ประวัติศาสตร์ที่คนไม่ค่อยรู้ เมื่อกษัตริย์ “ปกครองตามอำเภอใจ” จนนำไปสู่การปฏิวัติ และระบอบกษัตริย์ภายใต้รัฐธรรมนูญในอังกฤษ
เวลาพูดถึง “การปฏิวัติ” คนมักจะนึกถึงการปฏิวัติฝรั่งเศส รัสเซีย และจีน ซึ่งถือเป็นการปฏิวัติครั้งใหญ่ และส่งผลต่อทิศทางประวัติศาสตร์โลกอย่างมหาศาล
อย่างไรก็ดี ในความเป็นจริง ประเทศที่ทุกวันนี้เรารู้จักในฐานะของประเทศที่ “สถาบันกษัตริย์” มั่นคงแข็งแรงมากอย่างประเทศอังกฤษ แท้จริงแล้วเคยปฏิวัติเปลี่ยนแปลงเป็นสาธารณรัฐ และเคยประหารชีวิตกษัตริย์มาแล้วก่อนที่ฝรั่งเศสจะทำก่อนร้อยปี…
1.
ในอังกฤษ ศตวรรษที่ 17 สมัยของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ในสมัยนั้นเกิดเรื่องประหลาดในทางการเมืองขึ้น เพราะพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทำการ “ปกครองตามอำเภอใจ” (Personal Rule) ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดธรรมเนียมการปกครอง จนกลายเป็นชนวนการปฏิวัติที่นำมาสู่จุดจบของชีวิตพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1
ก่อนจะเล่าว่า “ปกครองตามอำเภอใจ” คืออะไร เพื่อให้เห็นภาพมากขึ้น เราต้องเข้าใจระบบการปกครองสมัยนั้นก่อน
2. คนทั่วไปมักจะมีภาพสังคมโบราณว่าอำนาจสูงสุดอยู่ที่กษัตริย์ กษัตริย์จะทำอะไรก็ได้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่จริง เพราะตั้งแต่ยุโรปยุคกลางนั้นมีสถาบันทางการเมืองที่เรียกว่า “สภา” แล้ว
“สภา” นั้นเกิดจากการที่กษัตริย์ต้องการความเห็นชอบในการปกครองจากเหล่าชนชั้นนำในสังคม ได้แก่ พวกเจ้าที่ดินและชนชั้นสูงต่างๆ กษัตริย์จึงเรียกคนกลุ่มนี้มาประชุมกันเพื่อหารือปัญหาบ้านเมือง เรื่องกฎหมาย นโยบายต่างประเทศ และภาษี หากประชุมเสร็จแล้วเห็นชอบตกลงร่วมกัน ก็จะยุบสภานี่คือที่มาว่าทำไมกษัตริย์ถึงมีอำนาจในการ “เรียกประชุมสภา” และ “ยุบสภา
3.
ถามว่าทำไมกษัตริย์ถึงต้องทำแบบนี้?
คำตอบคือ ถ้ากษัตริย์ปกครองบ้านเมืองโดยไม่ได้รับความเห็นชอบจากชนชั้นนำทั้งราชอาณาจักร ก็อาจเกิดการก่อกบฎได้
เพราะเหล่าชนชั้นนำที่ว่านี้มีทั้งกองทหารของตัวเอง และมีก๊กมีเหล่าสารพัด แม้ว่ากษัตริย์จะมีทหารมากกว่า การทำสงครามก็อาจสร้างความเสียหายมากๆ และอาจทำให้ ชนชั้นนำในประเทศหรือต่างประเทศยกกำลังมาตีประเทศได้
ดังนั้นกษัตริย์เลยต้องมีสภาเพื่อป้องกันไม่ให้เกิดสถานการณ์ที่ว่านี้
พูดอีกแบบ “สภา” คือสถาบันที่ถูกออกแบบมาเพื่อไกล่เกลี่ยผลประโยชน์ของกษัตริย์กับเหล่าชนชั้นสูง เพื่อไม่ให้ผลประโยชน์ขัดแย้งกันจนลุกลามกลายเป็นสงครามกลางเมือง
4.
แล้วอะไรคือการ “ปกครองตามอำเภอใจ” ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1
นั่นคือการที่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ปกครองหรือออกกฎหมายต่างๆ โดยไม่เห็นหัวสภา คือ “รวบอำนาจ” ไว้ที่ตัวเอง ซึ่งเป็นสิ่งที่ผิดธรรมเนียมการปกครองมาก เพราะอย่างน้อยๆ “เรื่องใหญ่” อย่างการประกาศเก็บภาษี กษัตริย์จะต้องทำการเรียกประชุมสภาเพื่อปรึกษาก่อน แต่พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ประกาศเก็บภาษีใหม่ โดยไม่ถามสภาสักคำ
นอกจากจะทำตัวเป็นศัตรูกับชนชั้นนำแล้ว พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ยังใช้อำนาจแบบเด็ดขาดตั้งพระสังฆราชคนใหม่ พร้อมบังคับให้ประชาชนชาวอังกฤษต้องไปโบสถ์ของศาสนจักรอังกฤษทุกวันอาทิตย์ เรื่องนี้ทำให้ประชาชนอังกฤษไม่พอใจมาก เพราะคนอังกฤษในตอนนั้นถือว่ามีเสรีภาพในการนับถือ “นิกาย” ต่างๆ พอสมควรมาเกือบ 100 ปี
การทำแบบนี้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 คือการบังคับให้คนอังกฤษนับถือนิกายศาสนาแบบทางการ และละเมิดความเชื่อและวิถีปฏิบัติของประชาชน แต่ประชาชนก็ทำอะไรไม่ได้ นอกจากจะทำทีว่าเออออห่อหมก
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ปกครองแบบนี้ได้ 11 ปี และสร้างความไม่พอใจให้กับทั้งชนชั้นนำและประชาชนมาก แต่ไม่มีใครทำอะไรได้ ชนชั้นนำไม่มีใครกล้าลุกขึ้นต่อต้าน เพราะหากลุกขึ้นมาต่อต้านก็จะโดนจับขึ้น “ศาลองคมนตรี” ซึ่งพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ใช้เพื่อจัดการชนชั้นนำที่กระด้างกระเดื่อง ส่วนประชาชนคนทั่วไปไม่ต้องพูดถึง ต่างก้มหน้ารับชะตากรรม ดีกว่าจะแข็งขืนอำนาจรัฐ
5.
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ปกครองตามอำเภอใจมาได้นานหลายปี จนกระทั่งมีความพยายามจะนำระบบการบังคับให้คนนับถือศาสนาแบบอังกฤษไปใช้กับสกอตแลนด์
ตอนนั้น อังกฤษและสกอตแลนด์มีกษัตริย์ร่วมกัน แต่มีสภาแยกกัน และสกอตแลนด์มีการปกครองที่เป็นอิสระพอสมควรเพราะมีสภาของตัวเอง เมื่อพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 เข้ามายุ่มย่าม ทางสภาของสกอตแลนด์ไม่พอใจจนประกาศสงครามและยกทัพมาบุกอังกฤษ
ผลที่เกิดขึ้นก็คือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ต้องหยุด “ปกครองตามอำเภอใจ” เพราะพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ไม่ได้คุมกำลังทหารเพียงพอที่จะรบกับสกอตแลนด์ และการทำสงครามระดับนี้ต้องระดมเงินมหาศาลอย่างเร่งด่วน หากถ้าชนชั้นนำไม่ร่วมมือ เรื่องนี้เป็นไปไม่ได้เลย
พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จึงยอมเรียกประชุมสภาของอังกฤษในที่สุด
ผลของการเรียกประชุมสภาครั้งนั้น เหล่าชนชั้นนำอังกฤษอภิปราย “เช็กบิล” พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ที่ปกครองโดยอำเภอใจไม่เห็นหัวพวกตนมานาน พร้อมทำการเรียกร้องสารพัดในสภา ซึ่งแน่นอน ชนชั้นนำเหล่านี้ก็กลัวพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ทำการตุกติก ก็เลยขนกองทหารตัวเองมากันเหนียวเต็มกรุงลอนดอน
การประชุมสภาคราวนั้นทำให้ความไม่พอใจในพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ที่หมักหมมมานาน 11 ปีระเบิดขึ้น โดยสภาให้เงื่อนไขว่า จะช่วยพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 รบกับสกอตแลนด์ก็ต่อเมื่อ กฎหมายต่างๆ ในยุค “ปกครองตามอำเภอใจ” ถูกลบล้างหมด
และพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 จะทำอะไรก็ต้อง “เห็นหัว” สภาตามประเพณีการปกครอง
ท้ายที่สุด พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ไม่อยากทำตามความเห็นของสภา เลยหนีออกนอกกรุงลอนดอน แล้วรวบรวมกำลังทหารเพื่อสู้กับทหารของชนชั้นนำในสภา
เหตุการณ์นี้เรียกว่า “สงครามกลางเมืองอังกฤษ” (English Civil War)
สงครามนี้จบลงด้วยความพ่ายแพ้ของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 และทำให้พระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 โดนจับขึ้นศาลพิเศษที่ตั้งขึ้นมาตัดสินความผิดของกษัตริย์โดยเฉพาะ (เพราะกลไกรัฐปกติ ตัดสินความผิดของกษัตริย์ไม่ได้)
ผลก็คือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ถูกศาลตัดสินว่ากระทำผิดฐาน “ใช้อำนาจแบบทรราชในการปกครองแบบไม่จำกัด และโค่นล้มสิทธิและเสรีภาพของประชาชน” โดยมีโทษประหารชีวิต
นี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสเป็นร้อยปี และเป็นการยืนยันว่าสภาคือสถาบันที่มีอำนาจสูงสุดในระบอบการเมืองอังกฤษนับแต่นั้น
6.
บางคนอาจสงสัยว่า ถ้าอังกฤษเคยประหารชีวิตกษัตริย์ แล้วทำไมถึงยังมีกษัตริย์ล่ะ?
คำตอบสั้นๆ คือหลังการประหารชีวิตพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 อังกฤษก็วุ่นวาย กลายเป็น “สาธารณรัฐ” ช่วงสั้นๆ ภายใต้การปกครองระบอบเผด็จการทหาร (พูดให้เข้าใจง่ายนะ) และไร้เสถียรภาพทางการเมือง
สุดท้ายทางสภาจึงไปเชิญลูกชายคนโตของพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 กลับมาเป็นกษัตริย์อีกครั้ง นั่นคือพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 2 จากนั้นก็ให้ลูกชายคนรองเป็นกษัตริย์ต่อ ซึ่งก็คือพระเจ้าเจมส์ที่ 2
พอมาในสมัยพระเจ้าเจมส์ที่ 2 เมื่อพระเจ้าเจมส์ที่ 2 มีพิรุธที่จะทำการ “ปกครองตามอำเภอใจ” ตามพระเจ้าชาร์ลส์ที่ 1 ผู้เป็นพ่อ สิ่งที่สภาทำครั้งนี้คือการตัดไฟแต่ต้นลม โดยเด้งพระเจ้าเจมส์ที่ 2 ออกจากตำแหน่งกษัตริย์ดื้อๆ และไปเชิญเชื้อพระวงศ์คนอื่นมาเป็นกษัตริย์แทน โดยมีเงื่อนไขว่ากษัตริย์คนใหม่ต้อง “ห้ามยุ่งเกี่ยวกับการเมือง” โดยเหตุการณ์นี้คือเหตุการณ์ในประวัติศาสตร์อังกฤษที่เรียกว่า “การปฏิวัติอันรุ่งโรจน์”
หลังจาก “การปฏิวัติ” ดังกล่าว ทางสภาก็ออกกฎหมายควบคุมอำนาจกษัตริย์อย่างชัดเจน คือ ‘Bill of Rights’ ในปี 1689 ซึ่งหลักใหญ่ใจความคือข้อกำหนดในการควบคุมอำนาจกษัตริย์อย่างเป็นลายลักษณ์อักษรเพื่อไม่ให้มีกษัตริย์คนใดในอังกฤษ “ปกครองตามอำเภอใจ” ไปจนถึงส่งทหารมาห้ำหั่นกับประชาชนอีก
เหตุการณ์ที่ว่ามานี้นำไปสู่การจัดสรรสถาบันกษัตริย์ให้อยู่ภายใต้รัฐธรรมนูญสำเร็จ และเป็นความภูมิใจของคนอังกฤษมาจนถึงทุกวันนี้
เพราะอังกฤษเป็นประเทศที่สร้างระบอบกษัตริย์ที่มีเสถียรภาพกว่าประเทศอื่นๆ จนทำให้สถาบันกษัตริย์อยู่ยงคงกระพันมาจนถึงทุกวันนี้อย่างถูกที่ถูกทาง
7.
คนทั่วไปอาจไม่ได้ยินเรื่องราวของอังกฤษใน “ประวัติศาสตร์การเมือง” เท่ากับฝรั่งเศส เพราะเรื่องราวของฝรั่งเศสนั้นชวนฮึกเหิมมากกว่า แต่ความเป็นจริงก็คือ อังกฤษเป็นชาติแรกๆ ที่ออกตัวต้านการปฏิวัติฝรั่งเศส และตำหนิฝรั่งเศสมาตลอดการปฏิวัติ เพราะคนอังกฤษได้เรียนรู้มาก่อนการปฏิวัติฝรั่งเศสมาเป็น 100 ปีแล้วว่า การยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไม่ใช่ทางออกที่ดีของวิกฤติการเมืองอันเกิดจากสถาบันกษัตริย์
เพราะจะทำให้บ้านเมืองวุ่นวายยาวนาน และในทางกลับกัน การหากษัตริย์ที่พร้อมจะอยู่ถูกที่ถูกทางในระบบกฎหมายไปพร้อมๆ กับไม่ก้าวล่วงอำนาจสภานั้น คือทางออกที่ดีกว่ากับบ้านเมือง
และเราต้องไม่ลืมว่า ในขณะที่ฝรั่งเศสทำการ “ปฏิวัติการปกครอง” จนส่งผลให้บ้านเมืองวุ่นวายและประชาชนยากจนอีกหลายปีหลังจากนั้น ทางฝั่งอังกฤษได้ทำการ “ปฏิวัติอุตสาหกรรม” และกลายมาเป็นชาติมหาอำนาจของยุโรปตลอดศตวรรษที่ 19
และภาวะแบบนี้ทำให้อังกฤษบลัฟฝรั่งเศสตลอดในช่วงนั้นว่า จะยกเลิกสถาบันกษัตริย์ไป ใช่ว่าบ้านเมืองจะเจริญขึ้นหรอกนะ
อ้างอิง
- Wikipedia. Execution of Charles. https://bit.ly/32uYJYU