3 Min

รู้ไหมว่า ‘ภาษาที่เร็วที่สุดในโลก’ คือภาษาญี่ปุ่น ส่วนภาษาไทยเกือบจะ ‘ช้า’ ที่สุดในโลก ว่าแต่เขาวัดกันยังไง?

3 Min
361 Views
10 Jun 2024

คำถามเชิงเปรียบเทียบเกี่ยวกับภาษาต่างๆ อาจฟังดูเป็นประเด็นสำหรับนักภาษาศาสตร์ แต่ในความเป็นจริงก็มีคำถามพื้นๆ ที่น่าสนใจสำหรับคนทั่วไป เช่นคำถามง่ายๆ ว่า อะไรคือ ‘ภาษาที่เร็วที่สุดในโลก’

คือถามนี้ง่าย แต่ตอบยาก เพราะอะไรคือความเร็วของภาษา ซึ่งเอาจริงๆ ความเร็วอาจแบ่งได้เป็นสองทาง อย่างแรกคือ การใช้พยางค์น้อยและสื่อความได้ ‘เร็ว’ ที่สุด และอีกทางคือตรงข้าม กล่าวคือต้องใช้พยางค์จำนวนมากในการสื่อความและส่งผลให้คนพูดต้องพูดเร็วมากเพื่อให้สื่อความได้อย่างมีประสิทธิภาพ

แม้ว่า ‘ความเร็ว’ ในมุมของคนทั่วไปจะมองได้สองทาง แต่ในทางวิชาการเขามีนิยามชัดว่า ที่จริงภาษาที่ใช้ถ้อยคำน้อยและสื่อความได้มาก เขาจะเรียกว่าภาษาที่ช้า ส่วนภาษาที่ต้องใช้ถ้อยคำมาก แต่สื่อความได้น้อย เขาจะเรียกว่าภาษาที่ ‘เร็ว’ และที่เป็นแบบนี้ก็เพราะเขาพบว่าเวลาเฉลี่ยในการสื่อความแต่ละภาษานั้นพอๆ กัน ดังนั้นภาษาที่ต้องใช้ถ้อยความเยอะในการสื่อความ ก็จะทำให้คนทั่วๆ ไปที่ใช้ภาษาต้องต้องพูดเร็วนั่นเอง

แล้วภาษาไหนช้า ภาษาไหนเร็ว? ภาษาที่ช้า เขาบอกว่าคือภาษาเวียดนาม ช้ารองจากเวียดนามคือภาษาไทย ส่วนภาษาที่เร็ว โดยทั่วไปเขาจะถือว่าภาษาญี่ปุ่นยืนหนึ่ง โดยคำตอบนี้อยู่ในงานวิจัยที่ออกมาในปี 2019 ในวารสาร Science Advances ที่ศึกษาภาษาหลักๆ ในโลก 17 ภาษา

แล้วมันเร็วมันช้ายังไง เขามีคำอธิบายอยู่

คือภาษาที่ ‘ช้า’ อย่างที่บอกมันใช้คำน้อยเพื่อสื่อความได้มาก ภาษาที่มีลักษณะแบบนี้คือภาษาที่มี ‘เสียง’ ที่ ‘หลากหลาย’ มาก และภาษาที่จะมีเสียงในภาษาที่หลากหลายได้ หลักๆ ภาษานั้นต้องมีสระเยอะๆตัวสะกดเยอะๆ และมีเสียงวรรณยุกต์ โดยภาษาทั้งไทยและเวียดนามก็เข้าลักษณะนี้ทั้งคู่

ภาษาที่เป็นแบบนี้มันทำให้พยางค์หนึ่งมีความเป็นไปได้หลากหลายมาก และความเป็นไปได้ต่างๆ ก็จะใส่ความหมายต่างๆ ได้เยอะ

ส่วนภาษาที่มีลักษณะตรงกันข้าม ก็คือภาษาที่มี ‘สระ’ และ ‘ตัวสะกด’ น้อยๆ และไม่มี ‘เสียงวรรณยุกต์’ ซึ่งเราก็จะเห็นว่านี่คือลักษณะของภาษาสเปนและญี่ปุ่น ซึ่งเป็นสองภาษาที่ไม่มีเสียงวรรณยุกต์แน่ๆ และมีสระเพียงแค่ 5 ตัว โดยที่ภาษาญี่ปุ่นจัดเป็นภาษาที่เร็วที่สุด ก็เพราะมันเป็นภาษาที่มีตัวสะกดน้อยด้วย ซึ่งเรื่องนี้ถึงใครไม่รู้ภาษาญี่ปุ่นก็อาจจะสังเกตได้ว่าคนญี่ปุ่นจะมีปัญหาในการออกเสียงตัวสะกดหลายๆ แบบมาก เพราะนั่นคือสิ่งที่ไม่มีในภาษาญี่ปุ่น

เพื่อให้เห็นภาพคร่าวๆ เราเลยขอยกตัวอย่างประโยคง่ายๆ ในภาษาจำนวนหนึ่งเพื่อให้เห็นความยาวของคำที่ต้องใช้ เช่น ภาษาไทย เราจะพูดว่า ‘ฉันหิว’ ภาษาอังกฤษในภาษาพูดจะพูดว่า ‘I’m hungry’ ภาษาสเปนจะพูดว่า ‘Tengo hambre’ ส่วนภาษาญี่ปุ่น จะพูดว่า ‘お腹が空きました” (Onaka ga akimashita)

ซึ่งในทางปฏิบัติ การสื่อความสั้นๆ นี้ในทุกภาษาผู้คนจะใช้เวลาเท่าๆ กัน ถ้าลองนึกตามเราก็จะเห็นเลยว่าภาษาไทยนั้นพูดช้าๆ ได้เพราะมันพูดแค่ 2 พยางค์ อังกฤษก็จะเร็วกว่าหน่อยคือ 3 พยางค์ สเปนก็จะเร็วขึ้นอีกคือต้องพูด 4 พยางค์ ส่วนภาษาญี่ปุ่นเราก็จะพบว่ามันต้องพูดโคตรเร็วเพราะต้องพูดถึง 9 พยางค์

การที่ภาษาญี่ปุ่นยาวกว่าภาษาสเปน เหตุผลหลักคือภาษาสเปนแม้ว่าตัว ‘หน่วยเสียง’ จะมีน้อย แต่มันมีการ ‘ผันกริยา’ สำหรับประธานประโยคที่ต่างกัน ดังนั้นในภาษาที่ใช้ทั่วไปจะไม่มีประธานประโยค หรือมันจะ ‘ละประธาน’ ได้ ทำให้สามารถพูดได้สั้นลงนิดหนึ่ง แต่ภาษาอย่างญี่ปุ่น หน่วยเสียงมีน้อย และในทางวัฒนธรรมก็มีการใช้ภาษาอ้อมๆ เยอะ ดังนั้นมันต้องสื่ออะไรยาวมากๆ ทั้งๆ ที่เสียงในภาษามีน้อย และผลก็คือทำให้เวลาคนพูดจึงต้องพูดเร็วมากๆ เพื่อจะสื่อความออกมาได้เท่าๆ กับภาษาอื่นในกรอบเวลาเท่ากันนี่เอง

แต่แน่นอนว่าทั้งหมดนี้เราว่ากันด้วยภาษาหลักๆ ในโลกเท่านั้น ยังมีภาษาแปลกๆ ที่คนใช้น้อยอีกจำนวนมากที่อาจ ‘ช้า’ หรือ ‘เร็ว’ กว่าภาษาพวกนี้ก็เป็นได้ กรณีนี้ถ้าใครสนใจจะไปลองอ่านงานภาษาศาสตร์แบบลึกๆ ก็ได้ แต่ตรงนี้ สิ่งหนึ่งที่อยากให้เห็นนอกจากว่าภาษาไทยเป็นภาษาที่ช้า ก็คือภาษาไทยมีหน่วยเสียงเยอะกว่าภาษาอื่นมาก ดังนั้นจึงเป็นภาษาที่คนเรียนได้ยากพอสมควรเพราะมันออกเสียงได้ยาก แต่กลับกัน ความมีหน่วยเสียงเยอะ มันก็ทำให้เวลาที่คนไทยไปเรียนภาษาอื่น อย่างน้อยๆ การออกเสียงก็จะทำได้ง่ายเลย เพราะหน่วยเสียงพื้นๆ โดยทั่วไปก็แทบจะมีในภาษาไทยทั้งหมดแล้ว

อ้างอิง