2 Min

‘นมหมดอายุ’ ไม่ต้องดูวันที่ ‘ควรบริโภค’ ห้างในอังกฤษเสนอใช้วิธี ‘ดมกลิ่น’ แทน เพราะอะไร?

2 Min
7374 Views
28 Jan 2022

หลังจากสำนักข่าวบีบีซีรายงานว่า มอร์ริสันส์ (Morrisons) ซูเปอร์มาเก็ตรายใหญ่ที่มีสาขาทั่วไปในสหราชอาณาจักรประกาศจะเลิกใช้คำว่า ‘บริโภคก่อนวันที่…’ (Use-by) บนฉลากผลิตภัณฑ์นมภายใต้
แบรนด์มอร์ริสันส์ในสิ้นเดือนมกราคม 2022 เพื่อเป็นส่วนหนึ่งในการลด ‘ปัญหานมเหลือทิ้ง’ ที่ต้องกำจัดไปเป็นล้านลิตรในอังกฤษโดยไม่จำเป็นในแต่ละปี 

อย่างไรก็ดี บนขวดนมจะยังมีคำว่า Best before ตามด้วย ‘วันที่’ เพื่อบอกว่านมจะคงรสชาติและมีคุณค่าทางโภชนาการตามที่ควรจะเป็นก่อนถึงวันที่ระบุบนบรรจุภัณฑ์ และหลังจากนั้นรสชาติก็อาจเปลี่ยนแปลงไปตามเวลา 

แล้วทีนี้จะตรวจสอบคุณภาพของนมว่า ‘บูด’ ได้อย่างไร 

ทางมอร์ริสันส์เองแนะนำให้ใช้ ‘การดม’ โดยนำขวดนมมาไว้ที่จมูกแล้วดมกลิ่น ถ้าเสียจะมีกลิ่นเปรี้ยวก็บอกได้ว่าอาจจะบูด อีกทั้งถ้าพบลักษณะมีความข้นหรือเกาะตัวกัน ก็เป็นสัญญาณหนึ่งที่บอกได้ว่าไม่ควรบริโภคแล้วนั่นเอง พร้อมกับแนะนำว่าเมื่อเปิดรับประทานแล้วแต่ไม่หมดในครั้งเดียว ให้ปิดฝาขวดให้แน่นและแช่ตู้เย็น โดยพยายามไม่นำออกมานอกตู้เย็นนานเกินไป

หลายคนอาจจะสงสัยว่าทำไมถึงต้องเปลี่ยนคำว่า use-by เป็น best before

เนื่องจากข้อมูลพบว่า นมกลายเป็นอาหารที่ถูกทิ้งมากที่สุดเป็นอันดับ 3 ในอังกฤษ รองจากมันฝรั่งและขนมปัง อีกทั้งในแต่ละปีมีการเทนมทิ้งกว่า 330,000 ตัน และคาดว่าภาคครัวเรือนทั้งหมดมีการทิ้งนมรวมกันราว 490 ล้านไพนต์ต่อปี (1 ไพนต์ เท่ากับ 568 มิลลิลิตร) โดยพิจารณาจาก ‘วันหมดอายุ’ หรือที่พิมพ์ไว้ด้วยการระบุคำว่า use-by หรือ expired date บนฉลาก เพราะมีงานวิจัยยืนยันว่านมยังสามารถดื่มได้หลังจากวันหมดอายุที่ระบุเอาไว้ แต่คนมักทิ้งทันทีเมื่อเห็นว่าถึงวันหมดอายุแล้ว ทั้งที่จริงก็ยังสามารถเก็บไว้บริโภคได้อีกหลายวันถัดมาก็ตาม

มอร์ริสันจึงหวังว่าการเปลี่ยนวันหมดอายุเป็นคำว่า Best Before จะเปลี่ยนการรับรู้ของผู้บริโภคให้เข้าใจว่าผลิตภัณฑ์นั้นแม้จะไม่สดใหม่เหมือนเดิม แต่ก็ยัง ‘กินได้’ ซึ่งเชื่อว่าจะสามารถกระตุ้นให้ทุกคนกินนมอย่างคุ้มค่ามากที่สุด ขณะเดียวกันก็ลดการเหลือทิ้งซึ่งก่อให้เกิดขยะน้อยที่สุด เพื่อไม่นำไปสู่ ‘ปัญหาขยะอาหาร’ อีกหนึ่งปัญหาใหญ่ใกล้ตัวที่ส่งผลกระทบด้านลบต่อมนุษย์และสิ่งแวดล้อม 

ทั้งนี้ ขยะอาหารมีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตลอดทุกปี ซึ่งสาเหตุนั้นไม่ได้เกิดมาจากแค่อาหารเหลือจากครัวเรือนเพียงอย่างเดียว แต่ยังรวมไปถึงตั้งแต่กระบวนการผลิตและการขนส่ง ไม่ว่าจะเป็นฟาร์ม ซูเปอร์มาร์เก็ต ตลาด โรงแรม หรือร้านอาหาร กระทั่งคาเฟ่ 

ข้อมูลจากองค์การกองทุนสัตว์ป่าโลกสากล (WWF) พบว่า แต่ละปีมีขยะอาหารทั่วโลกมากกว่า 2.5 พันล้านตัน อาหาร 40 เปอร์เซ็นต์ ถูกทิ้งเป็นขยะ ขณะที่ประเทศไทยสร้างขยะ 27 – 28 ล้านตันต่อปี โดยกว่าครึ่งหนึ่งเป็นขยะที่มาจากอาหารทั้งบริโภคไม่หมด และวัสดุที่ใช้ประกอบอาหาร

จุดบกพร่องที่เป็นปัญหาของไทยเลยคือ การนำขยะอาหารไปฝังกลบด้วยวิธีที่ไม่ถูกต้อง ซึ่งเป็นการเพิ่มภาวะเรือนกระจก อีกทั้งยังขาดระบบการคัดแยกขยะที่ดี จึงทำให้มีขยะมูลฝอยตกค้างจำนวนมาก 

แน่นอนว่าสิ่งที่เกิดขึ้นได้ก่อให้ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมจากการปนเปื้อนมลพิษจากขยะสู่ดิน แหล่งน้ำทั้งบนดินและใต้ดินเป็นแหล่งเพาะพันธุ์สัตว์พาหะนำโรค ตลอดจนส่งผลต่อภาวะโลกร้อนจากก๊าซมีเทนที่เกิดขึ้นจากกองขยะมูลฝอยอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม การจัดการปัญหาซึ่งเริ่มได้ด้วยตัวเองเลยก็คือ การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการกินอาหารที่เกินความจำเป็น และฝั่งกลุ่มผู้ผลิตทั้งหลายก็ต้องช่วยลดความสูญเสียอาหารที่เกิดจากกระบวนการผลิต ก็จะสามารถช่วยลดผลกระทบกับสิ่งแวดล้อมที่เรากำลังเผชิญหน้าอยู่ในขณะนี้ได้

อ้างอิง

  • BBC. Morrisons scraps ‘use by’ date on milk in favour of sniff test. https://bbc.in/3rLYXqu
  • The Guardian. ‘Use the sniff test’: Morrisons to scrap ‘use-by’ dates from milk packaging. https://bit.ly/3rKjsnu
  • BankokBiz News. ‘ขยะอาหาร’ ตัวการ ‘ภาวะโลกร้อน’ ที่หลายคนมองข้าม. https://bit.ly/3IAC67Q
  • ERDI. มลพิษจากขยะเศษอาหาร. https://bit.ly/3FZfSdW