‘เฟมินิสต์’ VS LGBT: 11 รัฐในอเมริกายกประเด็น ‘สิทธิสตรี’ แบนนักกีฬา ‘หญิงข้ามเพศ’
ในโลกปัจจุบันที่ขบวนการสิทธิสตรีแผ่ขยายอำนาจไปพร้อมกับจับมือขบวนการ LGBT เป็นพันธมิตรเข้มแข็งเพื่อสู้กับสังคม ‘ชายเป็นใหญ่’ อย่างไรก็ดี ในช่วงหลังๆ มันก็มี ‘รอยร้าว’ เกิดขึ้นในขบวนการมากขึ้น ตั้งแต่นักเขียนดังอย่าง เจ.เค. โรว์ลิง ประกาศตัวเองเป็นนักสิทธิสตรีที่ไม่สนับสนุนสตรีข้ามเพศ (เขามีคำเรียกเฉพาะกว่า TERF ซึ่งย่อมาจาก Trans-Exclusionary Radical Feminist) และสร้างข้อถกเถียงในหมู่แฟนๆ แฮร์รี่พอตเตอร์ทั่วโลก
ล่าสุด ประเด็น ‘ดราม่าร้อนแรง’ ในธีมนี้แห่งต้นปี 2022 ก็คงจะหนีไม่พ้นเคสที่นักว่ายน้ำหญิงข้ามเพศเหรียญทองอย่าง ลีอา โทมัส (Lia Thomas) นั้นถูก ‘แอนตี้’ เห็นๆ ในรายการชิงแชมป์ว่ายน้ำระดับมหาวิทยาลัยที่แข่งในนครแอตแลนตา รัฐจอร์เจีย สหรัฐอเมริกา ในวันที่ 17 มีนาคม 2022 ที่ผ่านมา
แน่นอน จริงๆ การโวยวายเรื่องนักกีฬาหญิงข้ามเพศมีมานานแล้ว แต่ในกรณีนี้มันพิเศษ เพราะหลายๆ คนคงสะดุดรูปๆ หนึ่งที่ที่รับรางวัล ที่โทมัส ยืนฝั่งหนึ่ง และผู้หญิงอีก 3 คนยืนอีกฝั่งหนึ่ง ซึ่ง ‘ผู้หญิงคนที่ 4’ ที่โผล่มาในรูปคือคนที่จะได้ที่ 3 ของการแข่งนี้ ถ้าโทมัสไม่ลงแข่ง
และรูปนี้คือรูปที่แสดง ‘ปัญหา’ และ ‘รอยร้าว’
ของขบวนการสิทธิสตรีและสิทธิ LGBT ในอเมริกาได้อย่างดี
บางคนอาจได้ยินข่าวแว่วๆ ว่าอเมริกาในบางรัฐ เขามีการแบนไม่ให้คนข้ามเพศแข่งกีฬาที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด ซึ่งความเป็นจริงคือรัฐไอดาโฮ เริ่มแบนเป็นรัฐแรกในปี 2020 นี้เอง และหลังจากนั้นรัฐอื่นๆ ก็แบนตามกันรัวๆ จนปัจจุบันมีถึง 11 รัฐในอเมริกาแล้วที่มีการออกกฎหมายแบนไม่ให้นักกีฬาข้ามเพศลงแข่งกีฬาที่ไม่ตรงกับเพศกำเนิด
ซึ่งแทนที่เราจะเล่าประวัติการแบนในแต่ละรัฐ เราก็อยากจะพูดในภาพรวมว่า สเต็ปการแบนมันจะคล้ายๆ กันหมด คือมีพวกนักกีฬา ‘หญิงแท้’ ที่แข่งแพ้นักกีฬา ‘หญิงข้ามเพศ’ ไปยื่นเรื่องฟ้องระดับรัฐ ซึ่งนักการเมืองฝังพรรครีพับลิกันที่เป็นพรรคฝั่งอนุรักษนิยมในอเมริกาปัจจุบันก็จะ ‘รับลูก’ ไปออกกฎหมายแบนนักกีฬาข้ามเพศต่อ จนเป็นกฎหมายระดับรัฐในที่สุด (เน้นว่า อเมริกาปกครองระบอบสหพันธรัฐนะครับ ทุกรัฐมีสิทธิ์ออกกฎหมายเองได้ ตราบที่ไม่ขัดกับรัฐธรรมนูญ) และความมันส์ก็คือ การแบนนี้ มันเป็นการแบนโดยอ้าง ‘สิทธิของผู้หญิง’ ในการได้แข่งขันกีฬาอย่างเป็นธรรมเสียด้วย
ในประเทศอย่างอเมริกาที่ทั้งประเทศเคยต้องถกเถียงกันมาแล้วว่าผู้หญิงข้ามเพศควรจะมีสิทธิ์เข้าห้องน้ำหญิงหรือไม่ ประเด็นพวกนี้ไม่แปลก แต่อีกด้าน การห้ามผู้หญิงข้ามเพศเข้าห้องน้ำหญิงในนาม ‘ความปลอดภัยของผู้หญิง’ บางทีมันก็ฟังดูไม่สมเหตุสมผลเท่าไร แต่พอมาเป็นเรื่องของการแบนผู้หญิงข้ามเพศในการแข่งกีฬากับผู้หญิงโดยอ้าง ‘สิทธิสตรี’ มันกลับ ‘จุดติด’ กว่า เพราะคนอเมริกันจำนวนมากก็เห็นชัยชนะอย่างต่อเนื่องในทางกีฬาของผู้หญิงข้ามเพศที่มีต่อผู้หญิงโดยกำเนิด
ก็อย่างที่บอก นี่เป็นเทรนด์ที่ขยายแบบ ‘ไฟลามทุ่ง’ เพราะรัฐฝั่งที่พรรครีพับลิกันครองก็ออกกฎหมายกันมารัวๆ และรัฐที่ฐานเสียงก้ำกึ่งก็เริ่มหวั่นไหว จนคนเริ่มกลัวว่าสุดท้ายมันอาจจะเหลือแค่แถวๆ ภูมิภาคนิวอิงแลนด์ (ทางตะวันออกเฉียงเหนือของอเมริกา ซึ่งรวมถึงนิวยอร์ก) กับแคลิฟอร์เนียเท่านั้นที่นักกีฬาหญิงข้ามเพศจะยังแข่งกีฬาได้ และคนก็เริ่มพยายามจะโวยศาลสูงสุดว่ากฎหมายพวกนี้ขัดรัฐธรรมนูญ (ซึ่งก็น่าลุ้นอยู่ เพราะผลของรัฐบาลโดนัลด์ ทรัมป์ คือการทำให้ตุลาการศาลสูงสุดอเมริกาส่วนใหญ่กลายเป็นฝั่ง ‘อนุรักษนิยม’ และหลายๆ คดีในทางสังคมที่ศาลชุดนี้ตัดสินก็เป็นคุณต่อฝั่งอนุรักษนิยม)
แต่ว่า ถ้าเราจะพูดถึง ‘ความเหมาะสมและเป็นธรรม’ ในเชิงการกีฬาล่ะ? กฎหมายหรือกติกาแบบนี้มันสมควรไหม?
คำตอบ ‘ในทางวิทยาศาสตร์’ คือไม่ชัดเจน
คือเราต้องเข้าใจก่อนว่าในอดีตช่วงกลางๆ ศตวรรษที่ 20 เทคนิคการ ‘โกงกีฬา’ อย่างหนึ่งที่ใช้กันมากมายคือการเอาผู้ชายไปแข่งในร่างกายผู้หญิง และนี่ไม่ใช่โกงกันแค่ระดับแข่งในมหาวิทยาลัย มันโกงระดับโอลิมปิก และนี่ก็เลยทำให้ทางผู้จัดการแข่งขันต้องจัดระเบียบให้มีการ ‘พิสูจน์เพศ’ ก่อนแข่ง ซึ่งสมัยก่อนโน้น คือนักกีฬาหญิงต้องเปิดอวัยวะเพศให้หมอทำการ ‘ตรวจสอบ’ เลย แต่ยุคหลังๆ เขามองว่าการที่ผู้หญิงต้องทำแบบนี้มันละเมิดศักดิ์ศรีผู้หญิงมากไป มันก็มีเทคนิคที่ ‘มีมนุษยธรรม’ ขึ้นอย่างการ ‘ตรวจระดับฮอร์โมน’ โดยเขาก็จะมีเกณฑ์ว่า การเป็นผู้หญิงแท้คือต้องมีฮอร์โมนเพศชาย หรือเทศโทสเทอโรน ไม่เกินเท่านี้ๆ
อย่างไรก็ดี คำถามก็คือ มี ‘ผู้หญิงแท้’ ที่ดันฮอร์โมนเพศชายเยอะกว่าปกติมั้ย? คำตอบคือมี เยอะด้วยในหมู่นักกีฬา และเคสดังสุดคือของแคสเตอร์ เซเมนยา นักวิ่งหญิงจากแอฟริกาใต้ที่กวาดเหรียญทองมามากมาย แต่พอกฎเรื่อง ‘ลิมิตฮอร์โมน’ ถูกใช้ เธอก็ถูกตัดออกจากการแข่งที่เธอเคยเป็นแชมป์เกือบทั้งหมด เพราะตามนิยามใหม่ที่วัดความเป็นหญิงชายจากฮอร์โมน เธอถือว่าเป็น ‘ผู้ชาย’ เพราะมีเทสโทสเทอโรนเยอะเกินไป
แต่ถามว่ามี ‘ทางแก้’ หรือไม่? คำตอบคือ ในโลกกีฬา ทางแก้แบบดิบๆ เลยคือเขาจะบังคับให้กินยากดฮอร์โมนจนเทสโทสเทอโรนต่ำเท่า ‘ผู้หญิงปกติ’ แล้วก็จะแข่งได้ ซึ่งก็แน่นอน กรณีอย่าง เซเมนยาก็ฟ้องกันไป เพราะเธอว่ามันไม่แฟร์ที่เธอซึ่งเป็นหญิงโดยกำเนิดต้องกินฮอร์โมนกดลงให้ ‘ผิดธรรมชาติ’ และตอนนี้ก็คือเธอฟ้องศาลคดีสิทธิมนุษยชนอยู่
อีกด้านหนึ่ง ฝ่ายที่ยินดีกับ ‘กฎลิมิตฮอร์โมน’ นี้คือฝั่งผู้หญิงข้ามเพศ เพราะในแง่นี้ ถ้าชายโดยกำเนิดอย่างพวกเธอกินยากดฮอร์โมนให้ฮอร์โมนเทสโทสเทอโรนต่ำเท่าผู้หญิง เธอก็จะถือว่าแข่งในรายการหญิงได้อย่างชอบธรรม และนี่ก็คือสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงก่อนหน้านี้
และแล้ว ‘ปัญหา’ ก็เกิด ถ้าเราตามข่าวกีฬาในอเมริกา เราก็คงจะได้เห็นข่าวนักกีฬาหญิงข้ามเพศเอาชนะนักกีฬา ‘หญิงแท้’ ได้รัวๆ และจนถึงจุดหนึ่งพวกนักกีฬาหญิงแท้ก็ไม่พอใจ และร้องเรียนรัฐจนนักการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมนั้น ‘รับลูก’ และกฏหมายแบนนักกีฬาข้ามเพศอย่างที่เห็น
