EXIM BANK เตือน SMEs รับมือเศรษฐกิจโลกปีหน้าผันผวน และมาตรการการค้าใหม่ด้านสิ่งแวดล้อม แนะปรับตัวให้เร็วเพื่อความอยู่รอด

8 Min
418 Views
09 Nov 2023

เข้าสู่ช่วงโค้งสุดท้ายของปี 2566 ที่มีความชัดเจนว่า ในปีนี้ภาคการส่งออกไม่สามารถเป็นแกนนำในการผลักดันให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้เต็มศักยภาพ เนื่องจากเจอสารพัดปัจจัยลบในต่างประเทศรุมเร้า ทั้งปัญหาดอกเบี้ยในตลาดโลกปรับตัวเป็นขาขึ้นอย่างต่อเนื่อง ราคาพลังงานปรับสูงขึ้นตลอดทั้งปี เป็นผลกระทบต่อเนื่องมาจากปัญหาภูมิรัฐศาสตร์ กดดันการขยายตัวของเศรษฐกิจโลก 

ซึ่งจากรายงานแนวโน้มเศรษฐกิจโลก (World Economic Outlook) กองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) คาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกปี 2566 ที่ระดับ 3 เปอร์เซ็นต์ ไม่เปลี่ยนแปลงจากการคาดการณ์เดิม แต่ปรับลดการคาดการณ์ปี 2567 ลงจากเดิม 3.0 เปอร์เซ็นต์ เหลือ 2.9 เปอร์เซ็นต์ 

IMF ระบุว่า การคาดการณ์ทางเศรษฐกิจบ่งชี้ถึงการชะลอตัวลงอย่างค่อยเป็นค่อยไป (Soft Landing) แต่ IMF กังวลเกี่ยวกับความเสี่ยงที่เกี่ยวข้องกับวิกฤตอสังหาริมทรัพย์ในจีน ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่ผันผวน ความแตกแยกทางภูมิรัฐศาสตร์ และอัตราเงินเฟ้อที่สูงขึ้นอีกครั้ง จึงปรับลดการคาดการณ์การขยายตัวของเศรษฐกิจโลกในปี 2567 ลงเหลือ 2.9 เปอร์เซ็นต์

 ส่งออกปี 2567 ฟื้น ช่วยดันให้เศรษฐกิจไทยขยายตัว

ดร.รักษ์ วรกิจโภคาทร กรรมการผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการส่งออกและนำเข้าแห่งประเทศไทย (EXIM BANK) กล่าวว่า แม้หลายหน่วยงานจะมองตรงกันว่าเศรษฐกิจโลกในปีหน้ามีแนวโน้มชะลอตัวจากปัจจัยเดิมๆ แต่ดัชนีชี้นำการส่งออกไทย (EXIM Index) เริ่มมีการขยับไปในทิศทางที่ดีขึ้น 

โดยล่าสุด EXIM Index ณ สิ้นไตรมาส 3 ปี 2566 ปรับเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่ระดับ 100.04 จาก 99.6 ในไตรมาสก่อนหน้า นับเป็นครั้งแรกในรอบ 4 ไตรมาสที่ดัชนีมีค่ามากกว่า 100 สะท้อนมูลค่าการส่งออกของไทยในไตรมาสถัดไปคือ ไตรมาส 4 ปี 2566 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัวได้เป็นครั้งแรกในรอบ 5 ไตรมาส ซึ่งโมเมนตัมการส่งออกที่มีสัญญาณดีขึ้นตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 2566 เป็นต้นไป จะช่วยหนุนให้การส่งออกปี 2567 มีแนวโน้มกลับมาขยายตัว และกลายเป็นเครื่องยนต์สำคัญในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจไทยได้อีกครั้ง 

“การส่งออกจะพลิกกลับมาเติบโตได้ กลายเป็นดาวอุปถัมภ์เศรษฐกิจไทยอย่างโดดเด่นได้ เนื่องจากได้รับปัจจัยบวกจากราคาส่งออกเพิ่มขึ้น สินค้าการเกษตรได้รับผลบวกจากเอลนีโญ ราคาสินค้าที่เกี่ยวข้องกับน้ำมันสูงขึ้น ปัญหาด้านอุปทานคลี่คลาย ค่าระวางเรือลดลง สถานการณ์ขาดแคลนชิปดีขึ้น ความต้องการสินค้าไทยยังมีโดยเฉพาะในกลุ่มสินค้าเกษตรและอาหารได้รับผลบวกจาก Food Security” ดร.รักษ์ กล่าว 

ท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของโลกที่ผ่านมา ไทยมีโอกาสในการเจาะตลาดการค้าการลงทุน กรณี Trade War ระหว่างสหรัฐฯ และจีน ช่วยเพิ่มโอกาสการลงทุนในไทยจากการย้ายฐานการผลิตออกจากจีน เพื่อกระจายความเสี่ยง ส่วนความขัดแย้งรัสเซีย-ยูเครน ซึ่งทำให้เกิดวิกฤตราคาอาหารและพลังงาน ส่งผลให้ราคาสินค้าเกษตรของไทยสูงขึ้นตามไปด้วย ส่วนสถานการณ์สงครามอิสราเอลและฮามาสยังต้องรอติดตามดู โดยปัจจุบันราคาน้ำมันและทองคำปรับตัวสูงขึ้น หากสถานการณ์ยืดเยื้ออาจเป็น New Wave ของปัญหาเงินเฟ้อได้ 

เตือนผู้ส่งออกรับมือการกีดกันทางการค้าผ่านมาตรการสิ่งแวดล้อมที่เข้มงวด

ดร.รักษ์ กล่าวว่า แม้การส่งออกไทยในปี 2567 ดูจะมีแนวโน้มดีขึ้น แต่ก็ยังมีความท้าทายใหม่ที่ผู้ส่งออกต้องเผชิญอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ นั่นคือ สารพัดมาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่นานาประเทศต่างหยิบยกขึ้นมาใช้อย่างเข้มงวดขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งในขณะนี้มีการออกมาแล้วราว 17,000 มาตรการ และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นปีละกว่า 10 เปอร์เซ็นต์ ทั้งมาตรการตามความสมัครใจอย่างการติดฉลากสิ่งแวดล้อม (Ecolabel) สำหรับสินค้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม เช่น มีกระบวนการผลิตที่ประหยัดพลังงาน ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ ใช้พลังงานหมุนเวียน และนำของเสียจากกระบวนการการผลิตมาใช้ซ้ำ 

และมาตรการบังคับใช้ ไม่ว่าจะเป็นการห้ามใช้สารคลอโรฟลูออโรคาร์บอน (CFC) ซึ่งเป็นสารทำความเย็นในเครื่องปรับอากาศ ตู้เย็น และอุตสาหกรรมเครื่องทำความเย็นต่างๆ เนื่องจากสาร CFC มีผลทำลายโอโซนในชั้นบรรยากาศ รวมถึงการห้ามใช้พลาสติกชนิดใช้ครั้งเดียวแล้วทิ้ง เพื่อลดปริมาณขยะพลาสติกที่กำลังเป็นปัญหาใหญ่ของทั้งโลก

“มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมที่กำลังถูกจับตามองอย่างมากในขณะนี้ คือ การเก็บภาษีคาร์บอน ซึ่งมีแนวโน้มจะถูกนำไปใช้ในหลายประเทศ เพื่อเป็นหนึ่งในเครื่องมือที่จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายในการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิของประเทศให้เป็นศูนย์ (Net Zero GHG Emissions) รวมทั้งเพื่อปกป้องผู้ผลิตในประเทศไม่ให้เสียเปรียบผู้ผลิตจากต่างประเทศที่มาตรการด้านสิ่งแวดล้อมมีความเข้มงวดน้อยกว่า”  ดร.รักษ์ กล่าว 

 ประเทศคู่ค้าสำคัญของไทยที่ใช้มาตรการภาษีคาร์บอนแล้ว คือ สหภาพยุโรป (EU) ที่เริ่มใช้มาตรการ CBAM (Carbon Border Adjustment Mechanism) กับสินค้า 6 ประเภท ได้แก่ เหล็กและเหล็กกล้า อะลูมิเนียม ซีเมนต์ ปุ๋ย กระแสไฟฟ้า และไฮโดรเจน ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม 2566 ซึ่งยังเป็นช่วงเปลี่ยนผ่าน โดยผู้นำเข้าสินค้า 6 ประเภทดังกล่าวมา EU ต้องรายงานข้อมูลการปล่อยคาร์บอน ทั้งทางตรงและทางอ้อมของสินค้าแก่ EU ทุกไตรมาส แต่ยังไม่ต้องเสียภาษีคาร์บอนไปจนกระทั่ง EU เริ่มบังคับใช้มาตรการ CBAM เต็มรูปแบบ ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2569 เป็นต้นไป ซึ่งผู้นำเข้าสินค้าที่อยู่ภายใต้มาตรการ CBAM จะต้องเริ่มจ่ายภาษีคาร์บอนผ่านการจ่ายค่าธรรมเนียมใบรับรอง CBAM (CBAM Certificate) ภายในวันที่ 31 พฤษภาคม ของทุกปี 

โดยจะคิดจากปริมาณการปล่อยคาร์บอนของสินค้าที่นำเข้า คูณด้วยราคาเฉลี่ยรายสัปดาห์ของการซื้อขายใบอนุญาตปล่อยก๊าซเรือนกระจกในตลาดคาร์บอนของ EU หักด้วยราคาคาร์บอนที่ชำระในประเทศผู้ผลิตแล้ว หรือหักด้วยปริมาณการปล่อยก๊าซเรือนกระจก (Free Allowances) ตามสัดส่วนที่ EU กำหนด

ดร.รักษ์ กล่าวต่อไปว่า ยังมีกฎหมายว่าด้วยสินค้าที่ปลอดจากการตัดไม้ทำลายป่า (EU Deforestation Regulation: EUDR) ที่มีวัตถุประสงค์เพื่อห้ามการนำเข้าหรือส่งออกสินค้าที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับการทำลายป่าไม้เข้าสู่ตลาด EU โดยครอบคลุมสินค้าโค-กระบือ โกโก้ กาแฟ ปาล์มน้ำมัน ยางพารา ถั่วเหลือง และไม้ รวมถึงผลิตภัณฑ์บางชนิดจากสินค้าเหล่านี้ ซึ่งปัจจุบันยังอยู่ในช่วงระยะเวลาเปลี่ยนผ่าน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้ปรับตัว ก่อนที่กฎหมายดังกล่าวจะบังคับใช้อย่างเต็มรูปแบบ สำหรับผู้ประกอบการรายใหญ่ในวันที่ 30 ธันวาคม 2567 และผู้ประกอบการ SMEs ในวันที่ 30 มิถุนายน 2568

สำหรับสาระสำคัญของกฎหมาย EUDR คือ ผู้ผลิตหรือผู้นำเข้าสินค้ามายัง EU ต้องจัดทำเอกสาร Due Diligence ก่อนจำหน่ายสินค้า เพื่อยืนยันว่าสินค้าที่ผลิตไม่มีส่วนในการตัดไม้ทำลายป่า โดยมีรายละเอียดตามที่ EU กำหนด เช่น การระบุพิกัดทางภูมิศาสตร์ (Geolocation) ของที่ดินทุกแปลงที่ใช้เพาะปลูกหรือเก็บเกี่ยว การแสดงภาพถ่ายดาวเทียม เพื่อเปรียบเทียบความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับที่ดิน รวมถึงการมีเอกสารสิทธิ์ที่ดินเพื่อยืนยันความถูกต้องตามกฎหมาย

เปิดกลยุทธ์ ‘รับมือ ช่วยเหลือ เติมกำลังใจ’ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า จากปัจจัยเสี่ยงทางเศรษฐกิจในปี 2567 สำหรับธุรกิจรายใหญ่ยังไม่น่าเป็นห่วง เพราะมีฐานทุนและมีความพร้อมในการปรับตัวมากกว่ารายย่อย ที่น่าเป็นห่วงคือ SMEs ซึ่งมีจำนวนไม่น้อยที่แม้ยังไม่ปิดกิจการ แต่เริ่มมีสัญญาณที่จะไม่สามารถชำระหนี้ได้หรือที่เรียกว่า Zombie Firms 

ดังนั้น EXIM BANK จึงต้องปรับเปลี่ยนกระบวนการการทำงานให้ ‘รบอย่างมีกลยุทธ์’ ช่วยผู้ประกอบการ SMEs ต่อสู้กับความท้าทายและความผันผวนของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทย อีกทั้งยังเป็นช่วงดอกเบี้ยขาขึ้น โดยดูแลทั้งลูกค้าเดิมและลูกค้าใหม่อย่างเต็มที่ และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหาธุรกิจอย่างครบวงจร (Total Solutions) ภายใต้บทบาทธนาคารเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

“ท่ามกลางปัจจัยท้าทายต่างๆ นโยบายของ EXIM BANK ต่อลูกค้า SMEs คือ การ ‘รับมือ ช่วยเหลือ เติมกำลังใจ’ โดยเจ้าหน้าที่ EXIM BANK ต้องออกเยี่ยมลูกค้า SMEs ทุกราย เพื่อตรวจเช็กสุขภาพธุรกิจและสอบถามความต้องการที่จะให้ EXIM BANK ช่วยเหลือ โดยเฉพาะลูกค้าที่เก่งและดี EXIM BANK พร้อมสนับสนุนการขยายธุรกิจ อย่างไรก็ตาม การให้สินเชื่อต้องอยู่บนหลักเกณฑ์ที่ถูกต้อง เงื่อนไขและหลักประกันเหมาะสม มีการบริหารความเสี่ยงที่รัดกุม มุ่งยกระดับประสิทธิภาพของภาคธุรกิจตลอดทั้ง Supply Chain อย่างเป็นมืออาชีพ” ดร.รักษ์ กล่าว 

EXIM BANK จึงพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินใหม่ๆ สำหรับลูกค้า SMEs อย่างต่อเนื่องโดยสอดคล้องกับความต้องการของลูกค้า นำผลที่ได้รับจากการออกไปเยี่ยมเยียนลูกค้ามาวิเคราะห์ และพัฒนาผลิตภัณฑ์ทางการเงินให้สอดคล้องกัน ซึ่งจะส่งผลดีต่อการทำการตลาดของธนาคารในการเพิ่มจำนวนลูกค้าใหม่ และสนับสนุนช่วยเหลือลูกค้ากลุ่มเดิมให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น ขณะเดียวกันก็เป็นการสร้างโอกาสในการเข้าถึงและสนับสนุน SMEs ไทยที่มีศักยภาพให้เติบโตและขยายธุรกิจสู่ตลาดโลกได้มากขึ้นอย่างต่อเนื่อง ขับเคลื่อนการเติบโตของภาคการส่งออกและเศรษฐกิจไทย 

SMEs ไทยต้องปรับตัว 4 ด้าน เพื่อความอยู่รอด

EXIM BANK มีแผนงานและกลยุทธ์ที่ชัดเจนเพื่อช่วยเหลือผู้ประกอบการ SMEs แต่ผู้ประกอบการเองก็จะต้องตระหนักว่าธุรกิจของตนเองมีภูมิคุ้มกันรองรับการเปลี่ยนแปลงของสิ่งแวดล้อมทางธุรกิจใหม่ๆ อย่างไร ที่ผ่านมาแม้ SMEs ไทยต้องเผชิญคลื่นความไม่แน่นอนและความท้าทายของปัจจัยแวดล้อมทางเศรษฐกิจหลากหลายมิติ แต่ก็มี SMEs ไทยจำนวนไม่น้อย ที่สามารถฝ่าคลื่นลมอันรุนแรงออกไปแล่นเรือในน่านน้ำแห่งโอกาสได้ 

โดยใช้จุดแข็งจากความยืดหยุ่นและการปรับตัวที่ค่อนข้างไว ไม่ว่าจะเป็นการจับเทรนด์ผู้บริโภคที่กำลังมาแรง การมองหาตลาด/กลุ่มลูกค้าใหม่ๆ รวมไปถึงการปรับสินค้าให้สอดรับกับมาตรการทางการค้าต่างๆ ทำให้ตอบโจทย์ความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างทันท่วงที พร้อมกับไม่พลาดโอกาสใหม่ๆ ในตลาดโลก เห็นได้จากทิศทางการส่งออกของ SMEs ในช่วงที่ผ่านมาที่เติบโตได้ดีจนขยายตัวถึง Double Digits ท่ามกลางภาพรวมการส่งออกของไทยที่เผชิญความท้าทาย ล่าสุดภาพรวมมูลค่าส่งออกของ SMEs ในช่วง 8 เดือนแรกของปี 2566 อยู่ที่ 25,250 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ขยายตัวในระดับสูงถึง 26.2 เปอร์เซ็นต์

กรรมการผู้จัดการ EXIM BANK กล่าวว่า การเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็วของบริบทโลกที่มาพร้อมโอกาสและความท้าทายในหลายๆ ด้านทำให้ SMEs ไทยต้องเตรียมปรับตัวอยู่เสมอ เพื่อให้ธุรกิจเติบโตได้อย่างมั่นคงและยั่งยืน จำเป็นที่จะต้องปรับตัวให้สอดคล้องกับเทรนด์ของโลก ไม่ว่าจะเป็นการปรับธุรกิจให้เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมตลอด Supply Chain ตั้งแต่ขั้นตอนก่อนการผลิตไปจนสินค้าถึงมือผู้บริโภค ทั้งการจัดการวัตถุดิบ บรรจุภัณฑ์ กระบวนการผลิต การใช้พลังงาน และการขนส่ง รวมถึงแหล่งที่มาของเงินทุน การปรับตัวรับ Supply Chain

โดยข้อมูลจาก McKinsey Global Institution (MGI) ประเมินว่าในทุก 10 ปี ปัญหา Supply Chain Shock ทำให้ภาคธุรกิจต้องสูญเสียกำไรเฉลี่ยปีละกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ หรือในช่วง COVID-19 มีบริษัทกว่า 1 ใน 3 ของโลก ต้องเผชิญปัญหาการผลิตหยุดชะงักจากห่วงโซ่อุปทานสะดุด SMEs ไทย จึงต้องติดตามและพร้อมปรับธุรกิจให้สามารถเชื่อมโยงกับ Supply Chain เส้นใหม่หรือรูปแบบใหม่ได้อย่างทันท่วงที

โดยยกระดับศักยภาพและมาตรฐานการผลิตให้ได้ตามเกณฑ์ของบริษัทขนาดใหญ่ที่เป็นผู้ขับเคลื่อน Supply Chain การปรับเข้าสู่ยุคดิจิทัล  SMEs ไทยต้องมีช่องทางการค้าผ่าน E-Commerce เพื่อตอบโจทย์โลกการค้ายุคใหม่และเข้าถึงผู้ซื้อทั่วโลกได้อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะในยุคหลัง COVID-19 การปรับตัวรับความเสี่ยงทางการเงิน รวมถึงการวางแผนและจัดหาแหล่งเงินทุนสำรอง เพื่อป้องกันไม่ให้เกิดปัญหาการขาดสภาพคล่อง และสามารถดำเนินธุรกิจได้อย่างต่อเนื่อง 

ดร.รักษ์ กล่าวทิ้งท้ายว่า การทำธุรกิจในโลกยุคใหม่จำเป็นต้องตื่นตัว และปรับธุรกิจให้ทันกับการเปลี่ยนแปลงของปัจจัยแวดล้อมต่างๆ อยู่เสมอ เพื่อลดความเสี่ยงและสร้างภูมิต้านทานให้ธุรกิจรองรับแรงกระแทกที่จะเกิดขึ้นได้ตลอดเวลา 

การเตรียมความพร้อมนับเป็นหนึ่งในหัวใจสำคัญ ที่จะช่วยให้ธุรกิจของ SMEs เติบโตและกลายเป็นเรือเล็กที่แข็งแรง และพร้อมออกจากฝั่งไปคว้าโอกาสในทุกน่านน้ำทั่วโลก EXIM BANK ภายใต้บทบาทการเป็น Green Development Bank พร้อมทำหน้าที่กลไกสำคัญในการยกระดับโครงสร้างพื้นฐาน พลังงาน โลจิสติกส์ และภาคอุตสาหกรรมของประเทศ โดยเฉพาะการสนับสนุนเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (Bio-Circular-Green Economy: BCG Economy) เดินหน้าพัฒนาประเทศสู่อนาคตที่ยั่งยืน 

โดยไม่ทิ้งคนตัวเล็กหรือ SMEs ไทยไว้ข้างหลัง พร้อมรับการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกและเศรษฐกิจไทยในปี 2567 ที่จะมาถึง บริหารจัดการความเสี่ยงและเพิ่มมูลค่าสินค้าและบริการของไทยให้ได้มาตรฐานสากล เป็นส่วนหนึ่งของการสร้างโลกสะอาด ลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม และต่อยอดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและสมดุล