Select Paragraph To Read
- แยกแยะเสรีภาพสื่อจาก “โฆษณาชวนเชื่อ” ของรัฐ
- ปัญหาแบบนี้ก็มีมานานแล้ว ทำไม Facebook เพิ่งแจ้งเตือน?
ตอนนี้ถ้าใครรับข่าวสารต่างประเทศบน Facebook ก็จะเริ่มเห็นว่า Facebook มีการเขียนคำเตือนถึง “สื่อภายใต้การควบคุมของรัฐ” เช่น ใครรับข่าวจากเพจสำนักข่าว RT ก็จะขึ้นว่าเป็นสื่อที่คุมโดยรัฐบาลรัสเซีย หรือถ้ารับข่าวจาก Xinhua, People’s Daily หรือ Global Times จะระบุว่าเป็นสื่อที่คุมโดยรัฐบาลจีน ถ้ารับข่าวจาก Press TV ก็จะขึ้นว่าเป็นสื่อที่คุมโดยรัฐบาลอิหร่าน
หรือกระทั่งถ้ารับข่าวจากเพจ TV5HD1 ของ ททบ. 5 มันก็จะขึ้นว่าเป็น “สื่อที่คุมโดยรัฐบาลไทย”
บางคนอาจรู้สึกแปลกตา แต่จริงๆ นโยบายนี้เพิ่งเริ่มในระดับโลกเมื่อวันที่ 17 พฤษภาคม 2021 ที่ผ่านมานี้เอง แม้ว่าจริงๆ มันจะเริ่มในอเมริกามาราวๆ เกือบ 1 ปีแล้ว
แล้ว Facebook ทำแบบนี้ไปทำไม?
แยกแยะเสรีภาพสื่อจาก “โฆษณาชวนเชื่อ” ของรัฐ
ต้องเข้าใจก่อนว่า โลกของสื่อในมาตรฐานสังคมเสรี สื่อที่มี “เสรีภาพ” คือสิ่งสำคัญ เพราะจะสามารถรายงาน “ความจริง” ได้อย่างไม่บิดเบือน
ซึ่งแน่นอน เราก็เถียงได้ว่ามันจะมีสื่อที่ “เป็นกลาง” ขนาดนั้นอยู่ในโลกจริงๆ เหรอ?
อันนี้เป็นเรื่องที่ถกเถียงได้ว่าสื่อที่ “เสรี” ควรจะมีหน้าตาอย่างไรบ้าง แต่โดยทั่วไปในมาตรฐานสากล สื่อที่ “ไม่เสรี” แน่นอน คือสื่อที่อยู่ใต้การควบคุมของรัฐ ไม่ว่าจะเป็นสื่อที่เป็นของรัฐเต็มๆ หรือสื่อที่รัฐให้เงินสนับสนุนและส่งคนไปควบคุมในคณะกรรมการ
ตัวอย่างง่ายๆ สมมติว่ามีเหตุขัดแย้งทางการเมืองบนท้องถนน แน่นอนเราก็คงจะเห็นว่ารัฐก็พยายามจะปกปิดข้อมูลว่าตัวเองทำร้ายประชาชนแค่ไหน และถ้าเราเอาแต่เสพ “สื่อของรัฐ” ในความขัดแย้งระหว่างประชาชนกับรัฐ สิ่งที่เราเสพมันก็เป็นเพียงแค่ “โฆษณาชวนเชื่อ” ของรัฐเท่านั้น
นี่คือตัวอย่างเบสิกเลยว่าทำไม “สื่อภายใต้การควบคุมของรัฐ” ถึงอันตราย และ “ไม่น่าเชื่อถือ” เวลารายงานเรื่องความขัดแย้งทางการเมืองในประเทศ
ปัญหาแบบนี้ก็มีมานานแล้ว ทำไม Facebook เพิ่งแจ้งเตือน?
ประเด็นนี้ต้องย้อนไปการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกาในปี 2016 ที่ทำให้ Donald Trump ได้เป็นประธานาธิบดี
ช่วงนั้น คนอเมริกันจำนวนมากเชื่อว่าทางรัสเซียมีการเอาเงินอัดฉีดสื่อต่างๆ เพื่อแทรกแซงผลการเลือกตั้งจริงๆ และก็มีการสืบสวนประเด็นนี้มาตลอดสมัยของประธานาธิบดี Trump
ซึ่งแพลตฟอร์มที่ถูกกล่าวโทษจริงๆ ที่เอื้ออำนวยให้เกิดสิ่งเหล่านี้ก็คือ Facebook เพราะการปล่อยให้มี “เสรีภาพสื่อ” ในแง่ของการไม่ควบคุมใดๆ ของ Facebook กลับทำให้ “ต่างชาติ” สามารถส่งอิทธิพลต่อความเห็นสาธารณะของคนอเมริกันได้ ในระดับที่สามารถพลิกผลประธานาธิบดีได้ (เพราะ Trump ก็ชนะ Hillary Clinton แบบฉิวเฉียดจริงๆ)
ดังนั้น คนอเมริกันไม่ต้องการให้เหตุการณ์เหล่านี้ “ซ้ำรอย” ขึ้นในการเลือกตั้งปี 2020 และสุดท้าย Facebook ก็เลยขึ้น “คำเตือน” ชัดๆ ว่าสื่อเจ้าไหนถูกคุมด้วยรัฐบาล “ต่างชาติ” (ทั้งนี้ในอเมริกา ไม่มีสื่อเจ้าไหนถูกคุมโดยรัฐบาล) โดยการแสดงผลนี้ จะแสดงให้ผู้ใช้ Facebook ในอเมริกันเห็นเท่านั้น เพื่อให้คนรู้เท่าทันว่ามี “สื่อต่างชาติ” เจ้าไหนพยายาม “ปั่น” ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดี
บางฝ่ายอาจมองว่า ความพ่ายแพ้ของ Donald Trump ในการเลือกตั้งปี 2020 เพราะเขาไม่ได้มี “ตัวช่วย” ปั่นกระแสทำลายฝั่งตรงข้ามแบบตอนปี 2016 ก็ได้ แม้ว่าหลายๆ ฝ่ายจะมองว่าจริงๆ เขามา “ตาย” เพราะเขาทำให้คนอเมริกันที่เลือกเขาผิดหวังในการจัดการกับการระบาดของ COVID-19 มากกว่า เพราะสุดท้ายความตายและการตกงานที่เกิดขึ้นมันของจริง ไม่สามารถบิดเบือนด้วยวาทศิลป์ใดๆ
แต่ก็นั่นแหละครับ มรดกของกระบวนการระบุว่าสื่อไหนถูกคุมโดยรัฐบาลประเทศต่างๆ ในที่สุดก็ออกมาสู่ชาวโลกในที่สุดหลังจากที่มันออกมาในอเมริกาเกือบ 1 ปี ดังที่เราเห็นนี่เอง
อ้างอิง:
- NPR. Facebook Begins Labeling ‘State-Controlled’ Media. https://n.pr/34rjeGk
- Techcrunch. Facebook adds labels identifying state-controlled media. https://tcrn.ch/3usku6R
- Facebook. Labeling State-Controlled Media On Facebook. https://bit.ly/3wGMyoG
- RT. https://www.facebook.com/RTnews
- China Xinhua News. https://bit.ly/3hVI0Xe
- People’s Daily, China. https://bit.ly/3yGoDr4
- Global Times. https://bit.ly/3fsLzlU
- Press TV. https://bit.ly/3wCcphk
- TV5HD1. https://bit.ly/3bZAnLL