แล้วมันเกิดอะไรขึ้น? ทำไมกินยากดฮอร์โมนแล้วผู้หญิงข้ามเพศยังชนะผู้หญิงโดยกำเนิดรัวๆ? คำตอบง่ายๆ ก็คือ เอาจริงๆ งานวิจัยนับไม่ถ้วนก็ชี้ว่า ในทาง ‘ความสามารถทางการกีฬา’ แล้ว นักกีฬาหญิงข้ามเพศ ถึงจะเทคฮอร์โมนไปให้ฮอร์โมนเท่ากับเพศหญิง แต่ในภาพรวมนักกีฬาพวกนี้ก็มีความแข็งแกร่งทางร่างกายมากกว่า
คำอธิบายเร็วๆ ก็คือ ในทางชีววิทยา สิ่งที่จะชี้วัด ‘ความแข็งแกร่งของร่ายกาย’ ไม่ใช่ระดับฮอร์โมน ณ ปัจจุบัน เท่ากับระดับฮอร์โมนในช่วงวัยรุ่น หรือพูดง่ายๆ ก็คือ นักกีฬาหญิงข้ามเพศพวกนี้ ไม่ได้เทคฮอร์โมนมาตั้งแต่วัยรุ่นที่ร่างกายกำลังก่อตัว ผลก็คือพวกเธอเลยมี ‘โครงสร้างร่างกาย’ แบบผู้ชาย และสิ่งเหล่านี้ก็ไม่ได้หายไปหลังจากที่พวกเธอเทคฮอร์โมนในปัจจุบัน
พูดง่ายๆ คือ ความสูง ขนาดกระดูก ปฏิมาณกล้ามเนื้อของคนเหล่านี้เป็น ‘ผู้ชาย’ หมด และนี่คือ ‘ความได้เปรียบระดับโครงสร้าง’ ที่การเทคฮอร์โมนไม่ได้ลดความได้เปรียบนี้ และนี่เป็นสาเหตุให้ ‘นักกีฬา’ หญิงแท้ โวยอย่างที่เห็น
บางคนก็อาจเถียงกว่า จริงๆ มันก็มีงานวิจัยอีกกลุ่มที่ชี้ว่า พวกผู้หญิงข้ามเพศไม่ได้มีความได้เปรียบทางกีฬาเลย ปัญหาคือ เรื่องนี้ยังเป็น ‘ประเด็นที่ยังถกเถียงกันในทางวิทยาศาสตร์’ คือมันยังฟันธงไม่ได้ ต้องศึกษาวิจัยต่อไป แต่สังคมอยากได้คำตอบแล้ว ผลมันก็เลยเป็นออกมาอีนุงตุงนังอย่างที่เห็น
เรื่องนี้จะเป็นอย่างไรต่อไปก็ไม่ทราบชัดนัก แต่ที่เกิดขึ้นแน่นอนแล้วคือมันสร้างรอยร้าวที่ลึกระหว่างกลุ่มผู้หญิงและกลุ่ม LGBT ในอเมริกา และก็ไม่แปลกที่นักการเมืองฝั่งอนุรักษนิยมอย่างรีพับลิกันจะใช้รอยร้าวนี้ให้เป็นประโยชน์ในทางการเมือง
อ้างอิง
- Reuters. Why are U.S. states banning transgender women from sport? https://reut.rs/3IxDuYF
- CBS News. The bans on transgender athletes — 6 facts. https://cbsn.ws/3543k8Z
- Fox News. Lia Thomas controversy: Former Olympic swimmer says NCAA caused ‘bigger problems for themselves’. https://fxn.ws/3qw8W3d
- Vox. The problem with sex testing in sports. https://bit.ly/3Neatoo
- Forbes. What Makes An Athlete Female? Here’s How The Olympics Decide. https://bit.ly/3NjJgRa
- Fox News. GOP candidates stand with women defeated by Lia Thomas, condemning ‘the death of women’s sports’. https://fxn.ws/3LiwG2V
- Vox. The massive Republican push to ban trans athletes, explained. https://bit.ly/3iy2xQy
- Movement Advancement Project. BANS ON TRANSGENDER YOUTH PARTICIPATION IN SPORTS. https://bit.ly/36Qz9mk