2 Min

ยอมอด ‘มื้อกลางวัน’ เป็นประจำ! เทรนด์ใหม่คนวัยทำงานในญี่ปุ่น เพราะข้าวยากหมากแพงจนต้องออมเงินไว้เยอะๆ

2 Min
1828 Views
17 May 2022

อย่างที่เราทราบกันดีว่าขณะนี้ข้าวของเครื่องใช้รวมถึงวัตถุดิบในการทำอาหารมีราคาเพิ่มขึ้นเป็นผลจากสภาพเศรษฐกิจชะลอตัวทำให้เมนูอาหารต่างๆราคาพุ่งสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องจนหลายคนชักหน้าไม่ถึงหลังเพราะรายได้น้อยและค่าแรงยังคงอยู่ที่เดิม

เรื่องนี้ไม่ได้เกิดขึ้นกับไทยเพียงประเทศเดียว เพราะผลสำรวจจากอีเดนเรด’ (Edenred) บริษัทด้านสวัสดิการอาหารในประเทศญี่ปุ่น ได้สอบถามผู้คนวัยทำงานชาวญี่ปุ่นทั่วประเทศเมื่อเดือนธันวาคม 2021 จำนวน 600 คน อายุระหว่าง 20-50 ปี ผลปรากฏว่า กว่า 29.5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามยอมอดอาหารมื้อกลางวันเพื่อลดค่าใช้จ่ายและประหยัดเงิน

ขณะเดียวกัน ความถี่ในการอดอาหารมื้อกลางวันของกลุ่มผู้ตอบแบบสอบถามก็แตกต่างกันไป โดย 56.5 เปอร์เซ็นต์ของผู้ตอบแบบสอบถามกล่าวว่า พวกเขาไม่กินอาหารกลางวันอย่างน้อย 1 ครั้งต่อสัปดาห์ ส่วนอีก 28.2 เปอร์เซ็นต์กล่าวว่า พวกเขามักจะงดกินอาหารกลางวัน 2-3 ครั้งต่อสัปดาห์ และอีก 15.3 เปอร์เซ็นต์ที่เหลืออดข้าวกลางวัน 4 ครั้งต่อสัปดาห์ หรือมากกว่านั้น

เหตุผลหลักๆ ของผู้ตอบแบบสำรวจราว 60 เปอร์เซ็นต์ระบุตรงกันว่า ที่ยอมอดทนไม่กินอาหารมื้อกลางวัน เป็นเพราะเรื่องการเงิน

ทั้งนี้ การสำรวจดังกล่าวยังถามถึงอาหารกลางวันว่าเมนูไหนที่แย่ที่สุดสำหรับพวกเขา ทางผู้ตอบแบบสอบถามบางคนตอบว่าบางมื้อกินแค่ไข่ปลา อีกคนดื่มแค่น้ำเปล่ากับของว่าง ส่วนบางคนนำอาหารที่เหลือจากมื้อเย็นวันก่อนมากินแทน และสำหรับบางคน ถ้าอาหารกลางวันที่อยากกินนั้นมีราคาแพงเกินไปก็เลือกที่จะไม่กินเลย

ค่าอาหารที่สูงขึ้นทำให้งบประมาณครัวเรือนตึงตัว ส่งผลให้ผู้คนจำนวนมากเริ่มงดอาหารกลางวันเพื่อประหยัดเงิน แม้ว่าจะต้องทำงานตลอดทั้งวันก็ตามตัวแทนจากบริษัท Edenred กล่าว

เนื่องจากต้นทุนราคาสินค้า วัตถุดิบต่างๆ มีการปรับราคาเพิ่มขึ้น ทำให้ค่าครองชีพพุ่งสูงขึ้นตาม หนึ่งในผู้ตอบแบบสำรวจจึงกล่าวว่า เธอมีความกังวลถึงอนาคตที่ไม่แน่นอนในชีวิตหลังเกษียณว่าจะมีเงินใช้จ่ายเพียงพอหรือไม่ ฉะนั้นจำเป็นที่จะต้องอดออม ประหยัดเงินไว้ตั้งแต่ตอนนี้

นอกจากนี้ เมื่อปี 2019 สถาบันทางการเงินในการกำกับดูแลของรัฐบาลญี่ปุ่นได้ออกรายงานแนะนำให้ผู้คนเริ่มเก็บและออมเงิน โดยระบุว่า ผู้คนในประเทศจำเป็นจะต้องมีเงินเก็บราว 20 ล้านเยน (ประมาณ 5.3 ล้านบาท) เพื่อเป็นค่าครองชีพหลังเกษียณ

มาซาฮิโกะ อาริจิ (Masahiko Ariji) ศาสตราจารย์ด้านเศรษฐศาสตร์อาหาร จากมหาวิทยาลัยคินได (Kindai University) กล่าวว่า คนวัยทำงานในญี่ปุ่นมองการงดอาหารกลางวันหรืออาหารเช้าเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมในการอดออมเงิน ตราบใดที่สุขภาพของพวกเขาไม่ได้รับผลกระทบ

จากผลสำรวจข้างต้นนี้เป็นสัญญาณบ่งชี้ว่า สภาพเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ส่งผลกระทบต่อชีวิตประจำวันของคนทั่วไป แต่การอดอาหารกลางวันอาจไม่ใช่ทางออกสำหรับทุกคน

อ้างอิง