สหภาพแรงงาน ‘ความลับ’ ของความเท่าเทียมในสังคมยุโรป

4 Min
1084 Views
16 Nov 2020

ในทางการเมืองและเศรษฐกิจ ภูมิภาคที่ดูจะเป็น “ภูมิภาคตัวอย่าง” ของโลกปัจจุบันก็คือ “ยุโรป”

เพราะยุโรปเป็นโซนที่เศรษฐกิจดี แต่สังคมไม่เหลื่อมล้ำมากเหมือน
สหรัฐอเมริกา ผู้คนทั้งหมดจะมีชีวิตทางเศรษฐกิจและสังคมค่อนข้างเท่าเทียมกันในทุกชนชั้น

ทำไมยุโรปถึงทำแบบนี้ได้?

1.

ในมาตรฐานสมัยใหม่ กฎหมาย ระบบการเมือง และเศรษฐกิจของประเทศส่วนใหญ่ในโลกไม่ได้มีความแตกต่างอะไรกันมาก

ทุกประเทศใช้ “ซอฟต์แวร์” ทางเศรษฐกิจการเมืองแบบเดียวกัน แต่ผลลัพธ์ออกมาไม่เหมือนกัน

บางคนอธิบายว่าเป็นเพราะ “วัฒนธรรม” ที่ต่างกัน จึงส่งผลให้เกิดความเหลื่อมล้ำในสังคม แม้ว่าสังคมต่างๆ จะใช้กติกาทางเศรษฐกิจและการเมืองแบบเดียวหรือคล้ายกัน

อย่างไรก็ดี การอธิบายแบบนี้นำไปสู่ทางตันของปัญหา เพราะถ้าความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของ “วัฒนธรรม” ความเหลื่อมล้ำจะกลายเป็นเรื่องที่รัฐบาลลงไปแก้ไม่ได้ และการเปลี่ยนแปลงทางวัฒนธรรมก็ดูจะใช้เวลาอย่างน้อยสามชั่วคนกว่าจะทำงานได้เต็มที่

แต่ความเหลื่อมล้ำเป็นเรื่องของวัฒนธรรมากกว่าระบบการเมืองจริงหรือ?

2.

สาเหตุที่ความเหลื่อมล้ำในสังคมยุโรปต่ำ เพราะมี “สถาบันทางเศรษฐกิจ” รูปแบบหนึ่งที่แข็งแกร่งมากกว่าที่อื่นใดในโลก

นั่นคือ “สหภาพแรงงาน”

สหภาพแรงงานคืออะไร?

สหภาพแรงงานคือองค์กรของแรงงานหรือ “ลูกจ้าง” ที่รวมกลุ่มกันเพื่อทำการต่อรองกับ “นายจ้าง” ซึ่งในหลายๆ ประเทศ คนทั่วไปจะนึกถึง “สหภาพแรงงาน” ของบริษัทเอกชนต่างๆ แต่ในความเป็นจริง

สหภาพแรงงานมีได้หลากหลาย เช่นในยุโรป แม้แต่ “ข้าราชการ” ก็มีสหภาพแรงงานได้

นอกจากนี้ การรวมกลุ่มกันของแรงงานไม่จำเป็นจะต้องรวมกลุ่มกันแค่ในบริษัทหนึ่งเพื่อต่อต้านกับผู้บริหาร เพราะการรวมกลุ่มกันของแรงงานทั้งอุตสาหกรรม เพื่อต่อรองกับฝั่งบริษัททั้งอุตสาหกรรมก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้

เพราะฉะนั้น “สหภาพแรงงาน” คือองค์กรแบบใดก็ได้ที่ทำให้ “คนทำงาน” มีอำนาจต่อรองในตลาดแรงงาน

3.

แล้วผลลัพธ์ของสหภาพแรงงานคืออะไร?

