2 Min

ถึงไม่ได้กลิ่นเหล้าก็ต้องดูว่า ‘เมา’ หรือไม่? รู้จัก Sobriety Tests ที่หลายชาติใช้ตรวจ ‘เมาขับ’

2 Min
401 Views
29 Mar 2022

อาการมึนเมาไม่ได้เกิดจากแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว เพราะยังมีสารเสพติดอื่นๆ อีกหลายประเภทที่จะทำให้ผู้ใช้มีอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมา และทำให้ความสามารถในการขับขี่ยานพาหนะและการควบคุมตัวเองลดลง

ด้วยเหตุนี้ กรณีนักธุรกิจที่สื่อไทยบางส่วนเรียกว่า #ไฮโซปลาวาฬ หรือ วรสิทธิ อิสสระ กรรมการผู้จัดการโรงแรมศรีพันวา ภูเก็ต ขับรถเสียหลัก ชนรั้วเหล็กกั้นโค้งถนนหลวงในจังหวัดพังงา เมื่อวันที่ 24 มีนาคม 2565 จนรถหรูไฟลุกไหม้เสียหายทั้งคัน แต่ตำรวจกลับไม่ได้ตรวจวัดปริมาณแอลกอฮอล์ ถึงได้กลายเป็นประเด็นถกเถียงร้อนแรงในสื่อสังคมออนไลน์ของไทยที่ตั้งคำถามว่าเจ้าหน้าที่เข้าข่ายเลือกปฏิบัติหรือไม่

จนกระทั่งวันที่ 27 มีนาคม เฟซบุ๊กเพจสถานีตำรวจภูธรท้ายเหมืองซึ่งเป็นสถานีตำรวจที่รับผิดชอบคดีของวรสิทธิ ออกมาชี้แจงว่า ร้อยเวรสอบสวนและสายตรวจตำบลได้สอบถามวรสิทธิและผู้โดยสารที่นั่งมาด้วยกัน โดยพูดคุยอยู่ประมาณ 10 นาที และไม่พบกลิ่นแอลกอฮอล์ที่บุคคลทั้งสองก็เลยไม่ได้สงสัยว่าผู้ขับขี่ได้เมาสุราในขณะขับรถทำให้เสียงวิพากษ์วิจารณ์ยังไม่จบลงง่ายๆ

ทั้งนี้ หลายประเทศระบุว่าสาเหตุของความเมาไม่ได้เกิดจากการดื่มแอลกอฮอล์เพียงอย่างเดียว แต่รวมถึงการใช้สารเสพติดอื่นๆ ที่ทำให้ผู้เสพมีอาการเคลิบเคลิ้มมึนเมาด้วย การสอบสวนหรือดำเนินคดีผู้ขับรถขณะอยู่ในสภาพมึนเมาหรือสูญเสียสติสัมปชัญญะจึงไม่สามารถใช้แค่เครื่องตรวจวัดระดับปริมาณแอลกอฮอล์ในเลือดเพียงอย่างเดียว

ถ้าใครดูภาพยนตร์ฮอลลีวูดบ่อยๆ อาจจะเคยเห็นฉากตำรวจอเมริกันทดสอบผู้ขับขี่ยานพาหนะที่เรียกกันว่า Field Sobriety Test โดยผู้ขับขี่ต้องลงจากรถมาทำการทดสอบ 3 อย่างนี้ ได้แก่

  1. การจ้องปลายนิ้วซึ่งเคลื่อนที่ตามแนวนอน (Horizontal Gaze Nystagmus) เพื่อทดสอบการกระตุกของสายตา โดยผู้ที่มึนเมามีแนวโน้มจะตากระตุกถี่และไม่สามารถจ้องตามปลายนิ้วได้อย่างราบรื่น
  2. การเดินและหมุนตัว (Walk-And-Turn Test) เพื่อทดสอบการทรงตัว โดยผู้ที่มีภาวะมึนเมาส่วนใหญ่จะไม่สามารถนับจำนวนก้าวและมักจะเสียหลักเวลาที่หมุนตัว
  3. การยืนขาเดียว (One-Leg Stand Test) ประมาณ 30 วินาที เพื่อทดสอบการประคองตัว โดยผู้ที่มึนเมาจะตัวเอนเอียงไปมา และมักจะกางแขนออกสองข้างเพื่อช่วยทรงตัว

กฎหมายในหลายรัฐของสหรัฐอเมริการะบุว่าผู้ที่ไม่ผ่านการทดสอบนี้จะต้องถูกนำตัวไปตรวจสอบสาเหตุของอาการมึนเมาเพิ่มเติม และมีอย่างน้อยอีกสองประเทศที่ใช้วิธีนี้เช่นกัน คือ แคนาดาและออสเตรเลีย

อย่างไรก็ดี มีเสียงวิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าการประเมินความมึนเมาด้วย Field Sobriety Test ก็คลาดเคลื่อนได้เช่นกัน เพราะผู้ที่ไม่ได้เสพสารมึนเมาบางรายอาจมีข้อจำกัดทางกายภาพที่ส่งผลต่อการทรงตัว แต่ไม่ได้มีผลกระทบต่อการขับขี่ยานพาหนะเสมอไป

ทั้งนี้ องค์การอนามัยโลก (WHO) รวบรวมสถิติเกี่ยวกับอุบัติเหตุทางถนนทั่วโลก พบว่า หลายประเทศใช้การตั้งด่านตรวจเช็กคนเมา (Sobriety Checkpoint) รวมถึงไทย แต่ก็ไม่ได้แนะนำว่าจะต้องใช้วิธีนี้เป็นมาตรฐานในการป้องกันหรือลดการเกิดอุบัติเหตุจากกรณีเมาแล้วขับ แต่พูดถึงการบังคับใช้กฎหมายที่เข้มงวดเพื่อลงโทษผู้กระทำผิดด้วย

อ้างอิง

  • Matichon. ผกก.สภ.ท้ายเหมือง แจงแล้ว ไม่ได้กลิ่นเหล้า ปมไม่ตรวจ ปลาวาฬ เมาขับหรือไม่. https://bit.ly/3NtK06v
  • SAF. ยาเสพติดให้โทษ คืออะไร? . https://bit.ly/3qIHtLX
  • Very Well Mind. Field Sobriety Test to Assess Drunk Driving. https://bit.ly/3qH75sy
  • WHO. Sobriety checkpoints. https://bit.ly/3iEDpbd