2 Min

Empathy ไม่ได้ดีแค่กับคนอื่น มาดูกันว่ามันส่งผลดีต่อเราและการทำงานยังไงบ้าง

2 Min
809 Views
29 Jul 2021

‘Empathy (การเห็นอกเห็นใจผู้อื่น)’ เป็นคำที่ถูกนำมาใช้เรียกแบบทับศัพท์อย่างแพร่หลายในปัจจุบัน โดยนักวิจัยทางด้านอารมณ์ได้ให้คำนิยามของ Empathy ไว้ว่าเป็นความสามารถในการรับรู้อารมณ์ของผู้อื่น มองเห็นสิ่งต่างๆ จากมุมมองของพวกเขา ควบคู่ไปกับการจินตนาการว่าตัวเองอยู่ในจุดนั้น และรู้สึกในสิ่งที่พวกเขากำลังรู้สึก 

เช่น ถ้าหากเห็นว่าคนอื่นกำลังมีความทุกข์ เราอาจจะเผลอนึกถึงภาพตอนตัวเองทุกข์เช่นเดียวกัน จนรู้สึกเห็นใจกับสิ่งที่พวกเขากำลังเผชิญ เป็นต้น ดังนั้นการมี ‘Empathy’ จึงถือเป็นหนึ่งในเรื่องราวดีๆ ของโลกนี้ที่มนุษย์มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน 

แต่ด้วยสถานการณ์ตอนนี้ทำให้ใครหลายๆ คน กำลังตกที่นั่งลำบากและทุกข์ทรมาน การมี Empathy หรือความเห็นอกเห็นใจกันจึงมีความสำคัญอย่างมาก 

พามาเช็คลิสต์ 3 ข้อ กับ 3 ประเภทของ Empathy ว่าจริงๆ แล้วเรามีความเห็นอกเห็นใจต่อผู้อื่นหรือไม่?

1. คิดว่าตัวเองยืนอยู่ในจุดเดียวกับอีกฝ่าย (Perspective-taking)

หากคุณมีความรู้สึกเห็นอกเห็นใจผู้อื่น ด้วยการมองจากมุมมองของอีกคนหนึ่ง หรือเรียกให้เข้าใจง่ายๆ ว่าเอาใจเขามาใส่ใจเราแสดงว่าคุณมี Empathy แบบ Perspective-taking นอกจากนี้ยังมีการวิจัยมาแล้วว่าคนที่มี Perpective-taking จะเป็นคนที่ใจกว้าง พร้อมเปิดใจและรับฟังความคิดเห็นที่แตกต่างของคนอื่นมากขึ้น โดยงานวิจัยนี้ยังบอกอีกว่าคนที่เป็นผู้นำควรจะมีทักษะนี้ติดตัวไว้

2. เป็นห่วงและกังวลแทนอีกฝ่ายอยู่เสมอ (Empathic concern) 

หากคุณเป็นคนที่รับรู้ถึงสภาวะทางอารมณ์ของผู้อื่น สามารถเข้าใจได้ว่าอีกฝ่ายรู้สึกอย่างไร โดยการรับรู้ได้จากสีหน้าท่าทางและคำพูดของอีกฝ่าย ถึงแม้ว่าจะเล็กๆ น้อยๆ แต่ก็สามารถรับรู้ได้ พร้อมทั้งคอยถามไถ่อีกฝ่ายว่าเป็นอะไรหรือเปล่า?’ อยู่เสมอ แสดงว่าคุณเป็นคนที่มี Empathy แบบ Empathic concern คนที่มี Empathy ประเภทนี้เป็นคนที่มองโลกในแง่บวก คอยช่วยเหลือคนที่กำลังทุกข์ใจหรือกำลังเจอกับปัญหา ซึ่งข้อดีคือมันสามารถช่วยทำให้อีกฝ่ายสบายใจและพัฒนาความสัมพันธ์ของเรากับอีกฝ่ายไปในทางที่ดีขึ้นได้

3.  เคยเจอเหตุการณ์แบบเดียวกันเลยเห็นใจกัน (Personal distress) 

หากคุณเคยสังเกตเห็นว่าอีกฝ่ายมีความเศร้าหรือทุกข์ใจผ่านสีหน้า แววตา และท่าทาง ถึงแม้ว่าพวกเขาเหล่านั้นจะไม่ได้แสดงออกมาทางคำพูด แต่คุณก็สามารถเข้าใจความรู้สึกนั้นได้เป็นอย่างดี แสดงว่าคุณมี Empathy แบบ Personal distress เนื่องจากคนที่มี Empathy ประเภทนี้เคยประสบพบเจอเหตุการณ์เดียวกับอีกฝ่ายมาก่อนเลยมีความรู้สึกร่วมด้วย หรือพูดให้เข้าใจง่ายๆ ว่าถ้าเธอร้องไห้ เราก็ร้องไห้ด้วยซึ่งกรณีแบบนี้อาจเกิดขึ้นบ่อยจากการที่เราอ่านหนังสือ ดูหนัง หรือแม้กระทั่งในความฝัน

หากอ่านมาถึงตรงนี้แล้ว ลองเช็กตัวเองดูว่า Empathy ประเภทไหนที่ตรงกับลักษณะนิสัยของเราบ้าง แต่ถ้าไม่มีข้อไหนที่ตรงกับนิสัยของตัวเองเลย ขอแค่เพียงเปิดใจให้กว้าง พร้อมที่จะรับฟังและเข้าใจถึงปัญหาของผู้อื่น พยายามปรับมุมมองว่าถ้าเราต้องเผชิญกับปัญหานั้น หรือ ตกอยู่ในสถานการณ์แบบนั้นจะทำอย่างไร เพียงเท่านี้ก็ถือว่าเป็นการเริ่มต้นของการมี Empathy ที่ดีแล้ว เพราะตอนนี้เราอยู่ในยุคที่โลกและประเทศจะขับเคลื่อนต่อไปได้ถ้ามนุษย์มีความเห็นอกเห็นใจซึ่งกันและกัน

อ้างอิง