2 Min

Facebook กำลังโดนคดี “ผูกขาดการค้า” และอาจต้องขาย Instagram และ WhatsApp

2 Min
310 Views
14 Sep 2021

Select Paragraph To Read

  • คนที่ใหญ่กว่า Facebook
  • การ “ผูกขาด” สิ่งเลวร้ายของระบบทุนนิยม

คงไม่ต้องอธิบายกันมากว่า Facebook นั้นเป็นบริษัทที่ยิ่งใหญ่ขนาดไหน แต่คำถามคือ Facebook นั้นยิ่งใหญ่กว่ารัฐบาลสหรัฐหรือไม่ นี่อาจจะเป็นอีกเรื่อง

เพราะล่าสุดในวันที่ 19 สิงหาคมที่ผ่านมา ทางกรรมาธิการการค้ากลางของสหรัฐอเมริกา (Federal Trade Commission หรือ FCT) ได้ทำการฟ้อง Facebook ฐานผูกขาดการค้า ซึ่งถ้าคดีไปถึงที่สุด Facebook อาจต้องขาย Instagram และ WhatsApp ออก

ถ้าจะเข้าใจเรื่องนี้ เราอาจต้องเข้าใจหลายมิติ

คนที่ใหญ่กว่า Facebook

ประการแรก กรรมาธิการการค้ากลางของสหรัฐอเมริกา คือ “องค์กรอิสระ” ของสหรัฐอเมริกาที่มีหน้าที่ “คุ้มครองผู้บริโภค” ไปจนถึงกำกับดูแลตลาดให้มีการแข่งขันเพื่อให้ผู้บริโภคได้ประโยชน์ที่สุด

ดังนั้น นี่คือองค์กรที่รับเงินประชาชนมาทำหน้าที่โดยตรงในการดำเนินคดีกับบริษัทที่ดำเนินการในลักษณะ “ผูกขาดการค้า

ในกรณีของ Facebook ถ้าใครตามเรื่อง ก็น่าจะพอทราบว่าตั้งแต่สมัย Trump เป็นประธานาธิบดีอเมริกา ก็เริ่มมีการ “ฮึ่ม” กับ Facebook แล้ว และรัฐบาลกลางเพิ่งมาไต่ส่วนพวกบริษัทเทคโนโลยีใหญ่ๆ ว่า “ผูกขาดตลาด” หรือไม่อย่างเข้มข้นในรอบ 2-3 ปีมานี้เอง

และทางกรรมาธิการการค้ากลางก็ฟ้องศาลว่า Facebook กำลัง “ผูกขาดตลาด” มาตั้งแต่ปลายปี 2020 แล้ว ก่อนศาลจะปัดตกไปเพราะ “หลักฐานไม่พอ” ในเดือนมิถุนายน 2021

แต่ศาลก็ให้เวลากรรมาธิการการค้ากลางไปรวบรวมหลักฐานมาฟ้องใหม่ และเดดไลน์คือ 19 สิงหาคม 2021 นี้เอง และกรรมาธิการการค้ากลางก็มาตามนัดพร้อมกับหลักฐานพร้อมมือว่า Facebook ผูกขาดตลาดจริง โดยผูกขาดตลาดมาแล้วตั้งแต่ปี 2011

ดังนั้น การซื้อ Instagram มาในปี 2012 และ Whatsapp ในปี 2014 จึงเป็นการกระทำอันมิชอบด้วยกฎหมาย และต้องขายทิ้ง

การ “ผูกขาด” สิ่งเลวร้ายของระบบทุนนิยม

หลักๆ การ “ผูกขาด” คือการมี “อำนาจเหนือตลาด” ในระดับคุมราคาสินค้าได้ ไปจนถึงกีดกันไม่ให้คนเข้ามาแข่งขันในตลาด นี่คือภาพใหญ่

และนี่คือ “เรื่องใหญ่” ที่ “ผิดกฎหมาย” ซึ่งเราก็ต้องเข้าใจ เพราะแม้ว่าบ้านเราจะมีกฎหมายนี้ที่ไม่เคยบังคับใช้จริงๆ เลย แต่ประเทศอื่นๆ เขาจริงจังกับกฎหมายนี้มาก พวกยุโรปไม่ต้องพูดถึง แต่อเมริกาที่เป็น “ประเทศทุนนิยมที่ยิ่งใหญ่ที่สุดในโลก” การ “ผูกขาด” ก็เป็นสิ่งเลวร้าย เพราะทุนนิยมที่ดีต้องเต็มไปด้วยการแข่งขัน ต้องไม่มีการผูกขาด

แต่นี่มัน Facebook เชียวนะ จะดำเนินคดีได้เหรอ? ถ้าไม่ห้ามเขา “รวมบริษัท” แต่แรก แต่มาจับเขาแยกตอนหลังนี่ได้เหรอ?

อธิบายอย่างนี้ครับ เคยได้ยินชื่อบริษัท Standard Oil ของอภิมหาเศรษฐี John D. Rockefeller ไหม?

ในปี 1911 บริษัทนี้ก็โดนคดีผูกขาดการค้าเพราะใหญ่โตมโหฬารเกินไป และผลก็คือบริษัทโดนจับแตกมาเป็น 7 บริษัทเพื่อให้ตลาดที่เคยถูกครองโดยบริษัทเดียว กลับมามีการแข่งขัน

ดังนั้น อธิบายได้ง่ายๆ เลยว่า การจับ Facebook แยกเป็นบริษัทย่อยๆ เนี่ย มันไม่ได้เกินอำนาจรัฐบาลสหรัฐ และการทำอะไรแบบเดียวกันนี้ก็เกิดขึ้นมาแล้วในอดีต

กล่าวคือ การ “ทำได้หรือไม่” ไม่ใช่คำถาม ทำได้แน่ๆ ถ้ารัฐบาลกลางสหรัฐจะเอาจริง แต่ประเด็นที่ท้าทายคือจะดำเนินคดียังไงให้ชอบธรรม สมเหตุสมผล ให้กฎหมายดูมีความศักดิ์สิทธิ์ ก่อความเป็นธรรมในสังคม

มิเช่นนั้น รัฐบาลกลางอเมริกาก็คงจะไม่ต่างจากพรรคคอมมิวนิสต์จีน ที่นึกจะเล่นงานบริษัทไหนที่ใหญ่เกินไปก็เล่นงานได้ทันที แบบไม่ต้องมีกระบวนการไต่สวนใดๆ ดังที่เกิดมาสดๆ ร้อนๆ (และทำหุ้นจีนตกเป็นแถบ)

แต่ก็นั่นแหละครับ ไม่ว่าจะเป็นโลกทุนนิยมแท้ๆ หรือโลกคอมมิวนิสต์ยุคใหม่ ก็ไม่มีใครต้องการให้มี “การผูกขาด”

ซึ่งเรื่องนี้ก็ชวนให้เราย้อนถามว่า แล้วประเทศที่ปล่อยให้มีการผูกขาดกันดื้อๆ มีการควบรวมบริษัทแบบที่เป็นไปไม่ได้แน่ๆ จนคนชินชาคิดว่านี่เป็นเรื่องปกติของโลก “ใครๆ เขาก็ทำกัน” นั้น

มันคือระบบเศรษฐกิจแบบไหนกันแน่?

 

อ้างอิง: