‘Fandom’ กับ ‘ลัทธิบูชาบุคคล’ ต่างกันยังไงในสนามการเมือง?

4 Min
838 Views
20 Jul 2023

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

แม้ ‘ด้อมส้ม’ ที่เป็นฐานเสียงพรรคก้าวไกลจะเป็นแรงขับเคลื่อนสำคัญให้พรรคเติบโต แต่ขณะเดียวกันก็ถูกมองเป็นปัจจัยที่อาจจะทำให้พรรค ‘พัง’ ได้ และการที่มีคนเรียกผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกลเป็น Fandom หรือ ‘อาณาจักรแฟนคลับ’ ก็สะท้อนว่าคนกลุ่มนี้อาจถูกมองเป็นผู้คลั่งไคล้หรือยึดมั่นในตัวบุคคลที่เป็น ‘ไอดอล’ แต่ที่จริงนี่ไม่ใช่เรื่องใหม่ เพราะการเมืองไทยมีสิ่งที่เรียกว่า ‘ลัทธิบูชาบุคคล’ มาตั้งนานแล้ว

ถ้าไปถามผู้เชี่ยวชาญด้านศิลปวัฒนธรรม คำว่า ‘แฟนด้อม’ (Fandom) มาจากคำว่า Fanclub บวกกับ Kingdom และมักจะถูกนำไปเรียกการรวมตัวของกลุ่มคนที่มีความชื่นชมต่อ ‘บุคคลใดบุคคลหนึ่ง’ หรือกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งอย่างมาก ถึงขั้นติดตามความเคลื่อนไหว ให้กำลังใจ จนถึงสนับสนุนผลงานของบุคคลนั้นๆ อย่างทุ่มเทเต็มที่และต่อเนื่อง

ซึ่งก็ไม่แปลกที่คำว่าแฟนด้อมจะถูกผูกโยงกับความหลงใหลคลั่งไคล้ ไม่ว่าจะเป็นดารา นักร้อง นักกีฬา หรือคนดังในแวดวงต่างๆ ทั้งฝั่งตะวันตกและตะวันออก เพราะต่อให้คนเอเชียยุคนี้นึกถึงแฟนคลับศิลปิน K-Pop เป็นอันดับแรกเมื่อได้ยินคำว่าแฟนด้อม แต่ที่จริงกลุ่มคนรักภาพยนตร์ ‘Star Wars’ หรือกลุ่มคนรักวรรณกรรมและภาพยนตร์ ‘Harry Potter’ ก็ถูกสื่อจำนวนมากเรียกว่าเป็น แฟนด้อม เช่นกัน 

หลายครั้งแฟนด้อมถูกมองว่าเป็นกลุ่มคนที่มีความลุ่มหลงถึงขั้น ‘ไม่ลืมหูลืมตา’ และบางทีก็มีพฤติกรรมเข้าข่าย ‘เป็นพิษ’ เพราะอาจจะไปโจมตีหรือข่มขู่ถกเถียงกับคนอื่นที่วิพากษ์วิจารณ์ ‘ไอดอล’ ที่พวกเขาชื่นชม แต่บางทีก็เกิดกระแสโต้กลับซึ่งคนในแฟนด้อมหันไปโจมตีคนที่พวกเขาเคยสนับสนุน เช่น กรณีแฟนด้อม Harry Potter ประณามและคว่ำบาตร ‘เจ.เค. โรว์ลิง’ นักเขียนผู้ให้กำเนิด Harry Potter หลังจากที่เธอวิจารณ์สิทธิผู้หญิงข้ามเพศ

อย่างไรก็ดี หลายปีที่ผ่านมา ‘แฟนด้อมการเมือง’ ก็เป็นคนอีกกลุ่มที่ขยายตัวและมีบทบาทเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ในการขับเคลื่อนประเด็นทางสังคมและการเมืองในแต่ละประเทศ 

กรณีของบ้านเรามีการเกิดขึ้นของแฟนด้อม ‘คู่จิ้น’ สส. ‘อิ่ม-น้ำ’ (ธีรรัตน์ สำเร็จวาณิชย์ และ จิราพร สินธุไพร จากพรรคเพื่อไทย) การติดแฮชแท็ก ‘ฟ้ารักพ่อ’ ของชาวทวิตเตอร์ผู้สนับสนุน ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ (ที่ถูกยุบไปแล้ว) มาจนถึง ‘ด้อมส้ม’ ซึ่งถูกสื่อ (และนักการเมืองบางคน) เรียกรวมๆ ถึงผู้สนับสนุนพรรคก้าวไกล ณ ปัจจุบัน 

แต่ความชื่นชมและเชื่อมั่นที่มีต่อบุคคลหรือกลุ่มคนในแบบแฟนด้อมก็ไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้นในประวัติศาสตร์การเมืองโลก ก่อนหน้านี้ก็เคยมีคำว่า ‘ลัทธิบูชาบุคคล’ (Cult of Personality) มาก่อน โดยสารานุกรม Britannica อธิบายอีกว่า การบูชาตัวบุคคลมีมาตั้งแต่สมัยอารยธรรมโบราณ เรื่อยมาจนถึงยุคศตวรรษที่ 20-21 ที่คาบเกี่ยวกับปัจจุบัน ซึ่งการบูชาบุคคลในอดีตมักจะเป็นการบูชา ‘ผู้นำ’ ไม่ว่าจะเป็นฝั่งเผด็จการในยุคนาซีเยอรมนี ผู้นำการปฏิวัติโซเวียต หรือ ‘ประธานเหมาเจ๋อตง’ ผู้นำการปฏิวัติจีน และก็ลากยาวมาถึงปรากฏการณ์แฟนคลับ BTS วงบอยแบนด์เกาหลีใต้ที่มี ‘อาณาจักรแฟน’ ในหลายๆ ประเทศทั่วโลก

หรือถ้าย้อนกลับไปดูเรื่องราวทางการเมืองไทยในช่วงหลายทศวรรษก่อนหน้านี้ จะเห็นว่าบุคคลสำคัญในแวดวงการเมืองหลายคนก็ได้รับการยกย่องเป็น ‘รัฐบุรุษ’ ‘มหาบุรุษ’ รวมถึงอดีตนายกฯ ‘ทักษิณ ชินวัตร’ ที่มีมวลชนจำนวนมากสนับสนุน จนถูกมองเป็นอีกหนึ่งปรากฏการณ์ ‘บูชาบุคคล’ ที่คนจำนวนมากปกป้องและหวงแหนบุคคลที่พวกเขารักอย่างสุดจิตสุดใจ

แต่ที่จริงคำว่าแฟนด้อมถูกใช้กับนักการเมืองครั้งแรกๆ ในกรณีของ ‘บารัก โอบามา’ (Barack Obama) อดีตประธานาธิบดีผิวดำคนแรกของสหรัฐอเมริกา ซึ่งขึ้นชื่อว่าเป็นผู้ใช้สื่อโซเชียลในการสื่อสารและรับฟังความคิดเห็นของ ‘ฐานเสียง’ ตัวเองมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันที่พ้นตำแหน่งไปแล้ว และในเกาหลีใต้ก็มีแฟนด้อม ‘Moonppa’ ของอดีตประธานาธิบดีมุนแจอิน (Moon Jae-in) รวมถึงด้อมล่าสุดที่สนับสนุนสุภาพสตรีหมายเลข 1 ของเกาหลีใต้คนปัจจุบัน

สิ่งที่ต่างกันอยู่บ้างระหว่าง ‘การบูชาบุคคล’ กับ ‘แฟนด้อม’ คือเหล่าสมาชิกแฟนด้อมการเมืองส่วนใหญ่ในปัจจุบันเป็นผู้ใช้งาน ‘สื่อโซเชียล’ จึงมีการสื่อสารทางตรงกับคน (หรือพรรค) ที่พวกเขาชื่นชม ทั้งยังสามารถใช้พื้นที่ออนไลน์ช่วยขับเคลื่อนประเด็นทางสังคม หรือสร้างคอนเทนต์เกี่ยวกับเรื่องที่พวกเขาอยากจะรณรงค์ ถกเถียง หรือแม้แต่ทำมีมล้อเลียนเพื่อให้คนอื่นที่มีความชอบ (หรือมีแนวคิด) คล้ายกันได้ร่วมแบ่งปัน

ส่วนคำนิยาม ‘แฟนด้อมการเมือง’ ที่เคยรายงานในสื่อไทย ระบุว่า นี่คือกลุ่ม ‘ผู้มีส่วนร่วมทางการเมือง’ ที่ใช้สื่อโซเชียลสะท้อนความคิดเห็นในด้านต่างๆ ซึ่งบางกรณีก็มีผลสะเทือนต่อผู้ที่ตนสนับสนุนจริงๆ เช่น การติดแฮชแท็ก #มีกรณ์ไม่มีกู ในทวิตเตอร์ ส่งผลต่อการเจรจาเรื่องการร่วมจัดตั้งรัฐบาลของพรรคก้าวไกล เรื่องนี้ทำให้บางคนมองว่าการฟังเสียง ‘แฟนด้อม’ ของพรรคก้าวไกลอาจเป็น ‘จุดอ่อน’ ที่ทำให้พรรคอยู่ในเวทีการเมืองได้ไม่ตลอดรอดฝั่ง เพราะถูกเรียกร้องด้วยเงื่อนไขที่ทำตามได้ยาก

แต่หากได้ไปสำรวจความเห็นของเหล่าแฟนด้อมในสื่อโซเชียล จะเห็นว่าพวกเขาส่วนใหญ่ก็คือผู้ออกไปใช้สิทธิ์เลือกตั้งเมื่อ 14 พฤษภาคม 2566 และพอใจที่พรรคที่พวกเขาเลือกมา ‘รับฟัง’ ความเห็น แม้จะพ้นช่วงขอคะแนนเสียงเลือกตั้งไปแล้วก็ตาม หรือถ้าพรรคที่เคยเลือกไม่ทำตามที่พูดไว้ พวกเขาก็พร้อมที่จะทวงถาม (หรือ ‘ทอดทิ้ง’ ในการเลือกตั้งครั้งหน้า) ได้เหมือนกัน

อ้างอิง