F4 Thailand เรื่องวุ่นๆ ของเด็กมัธยมปลาย กับความโหดร้ายของการบูลลี่ในโรงเรียน

5 Min
1742 Views
10 Feb 2022

*Disclaimer – มีการสปอยล์เนื้อหาบางส่วน*

หากพูดถึงซีรีส์ยอดนิยมในฝั่งเอเชีย หลายคนคงคุ้นหูกับ ‘Boys Over Flowers’ หรือที่รู้จักกันในชื่อ ‘F4’ ซึ่งเป็นซีรีส์ที่ดังมากในยุค 2000s จนเป็นกระแส F4 ฟีเวอร์ทั่วเอเชีย เป็นเรื่องราวความรักวุ่นๆ ของ F4 หนุ่มหล่อบ้านรวย 4 คนกับหญิงสาวนักเรียนทุนธรรมดาที่ชีวิตต่างจากหนุ่มๆ 4 คนนั้นอย่างสิ้นเชิง

เด็กรุ่นใหม่ที่เกิดไม่ทันยุคก่อนหน้า อาจเข้าใจว่า F4 เป็นซีรีส์เรื่องเดียวกัน แต่แท้จริงแล้ว F4 นั้นถูกรีเมคมาแล้วหลายครั้งในหลายประเทศ ซึ่งเวลาพูดถึง F4 ก็จะต้องพูดต่อว่าใครเป็นคนแสดงหรือของประเทศไหนเพื่อป้องกันความสับสน

จุดเริ่มต้นของ F4 นั้นมาจากมังงะเรื่อง ‘Hana Yori Dango’ ที่เขียนขึ้นตั้งแต่ปี 1992 โดยอาจารย์โยโกะ คามิโอะ (Yōko Kamio) เป็นหนึ่งในมังงะโชโจะที่ขายดีที่สุดในญี่ปุ่น และแปลเป็นภาษาไทยโดยใช้ชื่อว่า ‘สาวแกร่งแรงเกินร้อย’

ความฮิตของมังงะเรื่องนี้ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม จนถูกหยิบยกไปถ่ายทอดในรูปแบบซีรีส์หลายครั้ง โดยเฉพาะในแถบเอเชีย ซึ่งเวอร์ชันที่คนรู้จักกันทั่วบ้านทั่วเมืองได้แก่ Meteor Garden รักใสใสหัวใจ 4 ดวง (2001) จากไต้หวัน Hana Yori Dango รักใสหัวใจเกินร้อย (2005) จากญี่ปุ่น และ Boys Over Flowers รักฉบับใหม่หัวใจ 4 ดวง (2009) จากเกาหลีใต้

ซีรีส์ที่เกี่ยวโยงกับมังงะเรื่องนี้ถูกคนดูจำนวนมากยกย่องว่า ‘คลาสสิก’ แต่ในช่วงปี 2020 ที่ผ่านมา มีข่าวว่าจะรีเมค F4 เป็นเวอร์ชันไทย นั่นทำให้โลกโซเชียลในขณะนั้นลุกเป็นไฟจนเกิดเป็นแฮชแท็ก #แบนF4 ขึ้นมา โดยผู้ที่คัดค้านบอกว่าเป็นเพราะโครงเรื่องหลักเต็มไปด้วยความรุนแรง เป็นแบบอย่างที่ไม่เหมาะสมต่อเยาวชน โดยเวอร์ชันก่อนหน้าก็มีภาพจำความโหดร้ายหลายฉาก ยกตัวอย่างเช่น

  • เวอร์ชันไต้หวัน (2001) นางเอกโดนคนของพระเอกลักพาตัว พระเอกคุกคามทางเพศนางเอกด้วยการจูบโดยที่เธอไม่ยินยอมจนเธอถึงกับร้องไห้อ้อนวอนขอให้หยุด
  • เวอร์ชันญี่ปุ่น (2005) นางเอกถูกใส่ร้ายว่าท้องและโดนหาว่าสำส่อน
  • เวอร์ชันเกาหลีใต้ (2009) นางเอกถูกคนในโรงเรียนรุมปาไข่และสาดแป้งใส่ โดนรุ่นน้องของพระเอกฉุด โดนเผาจักรยานทิ้ง
  • เวอร์ชันจีน (2018) พระเอกโมโหและเอากล่องข้าวตบหน้านางเอกอย่างแรงจนทั้งตัวเต็มไปด้วยอาหารซึ่งพระเอกทำเพียงมองเธออย่างรังเกียจ

แต่ผลสุดท้ายก็มีออกอากาศ ‘F4 Thailand: หัวใจรักสี่ดวงดาว’ ในเดือนธันวาคม 2021 ซึ่งมีการระบุว่าได้ปรับบทให้เบาลงแล้ว ปัจจุบัน F4 เวอร์ชันไทยฉายจนถึงตอนที่ 7 ก็เกิดประเด็นที่โลกโซเชียลวิจารณ์อย่างหนักขึ้นมาจนได้ หลังจากผู้ใช้ทวิตเตอร์ชาวต่างชาติรายหนึ่งทวีตฉากพระเอกทำลายข้าวของและง้างมือจะต่อยนางเอก (แต่สุดท้ายไม่ได้ต่อย) แต่ก็ยังถือเป็นพฤติกรรมที่ทำให้เกิดข้อถกเถียงกันว่าในยุค 2022 นี้แล้วยังควรจะมีพระเอกที่ชอบใช้ความรุนแรงมากแบบนี้อยู่อีกหรือ รวมถึงบทก็ยังมีความไม่สมเหตุสมผลหลายอย่าง

จากที่ได้ชมซีรีส์เรื่องนี้อย่างละเอียดทั้ง 7 ตอนพบว่าโครงเรื่องหลักได้เอาเหตุการณ์ของซีรีส์ 3 เวอร์ชันดังมารวมกัน ซึ่งโดยรวมก็ยังคงเหมือนเวอร์ชันก่อนๆ หากมองในแง่ดีก็อาจมองได้ว่าเป็นการสะท้อนความบิดเบี้ยวของสังคม โดยเฉพาะการบูลลี่ (Bullying) หรือการกลั่นแกล้งกันในโรงเรียน

คนที่มีอิทธิพลที่สุดในโรงเรียน มีอำนาจชี้เป็นชี้ตาย?

สมาชิกกลุ่ม F4 ในซีรีส์ได้ชื่อว่ามีอิทธิพลที่สุดในโรงเรียน แต่ละคนมีประวัติที่ไม่ธรรมดา ทั้งรูปร่างหน้าตา เงินทอง และชื่อเสียง ด้วยความ ‘เหนือกว่า’ และ ‘มีอำนาจกว่า’ ทำให้ใครต่อใครเห็นก็ไม่กล้าขัดถ้าไม่อยากซวยโดยใช่เหตุ หนุ่มๆ F4 จึงเป็นผู้นำที่แค่พูดออกมาคำเดียว คนทั้งโรงเรียนก็พร้อมจะทำตามคำสั่ง กลุ่ม F4 จึงเป็นการสะท้อน ‘อำนาจนำของความเป็นชาย’ (Hegemonic masculinity)

จะเห็นได้ว่าสมาชิก F4 แต่ละคนได้ถ่ายทอด ‘ความเป็นลูกผู้ชาย’ ในอุดมคติ (หรือมายาคติ?) ทั้ง 4 รูปแบบไว้อย่างสุดโต่ง ซึ่งตอกย้ำเรื่องชนชั้นในโรงเรียน ความไม่เห็นใครในสายตาของตัวละคร ทั้งยังสะท้อนแนวคิดบทบาททางเพศของเพศชายกับการเป็นผู้นำ ซึ่งสิ่งเหล่านี้เอื้อประโยชน์และสร้างอำนาจให้กับเพศชายทั่วไปด้วย หากเปรียบเทียบกับความเป็นจริงในสังคม F4 ก็ไม่ได้ต่างอะไรจากหัวโจกที่ใช้อภิสิทธิ์ (Privilege) ที่ตัวเองมีอยู่กดทับคนที่ด้อยกว่า ถึงบางครั้งจะไม่ได้ลงไม้ลงมือด้วยตัวเองก็จริง แต่ก็เป็นต้นตอของเรื่องทุกอย่างที่เกิดขึ้นจนทำให้สังคมในโรงเรียนมีสภาพเละเทะอย่างที่เห็นในซีรีส์

เกมใบแดง เรื่องสนุกของผู้กุมอำนาจนำ

สังคมในโรงเรียนนี้ปลอมเปลือกมาก ข้างนอกดูดีมีชื่อเสียงแต่ข้างในกลับเต็มไปด้วยเรื่องฉาว นักเรียนในโรงเรียนส่วนใหญ่สนับสนุนความรุนแรงจนดูเป็นเรื่องปกติ ไม่มีใครคิดจะห้ามหรือไม่มีใครคิดจะต่อต้าน ‘เกมใบแดง’ เลย เกมใบแดงมีกติกาอยู่ว่าใครก็ตามที่โดน F4 ติดใบแดงไว้ที่ตู้ล็อกเกอร์จะโดนคนในโรงเรียนทำอะไรก็ได้จนกว่า F4 จะสั่งยกเลิกใบแดง คนที่โดนติดใบแดงก็จะโดนแกล้งสารพัดจนทนอยู่ในโรงเรียนไม่ได้อีกต่อไป ประเด็นนี้เป็นสาเหตุหลักที่หลายคนไม่อยากให้มีการรีเมคซีรีส์เรื่องนี้ขึ้นมาอีก เนื่องจากเด็กนักเรียนหลายคนต่างก็เขียนเจ็บปวดกับการโดนแกล้งในโรงเรียนกันทั้งนั้น

ผลสำรวจพบว่าประเทศไทยมีการใช้ความรุนแรงบูลลี่กันติดอันดับ 2 ของโลกและเด็กไทยกว่า 91.79 เปอร์เซ็นต์เคยถูกกลั่นแกล้งมาก่อน แน่นอนว่ามันสร้างบาดแผลทางร่างกายและใจต่อเหยื่อที่โดนกระทำ คนจึงมองว่ามันเป็นพฤติกรรมไม่หมาะสมที่ไม่ควรถ่ายทอดออกมาเลย ถึงแม้ว่าจะมีการปรับบทแล้วก็ยังมีการใช้กำลังทั้ง การพยายามจะล่วงละเมิดทางเพศ (ฉากฉีกเสื้อนางเอก) การใส่ร้ายป้ายสีต่างๆ และการปล่อยให้ตัวละครหลักมีพฤติกรรมแบบนี้ อาจไม่ต่างจากการบอกอ้อมๆ ว่าคนที่ละเมิดผู้อื่นก็ยังสามารถเป็น ‘พระเอก’ ได้ และอาจถูกตีความอย่างผิดๆ ได้ว่าเรื่องแบบนี้เป็นสิ่งที่สังคม ‘ยอมรับได้’

นิสัยเสียแค่ไหน ก็ยังได้เป็น ‘พระเอก’?

พระเอกของซีรีส์เรื่องนี้มีนิสัยรุนแรง ชอบดูถูกคน และชอบใช้เงินและอำนาจในมือทำอะไรตามใจ ถึงแม้เรื่องจะปูมาว่าพระเอกเป็นเด็กมีปัญหาและขาดความอบอุ่นจากครอบครัว แต่นั่นก็ไม่ใช่เหตุผลอันชอบธรรมที่จะทำให้เขามีสิทธิไปทำร้ายคนอื่นได้ ฉากที่โดนวิจารณ์ดังกล่าวก็เกิดจากนิสัยแย่ๆ ของพระเอกทั้งนั้น แล้วพระเอกโหดเถื่อนชอบใช้กำลัง (Abuser) เป็นสิ่งที่ล้าหลังมากในยุคนี้ที่คนมีความตระหนักรู้เรื่องความเป็นชายเป็นพิษ (Toxic masculinity) กันมากขึ้น มันจึงดูสวนทางกับการรณรงค์ในปัจจุบัน 

ทั้งนี้ F4 Thailand ได้ดำเนินเรื่องมาเพียงครึ่งทางเท่านั้น ผู้ชมก็ต้องติดตามกันต่อไปว่าฉากจบของเวอร์ชันนี้จะเป็นอย่างไร ตัวละครจะมีการปรับปรุงตัวหรือไม่ อย่างไรก็ตาม หาก F4 จะเป็นซีรีส์สะท้อนสังคมไทย ที่มุ่งหวังจะสร้างความเปลี่ยนแปลงในทางที่ดีขึ้น ตัวละครก็ควรจะต้องรับผิดชอบหรือชดใช้สิ่งที่ตัวเองก่อไว้อย่างสาสม

อ้างอิง

  • viu. F4 Thailand : หัวใจรักสี่ดวงดาว BOYS OVER FLOWERS. https://bit.ly/3LnID84
  • วิกิพีเดีย. F4 Thailand: หัวใจรักสี่ดวงดาว. https://bit.ly/3oC89N8
  • Wikipedia. Boys Over Flowers. https://bit.ly/3J568RA
  • Twitter. รวมฉากความรุนแรง F4. https://bit.ly/3GAYI72
  • Twitter. ฉากที่โดนวิจารณ์. https://bit.ly/3LgBVkx
  • ศูนย์มานุษยวิทยาสิรินธร. รื้อสร้างมายาคติ “ความเป็นชาย” ในสังคมไทย – เราจะศึกษา “ความเป็นชาย” อย่างไร. https://bit.ly/3GwkPeR
  • คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย. ความเป็นชาย (ส์) หลากมิติ: การสร้างความรู้ การถือครองอำนาจ และการเป็นอื่น. https://bit.ly/3gAtS3U
  • ศูนย์ข้อมูลและข่าวสืบสวนเพื่อสิทธิพลเมือง. พบเด็กไทยเสี่ยงภัย ‘ถูกกลั่นแกล้ง’ ทั้งใน ‘ห้องเรียน-โลกออนไลน์’. https://bit.ly/3383T0x