‘ม็อบชาวนา’ กระดูกสันหลังที่กำลังผุพังกับความหวังที่จะได้กลับบ้าน

4 Min
1797 Views
24 Mar 2022

“ชาวนาเหนื่อยยาก ลำบากกายา สงสารบรรดา คนยากคนจน”

เนื้อร้องของเพลงตอนพักเที่ยงสมัยเด็กได้ผุดขึ้นมากในหัวเรา ครั้นเมื่อต้องมาเห็นภาพชาวนาทั้งหลายทนทุกข์อยู่บริเวณหน้ากระทรวงการคลัง ณ ขณะนี้

ภาพจำวัยเด็กของกระดูกสันหลังชาติไทย ที่เปรียบเสมือนกับบุคคลที่สามารถเชิดหน้าชูตาได้ในระดับโลก ความจริงที่เห็นกับตาในวันนี้กลับไม่เป็นอย่างที่คิด ชาวนาเหล่านี้ต้องเผชิญกับชะตาชีวิตสุดแร้นแค้นจากการเป็น ‘หนี้’ ที่ไม่ว่าจะใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมดลงเสียที

จากปัญหาหนี้สินเรื้อรังที่มีมาอย่างยาวนาน ผนวกกับพืชผลการผลิตที่ตกต่ำ ทำให้ชาวนาจากทั่วทุกสารทิศต้องลาจากบ้านเข้าสู่เมืองกรุงในวันที่ 24 มกราคม 2565 เพื่อเรียกร้องให้รัฐบาลมาช่วยเหลือในภาระที่พวกเขาไม่สามารถแบกรับได้อีกแล้ว

เมื่อความจนทำให้ชาวนาเริ่มล้มลงจนต้องเดินทางไกลเพื่อต่อสู้ กระดูกสันหลังแห่งชาติเหล่านี้จะรู้สึกหรือนึกคิดเช่นไร?

นโยบายของรัฐ ทำมากแต่กลับมีหนี้มาก

“เหตุครั้งนี้ต้องเกิดขึ้น เพราะเรารอมาเนิ่นนาน”

ชุมพร จิตนาวสาร ผู้ประสานงานเครือข่ายหนี้สินชาวนาแห่งประเทศไทยได้ให้เหตุผลที่พวกเขาต้องมาในครั้งนี้

ชุมพร กล่าวว่า กลุ่มชาวนาต้องการมาตามเรื่องของ 4 แบงค์รัฐซึ่งประกอบไปด้วย ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.), ธนาคารออมสิน, ธนาคารอาคารสงเคราะห์ และธนาคารพัฒนาวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อมแห่งประเทศไทย (SME BANK) เพื่อโอนหนี้สินของเหล่าเกษตรกรไปยังสำนักงานกองทุนและฟื้นฟูเกษตรกร

พวกเขาได้ติดตามเรื่องดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2564 แต่กระนั้นก็ไม่มีความคืบหน้าใดๆ ออกมาให้เห็น จนทำให้ต้องออกมาปักหลักอยู่ที่นี่ เพื่อให้เรื่องดังกล่าวเกิดความคืบหน้า

“พวกเราซึ่งเป็นชาวนารุ่นสุดท้าย มีความคาดหวังว่า อยากให้รัฐบาลมองเห็นและจริงใจกับพี่น้องเกษตรกรชาวไร่ชาวนา มีการประกันราคาผลผลิตให้ดีกว่านี้ ที่ผ่านมาราคาสินค้าตกต่ำทุกปีจนทำให้พี่น้องเราเป็นหนี้เป็นหนี้เพราะอะไร เป็นหนี้เพราะเกิดจากนโยบายของรัฐ ทำมาก กลับมีหนี้มาก”

ชุมพร ปิดท้ายว่า ถ้าเกิดเรื่องนี้ถูกนำเข้า ครม. ในวันที่ 22 มีนาคม 2565 แล้วผลลัพธ์เป็นไปในทิศทางที่ดี พวกเขาจะ ‘กลับบ้าน’ เพื่อประกอบอาชีพในทันที แต่หากเรื่องนี้ยังถูกนิ่งเฉย บอกได้เลยว่าพวกเขาจะมีการหารือ และยกระดับการชุมนุมต่อไปอีกขั้น

เพราะ ‘ความหวัง’ เราจึงมา

สว่าน สีแดง ชาวนาจากจังหวัดพิจิตร ผู้ทำนามาตั้งแต่เกิด กล่าวถึงเหตุผลที่ต้องมาที่นี่ว่า

“ก็ความหวังไง ที่เราคาดหวังไว้ว่ารัฐจะมาช่วย หนี้สินที่เรามีในตอนนี้ เราไม่มีปัญญาชดใช้มันได้แล้ว”

จากการสอบถามถึงที่มาของหนี้สินที่เกิดขึ้น สว่านเล่าว่าผลผลิตที่ได้ในปัจจุบันนั้น ไม่เหมือนเมื่อก่อน ซึ่งเป็นผลที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงของโลก อีกทั้งผนวกกับราคาผลผลิตที่ตกต่ำลงเรื่อยๆ เมื่อลงทุนไป ทำให้ต้นทุนที่นำไปลงทุนมีมากกว่ากำไรที่ได้รับ

“ถึงลำบากก็ต้องมาแหละ ชีวิตที่อยู่ที่นี่ก็ไม่ได้ถือว่าดีสักเท่าไหร่ ไม่สมบูรณ์ แต่ยังดีที่มีองค์การดูแล กินอิ่มบ้างไม่อิ่มบ้าง นอนหลับบ้างไม่หลับบ้าง ธรรมดาของการที่เราเปลี่ยนที่นอน” – สว่านกล่าวด้วยความรู้สึกที่เต็มไปด้วยความหวัง

แม้ตัวเขาจะไม่ค่อยสบายนักในการเดินทางมาครั้งนี้ ต้องเทียวไปเทียวกลับ เนื่องจากสุขภาพทางร่างกายที่ไม่อำนวย เพราะหมอกควันมลพิษต่างๆ แต่ตัวเขาก็ยังพยายามที่จะแสดงพลัง เพื่อเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงในครั้งนี้

หนี้สั่งสม ที่เพิ่มพูนจนไม่รู้จบ

เรียกได้ว่าเกือบทั้งหมดของชาวนาที่มาในครั้งนี้ ทุกคนล้วนประสบกับปัญหา ‘หนี้ท่วมหัว’ กันทั้งสิ้น เช่นเดียวกับ ราตรี ศรีเชง หญิงผู้มีหนี้มากมายขนาดที่ตนไม่สามารถพูดได้อย่างเต็มปากว่าจะใช้มันได้หมด หากหนี้ที่มีอยู่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ แบบนี้

ราตรีเล่าว่า ตอนนี้เธอมีหนี้ที่สั่งสมมานานหลายปี และไม่ใช่ว่าไม่พยายามชดใช้มัน แต่จำนวนหนี้ที่มีเรียกได้ว่า ‘ใช้เท่าไหร่ก็ไม่หมด’ เพราะปัญหาต่างๆ ที่ได้รับผลกระทบ ประกอบกับดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ จนเท่าเงินต้น ทำให้เธอหมดหนทางในการใช้จ่ายในครั้งนี้

บางคนอาจสงสัยว่า แล้วทำไมเธอถึงไม่เปลี่ยนอาชีพ? …ความเป็นจริงไม่ง่ายอย่างที่ใครหลายคนคิด

“มันเปลี่ยนยากแล้ว ก็ทำอย่างงี้มาทั้งชีวิต อายุก็มากไม่รู้จะไปทำอะไร”

ราตรีเสริมว่า ไม่ใช่ว่าจะนิ่งเฉย เธอพยายามทำอย่างอื่นมาตลอด ทั้งรับจ้างเป็นแม่ครัวตามร้านอาหาร หรือเปิดร้านขายกล้วยทอด แต่ก็ต้องพบเจอกับปัญหาน้ำมันที่แพงขึ้นจนไม่สามารถรับต่อสภาวะต้นทุนได้ สุดท้ายก็ต้องเลิกไป

