก็กลายเป็นของผู้หญิงอเมริกันบ้าง สาวสวยเสน่ห์ลวงในยุคนี้ถือเป็นรากฐานของคาแรคเตอร์ Femme Fatale ในหนังฮอลลีวูดยุคถัดๆ มา จวบจนถึงปัจจุบัน ที่เจ้าหล่อนเคยปรากฏในรูปแบบของสาวผมบลอนด์มัดมวยสวมเดรสขาวตัวสั้น นั่งไขว่ห้างสลับไปมาอย่างน่าเสียวไส้ ในหนังเรื่อง “Basic Instinct” ปี 1992

ปัจจุบันนี้คำว่า Femme Fatale ยังถูกเอาไปใช้ในคดีอาชญากรรมต่างๆ อย่างในคดีอื้อฉาวสุดโด่งดังของ “Amanda Knox” หญิงอเมริกันที่เคยถูกกล่าวหาว่าใช้เสน่ห์ทางเพศของตัวเอง เพื่อชักจูงแฟนหนุ่มชาวอิตาลีให้ลงมือฆาตกรรมรูมเมทสาว เรื่องราวของเธอถูกเอาไปสร้างเป็นสารคดีในเน็ตฟลิกซ์ในปี 2016

“บทบาท Femme Fatale”

สรุปแล้ว แนนโน๊ะเป็น Femme Fatale ไหม? ก็อาจเป็นได้ เพราะเธอก็มีคุณสมบัติที่เข้าข่าย เช่น เสน่ห์ทางเพศที่สามารถดึงกิเลสในตัวคนจนจบลงด้วยหายนะ แต่เธอไม่ได้ขับเคลื่อนด้วยแรงปรารถนาทางเพศ หากแต่ต้องการสั่งสอน

“ชิชา อมาตยกุล” นักแสดงผู้เล่นเป็น “แนนโน๊ะ” ตีความว่าแนนโน๊ะคือลูกสาวซาตาน ซึ่งก็อาจถูก บางทีเธออาจเป็นลูกสาวของลิลิธที่ไม่เคยปรากฏในตำนานใดมาก่อนก็ได้ ส่วนทีมครีเอทีฟไดเรคเตอร์ที่ทำงานร่วมกับ SOUR Bangkok อย่างคุณ “เค้ก วรุณพร” ก็เซตคาแรคเตอร์ให้ผู้กำกับทุกคนให้เข้าใจตรงกันว่า แนนโน๊ะคือ “ลูกสาวของซาตานแห่งโลกมืดที่มายังโลกมนุษย์เพื่อเป็นตัวแทนของกรรมในชุดนักเรียน”

แนนโน๊ะเป็นเพียงคาแรคเตอร์หนึ่ง ที่จะเป็น Femme Fatale หรือไม่นั้นก็อยู่ที่การตีความของแต่ละบุคคล คุณจะตัดสินเธออย่างไรก็ได้ ซึ่งไม่เหมือนผู้หญิงในชีวิตจริง ที่เราไม่อาจตัดสินเธอได้ หากเราไม่ได้อยู่ในสถานะที่รู้จักเธอดีพอ

จึงขอให้ Femme Fatale เป็นเพียงรูปแบบคาแรคเตอร์หนึ่งเท่านั้น โปรดอย่าเอาไปใช้เรียกผู้หญิงคนไหนๆ ตามใจตน เพราะ Femme Fatale แม้จะเป็นคอนเซปต์ที่เซ็กซี่มากก็ตาม แต่มันก็ไม่ใช่คำชมเสียทีเดียว

อ้างอิง:

  • Bustle. The Sexy History Of The Femme Fatale, From Rebel Nuns To Lesbian Vampires> https://bit.ly/3eErUza
  • The 101 World. “หน้าที่ของแนนโน๊ะ คือยั่วยุความชั่วที่อยู่ในตัวของคน” – เปิดความคิดทีมเขียนบท ‘เด็กใหม่ The Series’ > https://bit.ly/3uKhJyD
  • A Day. เด็กใหม่: ซีรีส์ผู้หญิงโลกไม่สวย จากข่าวเฮงซวยในชีวิตจริง> https://bit.ly/3w0iqUN