ทุกวันนี้ ‘รถยนต์ไฟฟ้า’ หรือ EV จากจีนได้รับความนิยมมากขึ้น และภูมิภาคหลักที่สนับสนุนรถ EV ก็คือชาติในยุโรป เพราะประเทศในยุโรปเกือบทั้งหมดได้ลงนามใน Glasgow Declaration ซึ่งเป็นการให้คำมั่นว่าจะหยุดการซื้อขาย ‘รถยนต์สันดาป’ หรือรถยนต์ใช้น้ำมันภายในปี 2040 และถ้าไปดูแผนการด้านพลังงานเขาจะมีมาตรการบังคับให้มีที่ชาร์จ EV ทุก 60 กิโลเมตรตามถนนไฮเวย์ภายในปี 2025 เพราะอยากสนับสนุนให้ประชาชนใช้รถ EV กันอย่างแพร่หลาย
แต่บังเอิญจริงๆ รถ EV ทุกวันนี้ส่วนใหญ่ผลิตจากจีน จากการวบรวมข้อมูลพบว่า ปี 2023 บริษัทที่กำลังการผลิต EV มากสุดไม่ใช่ Tesla อย่างที่เคยเข้าใจแล้วหากแต่เป็น BYD ของจีน โดยแบรนด์จากประเทศจีนบุกตลาดยุโรปมาแบบเงียบๆ หลังยุคโควิด พวกเขาถือส่วนแบ่งตลาดกินไปเกือบ 10 เปอร์เซ็นต์แล้ว นับว่าเติบโตรวดเร็วมาก เหตุผลก็คือ EV จากจีนราคาถูก
บรรดาผู้ผลิต EV จีนจึงมุ่งทำการตลาดในยุโรปอย่างจริงจัง เพราะอเมริกาตั้งภาษีนำเข้าถึงเกือบ 30 เปอร์เซ็นต์ (เกิดในช่วง ‘สงครามการค้า’) แต่ทางยุโรปภาษีนำเข้าอยู่เพียง 10 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้น จึงไม่แปลกที่ฝั่งจีนจะอยากขายรถกับคนยุโรป เพราะคนพวกนี้มีกำลังซื้อ และต้องการ EV เยอะ เท่านั้นไม่พอ มันยังไม่มีกำแพงภาษีนำเข้าที่สูง
ซึ่งจริงๆ แล้วมันไม่ใช่แค่ EV ของ ‘แบรนด์จีน’ เท่านั้นที่ ‘เมดอินไชน่า’ เพราะรถ EV แบรนด์ยุโรปแบบ BMW หรือแบรนด์อเมริกันแบบ Tesla ก็มีฐานการผลิตในจีน โดยประเมินว่าถ้าจะนับ EV แบบทำในจีนทั้งหมด ส่วนแบ่งตลาดน่าจะไม่ใช่แค่ 10 เปอร์เซ็นต์ แต่น่าจะสูงถึง 20 เปอร์เซ็นต์ และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นในไม่ถึง 5 ปีด้วยซ้ำ
ตัวเลขทั้งหมดนี้ทำให้ฝั่งผู้ผลิตรถยนต์และรัฐบาลในยุโรปเป็นกังวล
เพราะก่อนหน้านี้ตัวเลขการส่งออกของประเทศต่างๆ ในยุโรป ‘รถยนต์’ ถือเป็นสินค้าส่งออกอันดับต้นๆ ของหลายประเทศ พูดง่ายๆ ประเทศจำนวนมากผลิตรถยนต์ใช้เอง และขายเพื่อนบ้าน ดังนั้นมันจึงเป็นเรื่องใหญ่มากที่จีนจะมาตีตลาดสหภาพยุโรป เพราะถ้าอุตสาหกรรมรถยนต์หายไปหรือซบเซา มันหมายถึงมูลค่าทางเศรษฐกิจจะหาย และคนจำนวนมากจะตกงาน
บางคนก็อาจบอกว่า นี่คือโลกของการแข่งขันเสรีที่ ‘อ่อนแอก็แพ้ไป’ แต่ความเป็นจริงก็คือ อุตสาหกรรมรถยนต์จีนได้รับเงินอุดหนุนจากรัฐบางทั้งทางตรงและอ้อมสารพัด จึงขายในราคาที่ถูกขนาดนั้นได้ ซึ่งปัญหาคือ ‘เงินอุดหนุน’ นี่คือปัญหาคลาสสิกของการค้าเสรี เพราะมันทำให้ของราคาถูกมันไม่ได้ราคาถูกจริง และบางทีมันอาจเป็นแผนการทุ่มตลาดในระดับชาติ เพื่อให้อุตสาหกรรมบางอย่างของชาติอื่นหายไป
นี่เลยทำให้ยุโรปมองว่านี่อาจเป็นการแข่งขันไม่เป็นธรรม และเริ่มมีการไต่สวน ซึ่งคาดว่าน่าจะทำให้เกิดผลตามมา
ผลเบื้องต้นก็น่าจะมี ‘มาตรการด้านภาษี’ คือถ้าจีนอุดหนุนให้ราคา EV ถูกเกินจริง สหภาพยุโรปก็จะแก้ไขให้ราคามันเป็นแบบที่ควรจะเป็นด้วยกำแพงภาษี และนี่เองที่จะทำให้ผู้ผลิต EV ในยุโรปสามารถอยู่ในตลาดเดียวกับผู้ผลิตจีนอย่างเป็นธรรม
ส่วนในไทย ก็น่าสนใจว่ารัฐบาลจะมีแนวโน้มจะจัดการอย่างไรในระยะยาว เพราะไทยมีบทบาทเป็นผู้ประกอบรถยนต์มายาวนานในยุค ‘น้ำมัน’ แต่พอมายุค ‘ไฟฟ้า’ ไทยดูจะไม่มีบทบาทใดๆ ซึ่งคำถามก็คือ ในอีก 10-20 ปีข้างหน้าที่ในหลายๆ พื้นที่ในโลกห้ามใช้รถยนต์ใช้น้ำมันแล้ว ‘อุตสาหกรรมรถยนต์’ ในไทยจะเป็นอย่างไร?
อ้างอิง
- El Pais. Europe is looking to fight the flood of Chinese electric vehicles. But Europeans love them. https://english.elpais.com/economy-and-business/2023-10-18/europe-is-looking-to-fight-the-flood-of-chinese-electric-vehicles-but-europeans-love-them.html
- Wikipedia. Phase-out of fossil fuel vehicles. https://en.wikipedia.org/wiki/Phase-out_of_fossil_fuel_vehicles
- The Verge. EU passes law to blanket highways with fast EV chargers by end of 2025. https://www.theverge.com/23806690/eu-ev-fast-charger-60km-law-regulation-requirements
- Thairath. อ่านให้ดีๆ! ราชกิจจาฯ ลดภาษีนำเข้ารถยนต์ไฟฟ้า 40% ถ้าไม่เซ็น MOU ประกอบไทย ไม่ลดนะคะ!! https://www.thairath.co.th/news/auto/news/2385461
- El Pais. Europe goes on the defensive against tide of Chinese electric vehicles. https://english.elpais.com/economy-and-business/2023-10-24/europe-goes-on-the-defensive-against-tide-of-chinese-electric-vehicles.html