ผลประชามติสวิตเซอร์แลนด์ “ห้าม” ปิดบังใบหน้าในที่สาธารณะ แน่นอนว่าสำหรับหญิงชาวมุสลิม นี่เป็นปัญหาใหญ่ ซึ่งอาจสร้างความไม่เท่าเทียมและกีดกันทางศาสนา
ในโลกปัจจุบันที่สังคมเปิดกว้างโอบรัดความหลากหลาย ไม่ว่าจะวัฒนธรรม ศาสนา หรือการแต่งกาย
แต่เมื่อเดินมาถึงเรื่องความ “ปลอดภัย” และ “สบายใจ” สิทธิในการแต่งกายและศาสนาอาจไม่ได้ถูกให้ความสำคัญมากเท่ามิติอื่นๆ..?

Voters support ban on face coverings in public News | BBC
ประชามติสวิตเซอร์แลนด์
เรากำลังพูดถึงผลประชามติล่าสุดของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ที่ประกาศผลไปเมื่อช่วงต้นเดือนมีนาคม 2021 ที่ถามความคิดเห็นของประชาชนว่าควร “ห้าม” ไม่ให้มีการปิดบังใบหน้าในที่สาธารณะหรือไม่ ซึ่งผลออกมาแบบเฉียดฉิว โดยมีคนเห็นด้วยว่า “ควรห้าม” 51.2% และคัดค้าน 48.8%
เมื่อมีการบังคับใช้แล้วจะห้ามปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ ไม่ว่าจะตามท้องถนน ขนส่งสาธารณะ ร้านอาหาร ร้านค้า หรือสำนักงาน ข้อยกเว้นคือการปิดหน้าที่มีผลต่อสุขภาพ (ดังนั้นยังใส่หน้ากากอนามัยได้) หรือความปลอดภัย นอกจากนี้ อนุญาตให้ปิดหน้าได้จากสภาพอากาศหรือตาม “ประเพณีท้องถิ่น” เช่น งานเทศกาลหน้ากากคาร์นิวัล
แน่นอนว่าสำหรับหญิงชาวมุสลิม นี่เป็นปัญหาใหญ่
เพราะในเงื่อนไขข้อยกเว้นที่รัฐบาลกลางกำหนดพูดถึงประเพณี “ท้องถิ่น” แต่ไม่ระบุข้อยกเว้นทางศาสนา และไม่ครอบคลุมชุดบรูกา (Burka) ชุดคลุมทั้งตัวรวมถึงใบหน้า เผยให้เห็นเฉพาะตา และชุดนิกอบ (Niqab) ซึ่งคลุมทั้งใบหน้ายกเว้นดวงตา
สภามุสลิมกลางซึ่งเป็นกลุ่มผู้นำศาสนาอิสลามในสวิตเซอร์แลนด์ออกแถลงการณ์ว่านี่เป็นช่วงเวลาที่ “มืดมน” ของชาวมุสลิม “ประชามติครั้งนี้เป็นการเปิดแผลเก่า และสร้างความไม่เท่าเทียมทางกฎหมาย มันเป็นสัญญาณกีดกันชาวมุสลิมที่เป็นส่วนน้อยของประเทศ”
สวิตเซอร์แลนด์มีประชากรชาวมุสลิมอยู่ 5% ส่วนใหญ่เป็นชาวตุรกี บอสเนีย และคอซอวอ จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัย Lucerne ประเทศเยอรมนี ระบุว่าแทบไม่มีชาวมุสลิมที่สวมชุดบรูกาในสวิตเซอร์แลนด์ และเชื่อว่ามีคนสวมชุดนิกอบราว 30 คนเท่านั้น แต่เรื่องนี้ไม่ได้เกี่ยวข้องเฉพาะกับประชากรมุสลิมสัญชาติสวิส เพราะนโยบายจะครอบคลุมไปถึงนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้าประเทศด้วย

มุสลิม | freepik
ห้ามคลุมหน้า = การเลือกปฏิบัติทางศาสนา
ถึงแม้ประชามติครั้งนี้จะไม่ได้พูดถึงถึงชาวมุสลิมโดยตรง แต่ผลกระทบที่เกิดขึ้นค่อนข้างชัดเจนว่าเกิดกับใคร
พรรคประชาชนสวิสหรือ SVP ซึ่งเป็นผู้ผลักดันประชามติครั้งนี้ระบุว่าผลออกมาไม่เป็นเอกฉันท์อย่างที่คาดการณ์ไว้ แต่จากผลประชามติก็เป็นประกันได้ว่าการห้ามปิดหน้าในที่สาธารณะจะถูกบรรจุลงรัฐธรรมนูญของประเทศ อันที่จริงแล้วก่อนหน้าที่ทางพรรค SVP เคยจัดแคมเปญต่อต้านการปิดบังใบหน้าของหญิงชาวมุสลิมมาก่อนด้วย
“ในสวิตเซอร์แลนด์ ประเพณีของเราคือการเปิดเผยใบหน้า นี่คือสัญลักษณ์ของเสรีภาพพื้นฐานของเรา” Walter Wobmann โฆษกพรรค SVP กล่าวต่อว่าการคลุมหน้าเป็นสัญลักษณ์ของคน “สุดโต่ง” ทางศาสนาอิสลาม ที่กำลังมีอิทธิพลในยุโรป
สวิตเซอร์แลนด์ไม่ใช่ประเทศแรกที่มีนโยบายทำนองนี้ เพราะในฝรั่งเศสมีกฎหมายห้ามไม่ให้มีการคลุมหน้า ไม่ว่าจะเป็นชุดบรูกา หรือนิกอบมาตั้งแต่ปี 2011 ซึ่งในเวลาต่อมามีผู้หญิงมุสลิมถูกจับกุมเพราะสวมเครื่องแต่งกายปิดบังใบหน้าหลายคน จนเป็นที่เรียกร้องว่าเป็นการเลือกปฏิบัติทางศาสนาอย่างรุนแรง
ต่อมาในเนเธอร์แลนด์ได้ผ่านกฎหมายลักษณะเดียวกันในปี 2018 โดยห้ามสวมชุดบรูกาในที่สาธารณะ เช่นเดียวกันประเทศในยุโรป เช่น เยอรมนี เบลเยียม และเดนมาร์ก
ตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ภาพลักษณ์ความ “รุนแรง” ของชาวมุสลิมเพิ่มสูงขึ้นในหลายพื้นที่ จากเหตุการณ์ความรุนแรงหลายครั้ง แต่คำถามคือกฎหมายที่ห้ามปกปิดใบหน้าจะยิ่งเป็นการกีดกันทางศาสนา และสร้างภาพลักษณ์ที่ไม่ดีและความเกลียดชังให้เพิ่มขึ้นในกลุ่มมุสลิมหรือไม่
เสรีภาพของหญิงมุสลิม

กลุ่มหญิงมุสลิมประท้วง ‘ละเมิดสิทธิของผู้หญิงรวมถึงเสรีภาพ’ | NYT
องค์กรสิทธิมนุษยชน Amnesty International ก็ได้ออกมาต่อต้านการแบนผ้าคลุมหน้าดังกล่าว เพราะถือว่าเป็นนโยบายที่ละเมิดสิทธิของผู้หญิงรวมถึงเสรีภาพในการแสดงออกทางศาสนาด้วย
ในยุโรปมีหลากหลายความคิดเห็นเกี่ยวกับการคลุมใบหน้าของหญิงมุสลิม หลายคนมองว่าเป็นข้อบังคับทางศาสนาที่ “สุดโต่ง” และกดทับเสรีภาพของผู้หญิงมากเกินไปในการต้องปกปิดใบหน้าในที่สาธารณะ รวมถึงมองว่าหญิงมุสลิมควรมีเสรีภาพพื้นฐานในการแต่งกายและไม่ต้องปกปิดตัวตน
และการไม่ต้องคลุมหน้าเป็นการ “ปลดล็อก” เสรีภาพให้กับหญิงมุสลิมมากกว่าการละเมิดสิทธิ
แต่คำถามต่อมาขององค์กรสิทธิมนุษยชนคือเสรีภาพในการเลือกนับถือศาสนาและการแต่งการที่ชาวมุสลิม “พอใจจะสวมใส่” อาจเป็นเสรีภาพขั้นพื้นฐานมากกว่ารึเปล่า
เพราะถ้าหากว่าถูกข้อบังคับทางศาสนา “บังคับ” ให้สวมผ้าคลุมใบหน้า และต้องถูกข้อกฎหมาย “บังคับ” ให้ถอดผ้าคลุมหน้าออก
เสรีภาพของผู้หญิงมุสลิมอยู่ที่ตรงไหนกันแน่?
อ้างอิง:
- BBC. Switzerland referendum: Voters support ban on face coverings in public. https://bbc.in/3btSCcj
- CNN. Switzerland narrowly votes to ban face covering in public. https://cnn.it/30tPxCs
- CNN. The Netherlands has introduced a ‘burqa ban’ — but its enforcement is in doubt. https://cnn.it/3v7W4kv
- ไทยรัฐออนไลน์. ฝรั่งเศสผ่านกฎหมาย ห้ามหญิงมุสลิมคลุมหน้า. https://bit.ly/30otRrJ