เรื่อง ‘การสูญพันธุ์ครั้งใหญ่’ กำลังกลายเป็นอีกหนึ่งประเด็นร้อนทางสิ่งแวดล้อมที่ถูกพูดถึงมากขึ้นเรื่อยๆ
ล่าสุดนักวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัยฮาวายร่วมกับ National d’Histoire Naturelle พิพิธภัณฑ์ในปารีส ได้ร่วมตีพิมพ์รายงานที่ยืนยันอีกครั้งว่า ปัจจุบันคือช่วงเวลาที่กำลังพาเราไปสู่ยุคของการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่แล้วจริงๆ
หรือที่ครั้งนี้เราเรียกว่า ‘การสูญพันธุ์ครั้งที่ 6’ นั่นเอง
เพียงแต่หนนี้จะแตกต่างจากเหตุการณ์ในอดีตหน่อย ตรงที่ต้นเหตุเป็นผลจากการกระทำของมนุษย์ทั้งแบบตั้งใจและไม่ตั้งใจ ทั้งการตัดไม้ทำลายป่า การล่าสัตว์ หรือการทำให้เกิดวิกฤตโลกร้อนขึ้นในปัจจุบัน ต่างจากครั้งก่อนๆ ที่เกิดเพราะสาเหตุธรรมชาติเป็นหลัก เช่นครั้งที่เรารู้จักดีอย่างการสูญพันธุ์ของไดโนเสาร์และเหล่าแอมโมไนต์ เมื่อ 65 ล้านปีก่อน ว่าเกิดเพราะอุกกาบาตผสมรวมกับการระเบิดของภูเขาไฟในแถบอินเดีย
แต่ไหนแต่ไรมา เรื่องการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ถูกพูดกันมาไม่ต่ำกว่า 30 ปีแล้ว แต่มักมีเสียงค้านอยู่ตลอด บ้างอ้างว่านักวิทยาศาสตร์ประเมินตัวเลขสูงเกินไป ขณะที่บางกลุ่มเชื่อว่าการสูญพันธุ์กำลังเกิดขึ้นแต่ไม่ต้องไปสนใจ เพราะมันเป็นแค่ส่วนหนึ่งของวิวัฒนาการ เดี๋ยวก็เกิดการปรับตัวขึ้นได้เอง
แต่ในถ้อยแถลงของนักวิทยาศาสตร์คราวนี้ พวกเขากลับบอกว่า ที่ผ่านมาเราประเมินกันต่ำเกินไปต่างหาก เพราะการศึกษาเรื่องการสูญพันธุ์มักพูดกันในเฉพาะกลุ่มสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมและนกเป็นหลัก แต่กลับละเลยสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังและพวกแมลงไป
โรเบิร์ต โควี หัวหน้าทีมวิจัยกล่าวในการแถลงข่าวว่า การรวมสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังเป็นกุญแจสำคัญในการยืนยันว่าเรากำลังอยู่ในยุคการสูญพันธุ์ครั้งใหญ่ครั้งที่ 6 ในประวัติศาสตร์ของโลก
ตัวอย่างหนึ่งที่ถูกยกมากล่าวถึงคือการสูญพันธุ์ของสัตว์จำพวกหอย ซึ่งสรุปได้ว่าตั้งแต่ปี ค.ศ. 1500 เป็นต้นมา มีหอย 7.5-13 เปอร์เซ็นต์ หรือระหว่าง 150,000-260,000 สายพันธุ์ จาก 2 ล้านสายพันธุ์ที่รู้จักได้สูญพันธุ์ไปแล้ว
แต่กรณีของหอยต่างๆ นักวิทยาศาสตร์ถือว่าเป็นความโชคดีที่พวกมันยังเหลือเปลือกเอาไว้ให้สังเกตชนิดของสายพันธุ์ แม้ว่าตัวมันจะล่วงลับไปแล้ว ตรงกันข้ามกับกลุ่มแมลง ที่เมื่อเกิดการสูญพันธุ์ขึ้น เราจะไม่มีทางรู้ได้เลย หากแมลงชนิดนั้นไม่เคยมีการบันทึกรายละเอียดของชนิดพันธุ์เอาไว้ก่อน
เหตุที่ นักวิทยาศาสตร์หยิบเอาสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังมาใช้เป็นเหตุผลในการอภิปรายนั้น ก็เพราะว่าปริมาณชนิดพันธุ์ของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลังนั้นมีมากยิ่งกว่ามาก หากเปรียบเทียบกับเหล่าสัตว์ที่มีกระดูกสันหลัง
หรือกล่าวได้ว่า อันที่จริงแล้วเราอาศัยอยู่ใน ‘ดวงดาวของสัตว์ไม่มีกระดูกสันหลัง’ เพราะจากชนิดพันธุ์ทั้งหมดที่เรารู้จัก มีเพียงร้อยละ 5 เท่านั้นที่มีกระดูกสันหลัง โดยแมลงคิดเป็นร้อยละ 70 ส่วนสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมนั้นมีสัดส่วนน้อยกว่า 1 ใน 200 ชนิด เท่านั้น
ในการที่นักวิทยาศาสตร์ออกมายืนยันว่าเรากำลังเข้ายุคของการสูญพันธุ์ครั้งที่ 6 แล้วจริงๆ มีวัตถุประสงค์อยู่สองอย่าง เรื่องแรกคือเรียกร้องให้เกิดการอนุรักษ์สิ่งมีชีวิตบนโลกให้มากขึ้นกว่าเดิม เพราะที่ดำเนินการอยู่ยังไม่เพียงพอ
อีกเรื่องคือ เราต้องยิ่งทำความรู้จักให้กับสิ่งมีชีวิตบนโลกให้มากขึ้นและไวขึ้นกว่า เพราะมันไม่ใช่แค่การทำความรู้จักกันเพียงอย่างเดียว แต่ยังเพื่อให้เกิดความเข้าใจสายใยที่มองไม่เห็น ที่สิ่งหนึ่งสามารถส่งผลถึงอีกสิ่งได้ และเมื่อสิ่งหนึ่งหายไป มันก็จะมีผลกระทบด้านลบตามมา
ดังที่ อี. โอ. วิลสัน นักกีฏวิทยาผู้โด่งดัง เคยอธิบายเอาไว้ว่า ถ้าแมลงทั้งหมดได้สูญพันธุ์ไปจากโลก มนุษย์จะมีชีวิตรอดอยู่ไม่กี่เดือน หลังจากนั้นไม่นาน สัตว์ครึ่งบกครึ่งน้ำ สัตว์เลื้อยคลาน นก และสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมก็จะค่อยๆ สูญพันธุ์ ตามมาด้วยพืชดอก พื้นผิวโลกจะถูกทับถมด้วยซากพืชซากสัตว์ที่ไม่ยอมย่อยสลาย พวกเห็ดราอาจเติบโตอย่างรวดเร็วในเวลาสั้นๆ แต่ไม่นาน พวกมันก็จะตายตามไป
โลกจะกลับไปสู่สภาพที่เคยเป็นเมื่อ 440 ล้านปีก่อน ที่บนพื้นดินจะมีแต่สิ่งมีชีวิตที่ยังคงเป็นกลุ่มก้อนของเซลล์ เช่น ฟองน้ำ หรือมอส รอเวลาที่กุ้งผู้กล้าจะมาเสี่ยงโชคบนแผ่นดินอีกครั้ง
อ้างอิง
- Biological Reviews. The Sixth Mass Extinction: fact, fiction or speculation? https://bit.ly/34602Rw
- Hawaii.edu. Earth on trajectory to Sixth Mass Extinction say biologists. https://bit.ly/3fRqpNY
- The Guardian. ‘A different dimension of loss’: inside the great insect die-off. https://bit.ly/3FtuJhs