จนถึงตอนนี้ เธอหวังเพียงแค่ให้รัฐยื่นมือเข้ามาช่วย เพราะไม่สามารถทนได้อีกต่อไปแล้ว

เวลาผ่านไปวันแล้ววันเล่า บรรดาชาวนามากมายยังคงรวมตัวกันที่หน้ากระทรวงการคลัง แทนที่จะแยกย้ายไปตามท้องนา ณ สถานที่ต่างๆ ซึ่งเป็นพื้นที่หลักในการทำมาหากินของพวกเขา

หญิงชายทั้งวัยกลางคน และวัยชรา ร่วมกันรอคอยอย่างมีความหวังท่ามกลางสภาพอากาศที่ร้อนระอุของประเทศไทยในช่วงหน้าร้อน

ภาพของหญิงวัยชราที่โดยปกติแล้วควรจะต้องอยู่ดูลูกหลานที่บ้านของตนเอง แต่ในตอนนี้เธอกลับต้องดั้นด้นจากพื้นที่ห่างไกลเข้ามาสู่กรุงเทพฯ เพื่อรอคอยคำตอบจากรัฐบาลที่จะได้รับในวันที่ 22 มีนาคม 2565 นี้ ภายใต้สถานการณ์โควิด-19 ที่กำลังระบาดอยู่

แม้แต่ทารกตัวน้อยจากครอบครัวชาวนา ก็ถูกกระเตงมาสู่การชุมนุม ไม่มีใครรู้ว่าอนาคตของเด็กน้อยคนนี้จะเป็นเติบโตไปในทิศทางไหน หากปัญหาหนี้สินกำลังตามรังควานครอบครัวของหนูน้อยอยู่แบบนี้

ชาวนารุ่นสุดท้าย?

เคยคิดไหมว่าจะเป็นอย่างไร หากชาติที่มีการส่งออกข้าวเป็นอันดับหนึ่งจะไม่เหลือเกษตรกรชาวนาให้ผลิตข้าวอีกต่อไป?

บรรเทา บุญสง ชาวนาจากจังหวัดอุทัยธานี ผู้ได้รับผลกระทบโดยตรงจากวิกฤตในครั้งนี้ เธออยู่ในการชุมนุมนี้มาตั้งแต่เริ่มต้น จนถึงตอนนี้เป็นระยะเวลาเกือบ 2 เดือนแล้ว ที่เธอยังไม่ได้กลับสู่บ้านเดิมที่จากมา

บรรเทาเล่าว่าที่เป็นอย่างนี้เป็นเพราะหากต้องกลับไปก็ไม่เหลืออะไรอีกแล้ว สู้อยู่ที่นี่ต่อเพื่อเรียกร้องยังดีเสียกว่า

“ตอนแรกชาวนาชุดนี้จะหยุดทำกันหมดแล้ว ถ้าชุดนี้หยุดทำกันหมดจริงๆ ต่อไปเราจะเอาข้าวที่ไหนกิน”

คำกล่าวสั้นๆ ของเธอทำให้เราฉุกคิดถึงอนาคตของชาวนาไทย ซึ่งอาจหมายถึงชีวิตคนไทยที่กิน ‘ข้าว’ ทุกวันอีกหลายสิบล้านคน

หากวิกฤตชาวนาไทยยังคงเป็นแผลใหญ่ไร้การรักษาต่อไปเรื่อยๆ โดยไม่ได้รับการเยียวยา ในอนาคต ไม่แน่ เราอาจจะได้พูดออกมาอย่างขมขื่นว่าคนเหล่านี้ คือชาวนารุ่นสุดท้าย และเราอาจจะไม่มีวันได้เป็น ‘ประเทศส่งออกข้าวอันดับ 1’ อย่างที่ฝัน

ชาวนาอีกมากกำลังรอวันที่พวกเขาจะได้ ‘กลับบ้าน’ อย่างเต็มสุข และไม่ต้องทนทุกข์กับ ‘หนี้’ ที่ตอนนี้มันหนักหนาเหลือเกินอยู่บนสันหลังของพวกเขา…สันหลังที่ได้ชื่อว่าทำเพื่อชาติและเป็นของชาติ