3 Min

หยุดใช้อารมณ์เป็นนาย แล้วให้ใจเรากลายเป็นบ่าวกันเถอะ ว่าด้วยความเคยชินในการโอบอุ้มอารมณ์ ความรู้สึก จนทำให้คุณภาพชีวิตย่ำแย่ แก้ยังไงดี?

3 Min
17 Views
02 Jul 2025

บางครั้ง เราโมโหจนขาดสติ ขึ้นเสียงดังใส่คนใกล้ตัว
บางครั้ง ก็เครียดกับเรื่องที่ยังไม่เกิดขึ้น จนไม่ได้ฟังคนตรงหน้า
แต่ทำไมบางครั้ง กลับรู้สึกวางใจลงได้ แม้กำลังเผชิญกับปัญหามากมาย

งั้นลองหยุดทุกอย่างลงสักครู่ แล้วเอาใจไปโฟกัสที่นิ้วโป้งเท้าข้างขวา ลองเหยียดนิ้วแล้วขยับไปมาดูสิ ทีนี้สังเกตดูสิว่าเรากำลังรู้สึกถึงมันอยู่ ทั้งที่ปกติไม่ได้สนใจด้วยซ้ำว่ามันเป็นยังไง

นี่คือกลไกเล็กๆ ในการทำงานของสมองมนุษย์เรา ที่ทำหน้าที่เสมือนเป็น ‘เครื่องกรอง’ ข้อมูล มันสามารถจัดการกับข้อมูลมากมายที่ประเดประดังเข้ามาในแต่ละวินาทีโดยไม่ให้เรารู้สึกหนักเกินไป และมีเพียงสิ่ง ‘จุดสปอตไลต์’ เท่านั้นที่เราเลือกจะ ‘โฟกัส’ หรือ ‘สนใจ’ ที่จะกลายเป็นความรู้สึกที่เด่นชัดขึ้นมาในจิตใจ ยิ่งเราเพ่งมอง มันยิ่งขยายใหญ่ขึ้น

งานวิจัยของคณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด (Stanford University’ s School of Medicine) เคยทำการทดสอบโดยให้ผู้เข้าร่วมถือเครื่องมือที่ให้ความร้อนจนรู้สึกไม่สบาย ปรากฏว่ากลุ่มที่เบี่ยงเบนความสนใจด้วยการคิดถึงคนที่รักหรือเล่นเกมคำศัพท์ รายงานว่ารู้สึกเจ็บน้อยกว่ากลุ่มที่จดจ่ออยู่กับความรู้สึกไม่สบายของตัวเองอย่างมีนัยสำคัญ สิ่งนี้สะท้อนถึงหลักการเดียวกันที่ใช้ได้กับอารมณ์ของเรา

ดังที่นักจิตวิทยาชื่อดัง วิลเลียม เจมส์ (William James) เคยกล่าวไว้ว่า “ประสบการณ์ของผมคือสิ่งที่ผมเลือกจะใส่ใจ” นั่นคือเรามีสิทธิ์เลือกได้ว่าจะให้ความสนใจกับสิ่งใด และเมื่อไหร่ที่เราหมกมุ่นกับความรู้สึกเชิงลบ มันก็จะยิ่งมีอำนาจเหนือเรามากขึ้น เหมือนกับการใส่ปุ๋ยให้วัชพืช

แถมยังสอดคล้องกับสุภาษิตไทยที่กล่าวไว้ว่า ‘จิตเป็นนาย กายเป็นบ่าว’ ซึ่งเปรียบให้จิตใจและความคิดเป็นเจ้านายที่มีมีอิทธิพลส่งร่างกายให้ปฏิบัติตาม ดังนั้นหากตามมันไม่ทัน ทุกครั้งที่อารมณ์ไม่ดีจึงทำให้เกิดการกระทำที่ผิดพลาด หรือเรื่องแย่ๆ บ่อยครั้ง

แต่ MOODY ไม่ได้บอกว่าการสนใจความรู้สึกของตัวเองเป็นเรื่องผิดนะ มันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ แต่ปัญหาอยู่ตรงที่เรามักจมอยู่กับมันจนลืมไปว่า ชีวิตเรามีมากกว่านั้น เพราะฉะนั้นจะเห็นว่าคนที่มีความแข็งแกร่งทางใจจำนวนมากไม่ได้เอาเวลาทั้งหมดไปใช้กับการ ‘เข้าใจตัวเอง’ หรือ ‘ค้นหาตัวเอง’ อย่างหมกมุ่น เพราะเอาเข้าจริงไม่มีใครค้นพบตัวเองอย่างสมบูรณ์แบบ และนั่นก็ไม่ใช่เรื่องที่ต้องวิตกด้วยซ้ำ เพราะเราทุกคนต่างอยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงและเติบโตเสมอ

อย่างไรก็ดี คนที่ปรับตัวกับชีวิตได้ดีมักมีจุดร่วมกันอยู่อย่างหนึ่ง คือพวกเขา ‘ยอมรับ’ ความรู้สึกที่เกิดขึ้นโดย ‘ไม่พยายามปฏิเสธหรือผลักไส’ มันออกไป พวกเขารับรู้ถึงอารมณ์ที่ไม่สบายใจอย่างเป็นกลาง และรู้ว่าความรู้สึกจะค่อยๆ ผ่านไปเองถ้าเราไม่ไปเติมเชื้อให้มัน สิ่งที่พวกเขาทำคือการไม่ยอมให้อารมณ์มาชี้นำชีวิต แต่เลือกที่จะลงมือทำในสิ่งที่มีความหมายต่อเป้าหมายที่ตั้งไว้

การกระทำของพวกเขาไม่ใช่การลุยไปแบบไร้ทิศทาง แต่เป็นการเลือกอย่างตั้งใจ พวกเขารู้ว่าเราไม่สามารถควบคุมความคิดทุกอย่างที่แล่นผ่านหัวได้ แต่เราสามารถควบคุมการกระทำของตัวเองได้เสมอ ไม่ว่าความรู้สึกภายในจะบอกให้เรานิ่งเฉย หรือหวั่นไหวมากแค่ไหน

หลายครั้งในชีวิต เราใช้ความรู้สึกเป็นข้อแก้ตัว เช่น “ฉันไม่กล้าขอในสิ่งที่ต้องการ เพราะรู้สึกวิตกกังวล” หรือ “ฉันตะคอก เพราะฉันโกรธ” หรือ “ฉันไม่ได้ฟัง เพราะใจลอย” คำว่า ‘เพราะ’ เหล่านี้ฟังดูเหมือนคำอธิบาย แต่แท้จริงแล้วมันคือรูปแบบหนึ่งของการหาเหตุผลเข้าข้างตัวเอง (rationalization) เพราะการไม่ขอ การขึ้นเสียง หรือการไม่ฟัง ล้วนเป็น ‘การเลือก’ ที่เราทำได้เองทั้งสิ้น

การเข้าใจอารมณ์ไม่จำเป็นต้องหมายถึงการวิเคราะห์ให้ลึกจนเจ็บปวด บางครั้งเพียงแค่สังเกตมันอย่างเป็นกลางก็เพียงพอแล้ว ลองถามตัวเองว่า ตอนนี้เรารู้สึกอะไร โดยไม่ตัดสินว่าความรู้สึกนั้นดีหรือไม่ดี แต่รับรู้ว่ามันเป็น ‘สัญญาณ’ ที่บอกอะไรบางอย่างเกี่ยวกับสถานการณ์

เมื่อเข้าใจสัญญาณนั้นแล้ว ก็กลับมาถามตัวเองว่า ‘เรากำลังมุ่งไปทางไหน’ และ ‘การกระทำแบบไหนที่สอดคล้องกับเป้าหมายของเรา’ แม้ว่าอารมณ์ภายในจะไม่อยากให้เราทำสิ่งนั้นเลยก็ตาม การเลือกทำในสิ่งที่มีเป้าหมายจะช่วยให้เราควบคุมชีวิตได้อย่างมั่นคงขึ้น

ดังนั้น ในวันที่ความรู้สึกเชิงลบดูจะครอบงำจิตใจ ลองเปลี่ยนโฟกัสด้วยกิจกรรมเล็กๆ ที่ช่วยพาเรากลับมาอยู่กับปัจจุบัน เช่น การคิดถึงคนที่เรารัก ทำสิ่งที่เราชอบ หรือเลือกทำอะไรที่เป็นประโยชน์กับผู้อื่น ไม่ใช่เพื่อหนีจากอารมณ์ แต่เพื่อเลือกว่าเราจะใช้พลังงานจิตใจกับอะไรต่างหาก

ดังที่ เดวิด เค. เรย์โนลด์ส (David K. Reynolds) นักบำบัดเคยกล่าวไว้ว่า “การบ่นอย่างต่อเนื่อง เพียงแต่ทำให้เราเป็นนักบ่นที่เชี่ยวชาญ” ความจริงคือ เราไม่จำเป็นต้องเข้าใจอารมณ์ทั้งหมดก่อนจะดำเนินชีวิตต่อไป แค่หยุดหมกมุ่นกับมัน แล้วเริ่มให้ความสำคัญกับ ‘การกระทำ’ ที่สะท้อนสิ่งที่เราต้องการจริงๆ

เพราะสุดท้ายแล้ว อารมณ์มีไว้สำหรับ ‘รู้สึก’ ไม่ใช่สำหรับ ‘อธิบาย’ ‘แก้ตัว’ หรือ ‘แสดงออกโดยไม่ยั้งคิด’

เมื่อเราเปลี่ยนบทบาทจากการเป็นผู้ถูกอารมณ์ควบคุม มาเป็นเจ้าของการเลือก เราจะเริ่มสัมผัสได้ถึงพลังบางอย่างที่เคยหายไป และค้นพบว่าความสุขในชีวิตไม่ใช่การไม่รู้สึกอะไรเลย

แต่คือการรู้สึกโดยไม่ปล่อยให้ความรู้สึกเหล่านั้นมากำหนดทิศทางชีวิต

อ้างอิง: