ใครได้รับการยกเว้นการเกณฑ์ทหารตามกฎหมายบ้าง? เรียน รด. หรือจับได้ใบดำแล้วรอดจริงหรือ?

5 Min
673 Views
10 Apr 2024

อยากรู้แต่ไม่มีเวลา อ่านแค่ตรงนี้พอ

การรับราชการทหารถือเป็นหน้าที่หนึ่งที่ชายไทยพึงปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ ซึ่งสัมพันธ์กับความมั่นคงของประเทศ จึงมีหลักเกณฑ์ต่างๆ เพื่อคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมสำหรับการเข้ารับราชการทหารกองประจำการ และได้มีการบัญญัติคุณสมบัติผู้ที่ได้รับการยกเว้นในกฎหมายไว้มากมาย ส่วนชายไทยที่ไม่ได้มีคุณสมบัติที่ได้รับการยกเว้นตามกฎหมาย ก็ต้องทำหน้าที่รับราชการทหารไม่ว่าทางใดก็ทางหนึ่ง แม้ว่าจะไม่ได้เข้ารับการคัดเลือกทหารกองเกินเพราะเรียน รด. หรือจับใบดำได้ก็ตาม เพราะชายไทยที่ขึ้นทะเบียนเป็นทหารกองเกินหรือเป็นทหารกองหนุนทุกคนเป็นกำลังสำรองตามกฎหมาย จนกว่าจะถูกปลดพ้นราชการตามเกณฑ์ที่กำหนด

ทุกๆ เดือนเมษายนของทุกปี เป็นฤดูกาลที่ชายไทยอายุตั้งแต่ 21 ปีบริบูรณ์ ต้องเข้ารับการตรวจเลือกทหารกองเกินเข้ารับราชการ ทหารกองประจำการ ตามที่กฎหมายระบุเอาไว้

แต่กฎหมายยังเปิดโอกาสให้บุคคลบางประเภทได้รับการยกเว้นด้วย เนื่องจากการเกณฑ์ทหารย่อมสัมพันธ์กับความมั่นคงของประเทศ จึงต้องคำนึงถึงการคัดเลือกบุคคลที่เหมาะสมสำหรับการเข้า ‘รับใช้ชาติ’ 

[บุคคลที่ได้รับการยกเว้นใน พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497]

ซึ่งบุคคลประเภทแรกที่ได้รับการยกเว้นไม่ต้องเข้ารับราชการตามมาตรา 13 ของ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 แม้ว่าจะอยู่ในยามสงคราม ได้แก่

  1. พระภิกษุที่มีสมณศักดิ์ หรือที่เป็นเปรียญ และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวนที่มีสมณศักดิ์
  1. คนพิการทุพพลภาพ ซึ่งไม่สามารถเป็นทหารได้ 

โดยการจะรู้ว่าโรคหรืออาการใดเข้าเกณฑ์ขัดต่อการรับราชการทหาร ต้องไปดูกฎกระทรวงกลาโหม ฉบับ 74 (พ.ศ. 2540) ออกตามความใน พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ประกอบไปด้วย 12 ประเภท ได้แก่ 

1) โรคหรือความผิดปกติของตา เช่น ตาบอดข้างเดียว, สายตาไม่ปกติ ทั้งสองข้างเห็นในระดับต่ำกว่า 6/24, สายตาทั้งสองข้างจะต้องสั้นมากกว่า 8 ไดออปเตอร์ หรือสายตายาวมากกว่า 5 ไดออปเตอร์ เป็นต้น

2) โรคหรือความผิดปกติของหู เช่น หูหนวกทั้งสองข้าง, หูชั้นกลางอักเสบเรื้อรังทั้งสองข้าง, เยื่อแก้วหูทะลุทั้งสองข้าง เป็นต้น

3) โรคของหัวใจและหลอดเลือด เช่น หัวใจหรือหลอดเลือดพิการอย่างถาวร, การเต้นของหัวใจผิดปกติอย่างถาวร, ลิ้นหัวใจ, หลอดเลือดแดงใหญ่โป่งพอง เป็นต้น

4) โรคเลือดและอวัยวะสร้างเลือด เช่น โรคเลือดหรืออวัยวะสร้างเลือดผิดปกติอย่างรุนแรง, ภาวะม้ามโต เป็นต้น

5) โรคของระบบหายใจ เช่น โรคหืด, โรคทางปอดที่มีอาการไอ หอบเหนื่อย และมีการสูญเสียการทำงานของระบบทางเดินหายใจ, โรคหยุดการหายใจขณะนอนหลับ เป็นต้น

6) โรคของระบบปัสสาวะ เช่น ไตอักเสบเรื้อรัง, ไตวายเรื้อรัง เป็นต้น

7) โรคหรือความผิดปกติของกระดูก ข้อ และกล้ามเนื้อ เช่น แขน ขา มือ หรือเท้า ด้วนหรือพิการ, ข้ออักเสบเรื้อรัง, ข้อเสื่อมเรื้อรัง, กระดูกสันหลังโก่งหรือแอ่นจนเห็นได้ชัด เป็นต้น

8) โรคของต่อมไร้ท่อและภาวะผิดปกติของเมตาบอลิซึม เช่น เบาหวาน, ภาวะอ้วน (ค่า BMI มากกว่า 35) เป็นต้น

9) โรคติดเชื้อ เช่น โรคเรื้อน, โรคเท้าช้าง เป็นต้น

10) โรคประสาทวิทยา เช่น จิตเจริญล่าช้า, ใบ้, ลมชัก, อัมพาต, สมองเสื่อม เป็นต้น

11) โรคทางจิตเวช เช่น โรคจิตเภท, โรคจิตกลุ่มหลงผิด, โรคซึมเศร้า, โรคอารมณ์แปรปรวน เป็นต้น

12) โรคอื่นๆ เช่น กะเทย, มะเร็ง, ตับอักเสบ, ตับแข็ง, คนเผือก, จมูกโหว่, เพดานโหว่หรือลิ้นไก่สั้นพูดไม่ชัด เป็นต้น

ซึ่งหากผู้ใดมีอาการตามกฎกระทรวงดังกล่าว มาตรา 41 ของ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ระบุให้ ‘ปลดพ้นราชการทหาร’ 

  1. บุคคลซึ่งไม่มีคุณวุฒิที่จะเป็นทหารได้เฉพาะบางท้องที่ ซึ่งถูกระบุไว้ในกฎกระทรวงกลาโหม ฉบับที่ 45 (พ.ศ. 2518) ออกตามความใน พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 หากกล่าวโดยง่ายก็คือกลุ่มชาติพันธุ์หรือชนเผ่าต่างๆ ที่กระจายตัวอยู่ทั่วประเทศ

ส่วนบุคคลอีกกลุ่มที่ได้รับการยกเว้นตามมาตรา 14 ของ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ที่ไม่ต้องมาตรวจคัดเลือกในยามปกติ ได้แก่

  1. พระภิกษุ สามเณร และนักบวชในพระพุทธศาสนาแห่งนิกายจีนหรือญวน ซึ่งเป็นนักธรรมตามที่กระทรวงศึกษาธิการรับรอง
  1. นักบวชศาสนาอื่นซึ่งมีหน้าที่ประจำในกิจของศาสนาตามที่กฎกระทรวง และผู้ว่าราชการจังหวัดออกใบสําคัญให้ไว้
  1. บุคคลซึ่งอยู่ในระหว่างการฝึกวิชาทหารตามหลักสูตรที่กระทรวงกลาโหมกำหนด ตามกฎหมายว่าด้วยการส่งเสริมการฝึกวิชาทหาร
  1. นักเรียนโรงเรียนเตรียมทหารของกระทรวงกลาโหม
  1. ครูซึ่งประจําทําการสอนหนังสือหรือวิชาการต่างๆ ที่อยู่ในความควบคุมของกระทรวง ทบวง กรม หรือราชการส่วนท้องถิ่น ตามที่กําหนดในกฎกระทรวง และผู้ว่าราชการ จังหวัดออกใบสําคัญให้ไว้
  1. นักศึกษาของศูนย์กลางอบรมการศึกษาผู้ใหญ่ของกระทรวงศึกษาธิการ 
  1. นักศึกษาของศูนย์ฝึกการบินพลเรือนของกระทรวงคมนาคม
  1. บุคคลซึ่งได้สัญชาติไทยโดยการแปลงสัญชาติ 
  1. บุคคลซึ่งได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกครั้งเดียวตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือเคยได้รับโทษจำคุกโดยคำพิพากษาถึงที่สุดให้จำคุกหลายครั้งรวมกันตั้งแต่สิบปีขึ้นไป หรือเคยถูกศาลพิพากษาให้กักกัน

[รด. และการจับใบดำ รอดจริงหรือไม่?]

ส่วนผู้ที่สำเร็จการฝึกนักศึกษาวิชาทหาร ชั้นปีที่ 3 หรือ รด. กฎหมายระบุว่าจะถูกปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 โดยไม่ต้องเข้ารับราชการทหารกองประจำการ หรือไม่ต้องมาเกณฑ์ทหารในวันที่มีการเกณฑ์ทหาร

แต่หากไม่ได้เรียน รด. และได้รับหมายเกณฑ์ที่จะต้องไปรับการตรวจเลือกเข้ารับราชการกองประจำการ ก็จะต้องเข้าสู่กระบวนการในการตรวจเลือก หากมีผู้สมัครใจที่จะเข้ารับราชการเพียงพอก็จะไม่มีการจับสลาก หรือที่เรารู้จักกันในนามของการจับ ‘ใบดำ-ใบแดง’ แต่ถ้าหากมีคนมาจำนวนมากกว่าที่ต้องการก็จะมีการจับสลากเกิดขึ้น

ซึ่งก่อนจะมีการจับใบดำ-ใบแดงจะมีการตรวจร่างกายและแบ่งคนที่ได้ตรวจเลือกเป็น 4 จำพวก ตามระเบียบกฎกระทรวงกลาโหมฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2516) ออกตามความใน พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497 ได้แก่ 

จำพวกที่ 1 คนซึ่งมีร่างการสมบูรณ์ดีไม่มีอวัยวะพิการหรือผิดส่วนแต่อย่างใด

จำพวกที่ 2 คนซึ่งมีร่างกายที่เห็นได้ชัดว่าไม่สมบูรณ์ดีเหมือนจำพวกที่ 1 แต่ไม่ถึงทุพพลภาพ

จำพวกที่ 3 คนซึ่งมีร่างกายยังไม่แข็งแรงพอที่จะรับราชการทหารในขณะนั้นได้ เพราะป่วยและไม่สามารถรักษาให้หายได้ใน 30 วัน

จำพวกที่ 4 พิการทุพพลภาพ หรือ มีโรคที่ไม่สามารถรับราชการทหารได้ตามกฎกระทรวงที่ออกตามมาตรา 41 ของ พ.ร.บ.รับราชการทหาร พ.ศ. 2497

ซึ่งตามระเบียบฉบับนี้ เจ้าหน้าที่ต้องเลือกจากคนจำพวกที่ 1 ก่อน โดยต้องมีขนาดรอบตัวตั้งแต่ 76 เซนติเมตรขึ้นไปในเวลาหายใจออก และสูงตั้งแต่ 1.46 เมตร หรือ 146 เซนติเมตรขึ้นไป โดยที่ตามระเบียบจะต้องคัดเลือกจากคนที่สูง 1.6 เมตร หรือ 160 เซนติเมตร หรือ ‘คนได้ขนาด’ หากไม่เพียงพอก็ค่อยเลือกผู้ที่สูงรองลงมา

หากคนจำพวกที่ 1 ไม่พอ ก็ให้เลือกจากคนจำพวกที่ 2 ซึ่งส่วนใหญ่แล้วก็มักจะเพียงพอก่อนที่จะมีการเลือกคนจำพวกที่ 2 หรือเพียงพอตั้งแต่การเลือก ‘คนได้ขนาด’ เสียด้วยซ้ำ

ส่วนคนจำพวก 3 จะต้องมาอีกครั้งในการตรวจเลือกครั้งถัดไป

ส่วนการจับสลากก็เป็นที่ทราบโดยทั่วกันว่าหากจับได้ใบแดง ก็จะต้องเข้ารับราชการกองประจำการ หากจับได้ใบดำ ก็ไม่ต้องเข้ารับราชการกองประจำการ แต่สถานะของการเป็นทหารกองเกินก็จะยังอยู่ เมื่ออายุครบ 30 ปีบริบูรณ์ ก็จะถูกปลดเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 2

แต่ไม่ว่าจะเป็นทหารกองหนุนประเภทที่ 1 ทหารกองหนุนประเภทที่ 2 หรือทหารกองเกิน ก็สามารถเป็นกำลังพลสำรอง ตาม พ.ร.บ.กำลังพลสำรอง พ.ศ. 2558 ที่กระทรวงกลาโหมสามารถเรียกกำลังพลเพื่อตรวจสอบ เพื่อฝึกวิชาทหาร เพื่อปฏิบัติราชการ หรือเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมในการระดมพล จนกว่าได้รับการปลดพ้นราชการเมื่ออายุถึงเกณฑ์

หากจะอธิบายให้เข้าใจได้โดยง่าย ชายไทยทุกคนที่แข็งแรงสมบูรณ์ไม่ว่าจะจับได้ใบดำ เรียน รด. หรือแม้ว่าจะปลดประจำการนอนอยู่บ้านแล้ว ก็อาจจะถูกสุ่มเรียกเพื่อไปตรวจหรือไปฝึก ตามระเบียบข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง พ.ศ. 2559 

ซึ่งการเรียกเพื่อตรวจสอบให้ดำเนินการปีละไม่เกิน 1 วัน การเรียกกำลังพลสำรองเพื่อฝึกวิชาทหาร ให้ดำเนินการปีละไม่เกิน 60 วัน 

ส่วนการเรียกกำลังพลสำรองเพื่อทดลองความพรั่งพร้อมและการระดมพลในเวลาสงครามหรือสถานการณ์ฉุกเฉิน ไม่ได้ระบุระยะเวลาเอาไว้อย่างชัดเจน

อ้างอิง

  • พระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497. https://tinyurl.com/5n7tm4t8
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 74 (พ.ศ. 2540) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497. https://tinyurl.com/bdzfhf8j
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 45 (พ.ศ. 2518) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497. https://tinyurl.com/2jjwe7hn
  • กฎกระทรวง ฉบับที่ 37 (พ.ศ. 2516) ออกตามความในพระราชบัญญัติรับราชการทหาร พ.ศ. 2497. https://tinyurl.com/z6xb43ek
  • ข้อบังคับกระทรวงกลาโหม ว่าด้วยกิจการกำลังพลสำรอง พ.ศ. 2559.