ในทุกพื้นที่และอุตสาหกรรมที่สหภาพแรงงานมีความแข็งแรง “ค่าจ้าง” ก็จะสูงตามไปด้วย เพราะหน้าที่หลักของสหภาพแรงงานคือยกระดับค่าจ้างของแรงงานในอุตสาหกรรม

เพราะสหภาพแรงงานจะคอยกดดันให้ “ผลกำไร” ของบริษัทไม่ได้อยู่แค่ในมือผู้ถือหุ้น แต่จะพยายามกระจายกลับมาสู่พนักงานของบริษัท ซึ่งเป็นคนสร้างมูลค่าทางเศรษฐกิจของบริษัทอย่างต่อเนื่อง

ในทางกลับกัน หากสหภาพแรงงานไม่แข็งแรง ก็จะไม่มีองค์กรคอยกดดันเพื่อให้บริษัททำการขึ้นค่าแรงให้พนักงาน ผลกำไรของบริษัทที่โตขึ้นๆ ก็จะไปอยู่ในมือผู้ถือหุ้นเป็นหลัก และในระยะยาวก็จะส่งผลให้พื้นที่นั้นๆ มีความเหลื่อมล้ำมากขึ้น

ถึงแม้ว่าคนทำงานจะไม่ได้ยากจนลง แต่คนที่เป็น “เจ้าของบริษัท” ไปจนถึงเหล่าผู้บริหารจะมีอัตราการเติบโตของรายได้สูงกว่าพนักงานทั่วไป และนี่คือสิ่งที่เกิดขึ้นกับประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา และประเทศอื่นๆ ที่ยึดอเมริกาเป็นต้นแบบ

4.

สหภาพแรงงานแข็งแรงหรือไม่ จะรู้ได้อย่างไร?

โดยทั่วไป จะดูข้อมูลที่เรียกว่า Trade Union Membership Rate หรือ Trade Union Density แปลง่ายๆ ก็คือ สัดส่วนของแรงงานในระบบเศรษฐกิจที่เป็นสมาชิกสหภาพแรงงานในรูปแบบใดรูปแบบหนึ่ง

ประเทศใดก็ตามที่ความเหลื่อมล้ำต่ำ (เช่น ประเทศแถบแสกนดิเนเวีย) จะเห็นว่า Trade Union Density จะสูงมาก แบบขั้นต่ำๆ เกิน 50% และอาจจะมากขึ้นไปถึง 70-80% พูดง่ายๆ คือแรงงานของประเทศกลุ่มนี้เกินครึ่งเป็นสมาชิกสหภาพแรงงาน

และในประเทศยุโรป อัตราการมีส่วนร่วมกับสหภาพของแรงงานที่ 20-30% คือค่าปกติ

ถ้าเราหันมาดูประเทศอย่างสหรัฐอเมริกา จะพบว่าการมีส่วนร่วมกับสหภาพแรงงานของแรงงานทั้งระบบมีแค่ประมาณ 10% เท่านั้น

แล้วแรงงานไทยมีอัตราการมีส่วนร่วมกับสหภาพฯ เท่าไหร่?

คำตอบคือ 1.5% คงไม่ต้องบอกว่านี่คือตัวเลขที่น้อยมากในมาตรฐานสากล (ทำไมถึงน้อยแบบนี้ ถ้าอธิบายรวบรัดที่สุด หลักๆ คือรัฐบาลไทยยังไม่ให้สัตยาบันกับอนุสัญญาขององค์การแรงงานสากลฉบับที่ 87 และ 98 นั่นแปลว่ากฎหมายแรงงานไทยยังไม่ได้ “มาตรฐานสากล” โดยเฉพาะในส่วนสิทธิพื้นฐานในการตั้งสหภาพแรงงาน)

5.

ตัวเลขอัตราการเข้าร่วมสหภาพแรงงานที่ต่างไปในแต่ละประเทศนั้นมีผลอย่างมากกับการทำงานของสหภาพแรงงาน เพราะถ้า “ต่ำเกินไป” จะไม่มีอำนาจต่อรอง ดังเช่นที่เห็นได้ในไทยหรือสหรัฐอเมริกา ที่สหภาพแรงงานแทบจะเป็นสิ่งที่ไม่มีใครสนใจ

ขณะที่ในยุโรป อัตราขั้นต่ำในการร่วมกับสหภาพฯ คือ 20-30%

สหภาพแรงงานจึงมีอำนาจในการกดดันให้บริษัทต่างๆ เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับพนักงาน และนอกเหนือกว่านั้น เวลามีการต่อสู้ทางการเมืองใหญ่ๆ ก็จะเห็นสิ่งที่เรียกว่า “การนัดหยุดงาน” ซึ่งนี่คือการ “แช่แข็งประเทศ” ขนานแท้ เพื่อกดดันรัฐบาล แต่ประเทศที่ไม่ได้มีสหภาพแรงงานที่เข้มแข็ง สิ่งเหล่านี้เกิดขึ้นไม่ได้

ในกรณีของประเทศที่คนทำงานเข้าร่วมกับสหภาพแรงงานเกินครึ่ง เช่นกลุ่มประเทศแถบแสกนดิเนเวีย จะแทบไม่เห็นการ “ประท้วง” เลย เพราะประเทศแถบนี้ นักการเมืองและรัฐบาลทำอะไรก็ต้อง “เกรงใจ” สหภาพแรงงาน

นั่นคือจะไม่กล้าทำอะไรแบบนอกลู่นอกทาง เพราะสหภาพแรงงานที่ใหญ่ระดับนั้นสามารถงัดกับรัฐบาลได้สบายๆ

ดังนั้นรัฐบาลประเทศกลุ่มนี้จะไม่กล้าทำอะไรที่ส่งผลกระทบกับคนทำงานทั้งระบบ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการลดสวัสดิการสังคมไปจนถึงการเพิ่มภาษีที่ทำให้คนทำงานเสียเปรียบนายจ้าง เพราะถ้าทำแบบนั้น ก็เตรียมเจอการรวมตัวนัดหยุดงานของคนงานทั้งประเทศได้เลย

และการนัดหยุดงานไม่ใช่การประท้วงแบบพอน่ารักให้รัฐบาลพอรำคาญ แต่เป็นการประท้วงที่ทำให้ประเทศเป็นอัมพาต และรัฐบาลต้องยอมแพ้ให้แก่ข้อเรียกร้องของประชาชนผู้เป็นแรงงานในที่สุด

ถ้าจะพูดให้เห็นภาพชัด เช่น รัฐบาลสวีเดนไม่กล้าตัดสวัสดิการคนแก่เกษียณ เพราะสหภาพแรงงานใหญ่มาก ในขณะที่ประเทศอย่างฝรั่งเศสที่สหภาพแรงงานมีขนาดเล็กกว่า บางทีรัฐบาลก็พยายามจะตัดพวก

สวัสดิการคนแก่ไปเพื่อลดงบประมาณของรัฐ แต่สิ่งที่รัฐบาลเจอก็คือการประท้วงแบบ “นัดหยุดงานทั่วไป” ซึ่งใหญ่โตมาก และรัฐบาลก็ต้องถอยในที่สุด

6.

สหภาพแรงงานคือสิ่งที่ยุโรปมี แต่พื้นที่อื่นๆ ในโลกแทบจะไม่มีหรือมีก็ไม่แข็งแรง และถือเป็น “ความลับ” ของความสำเร็จในการ “ป้องกัน” ไม่ให้คนในประเทศมีความเหลื่อมล้ำมากจนเกินไป

ทั้งนี้ ถ้าเรามองย้อนไปในอดีตทั้ง “สหภาพแรงงาน” และ “ขบวนการแรงงาน” ยุโรปคือภูมิภาคที่สร้างมาตรฐานการเมืองและเศรษฐกิจสมัยใหม่ขึ้นมา ไม่ว่าจะเป็นสิทธิ์ในการเลือกตั้งของทุกคนอย่างเท่าเทียม สวัสดิการสังคมต่างๆ ตั้งแต่บำนาญของประชาชนเกษียณจนถึงสิทธิพื้นฐานในการรักษาพยาบาล

พูดอีกแบบ “สหภาพแรงงาน” นั้นเป็นสิ่งที่สร้าง “ประชาธิปไตย” ในแบบยุโรปขึ้นมา และคนยุโรปจำนวนมาก ทั้งประชาธิปไตย สวัสดิการสังคม และสหภาพแรงงานล้วนเป็นเรื่องเดียวกันหมด

นี่คือรากฐาน “คุณภาพชีวิต” ของชาวยุโรป ซึ่งถ้าไม่เข้าใจความสัมพันธ์ของสิ่งเหล่านี้ เราก็อาจมองต้นตอของคุณภาพชีวิตคนยุโรปแบบผิดฝาผิดตัวไปกันใหญ่

อ้างอิง: