2 Min

พูดไม่ออก บอกไม่ถูก ฉันรู้สึกอะไรอยู่กันแน่ มาระบายลง Emotion Wheels กัน

2 Min
943 Views
31 May 2023

ไม่ว่าเราจะมีบุลิกภาพแบบใด ตาม MBTI จะเป็นคนที่ค่อนไปทางใช้อารมณ์ หรือการใช้เหตุผลมากกว่า นั่นอาจไม่สำคัญเท่ากับ ‘การมีความฉลาดทางอารมณ์’

คุณสมบัติสำคัญที่ช่วยทำให้คนเราสามารถใช้ชีวิตได้อย่างราบรื่น

โดยหนึ่งในองค์ประกอบสำคัญของการมีความฉลาดทางอารมณ์คือ ‘ความสามารถในการรับรู้ และแยกแยะอารมณ์’ ของตัวเองได้ แต่ในบางครั้งก็เป็นเรื่องยากที่จะอธิบายว่า ตอนนี้เรารู้สึกอะไรกันแน่ หรืออยู่ในอารมณ์แบบไหน เพราะบางอารมณ์ก็มีความใกล้เคียง หรืออยู่ในหมวดหมู่อารมณ์เดียวกัน

ไม่ต้องห่วงเพราะศาสตราจารย์ ดร.โรเบิร์ต พลัทชิค ได้ทำการคิดค้นแผนภาพการจำแนกอารมณ์ที่เรียกว่า Emotion Wheels หรือ กงล้อแห่งอารมณ์ มาให้แล้ว เพื่อช่วยให้เราสามารถแยกแยะอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองได้ดีขึ้น

ซึ่งรากอารมณ์หลักของมนุษย์เริ่มต้นจาก 4 คู่อารมณ์ ได้แก่ ความรื่นเริง (Joy) กับ ความเศร้า (Sadness) ความโกรธ (Anger) กับ ความกลัว (Fear) ความวางใจ (Trust) กับ ความรังเกียจ (Disgust) และความประหลาดใจ (Surprise) กับ ความคาดหวัง (Anticipation) แล้ว ซึ่งแตกออกเป็นอารมณ์ย่อยๆ ตามมา

แต่ในวงล้อที่นิยมใช้กัน จะเริ่มด้วยความสุข ความทุกข์ ความเศร้าเสียใจ ความกลัว ความโกรธ ความรังเกียจ และความประหลาดใจ โดยวิธีการใช้กงล้อแห่งอารมณ์แยกความรู้สึกของเรา ให้เริ่มจากวงกลมด้านในสุดซึ่งเป็นก้อนอารมณ์ใหญ่ ก่อนจะค่อยๆ ขยายออกมายังก้อนอารมณ์ย่อยในวงนอกทีละขั้น

ทีนี้เราก็สามารถสำรวจตัวเองได้แล้วว่า ตอนนี้เรารู้สึกยังไงบ้าง หากทำบ่อยๆ หรือเป็นประจำก็จะทำให้เรารู้เท่าทันอารมณ์ตัวเองได้ ว่าหากรู้สึกแบบนี้ควรจัดการกับอารมณ์ตัวเองอย่างไร

เมื่อเรามีความสามารถในการรับรู้ แยกแยะ และจัดการกับอารมณ์ตัวเองได้ดีขึ้นแล้ว แน่นอนว่ามันจะส่งผลกับการทำงานด้านเหตุผล และการคิดวิเคราะห์ให้ดีขึ้นอีกด้วย ซึ่งหัวข้อเรื่องอารมณ์กับเหตุผล เป็นอีกหนึ่งประเด็นที่คนเรามักแยกให้อยู่ตรงข้ามกัน แต่อันที่จริงแล้วสองสิ่งนี้ต่างมีอิทธิพลต่อการรับรู้ และประสบการณ์ของมนุษย์ อารมณ์และเหตุผลจึงทำงานร่วมกันอยู่เสมอ

โดยหากสังเกตดูดีๆ ในการตัดสินใจบางครั้งที่เราต้องหาเหตุผลมาสนับสนุน ล้วนมาจากอารมณ์ที่เชื่อมโยงกับค่านิยม ความต้องการ และความเชื่อส่วนตัวของเรา กลับกันก่อนที่เราจะเกิดความรู้สึกใดๆ ก็ย่อมมีเหตุที่ทำให้เกิดอารมณ์ซึ่งเป็นผลตามมาก็ได้

หากอธิบายให้เห็นภาพมากขึ้น ลองนึกถึงเวลาที่เราจะซื้อของสักชิ้นหนึ่ง เราไม่ได้ใช้ความรู้สึก หรือเหตุผลเป็นองค์ประกอบเดียวในการตัดสินใจ แต่ทั้งสองฝั่งต่างมีอิทธิพลร่วมกันให้เราตัดสินใจ เช่น บางคนจำเป็นต้องดื่มกาแฟ 1 แก้วในตอนเช้า เพราะร่างกายต้องการคาเฟอีนเพื่อให้มีพลังในการทำงาน แต่ใช่ว่าทุกคนจะดื่มกาแฟแบบเดียวกันหมด ต่างคนต่างก็มีกาแฟร้านที่ชอบ รสชาติที่ใช่ เป็นรสนิยมส่วนตัวทั้งนั้นใช่ไหม

ดังนั้น จะเห็นได้ว่าอารมณ์กับเหตุผลไม่ได้อยู่ตรงข้ามกัน ประโยคที่ว่า คนนั้นใช้แต่อารมณ์ คนนี้ใช้แต่เหตุผล ก็อาจไม่จริงเสมอไป หากยังมีข้อสงสัยเกี่ยวกับหัวข้อนี้ สามารถหาคำตอบได้ใน ด้วยรักและปรัชญา SS2 EP. 3 | เราควรเป็นคนที่ใช้ เหตุผล หรือ อารมณ์ มากกว่ากัน ได้ที่:

YouTube: https://youtu.be/d9o0eZOfiMc

Apple Podcasts: https://bit.ly/42TNNRU

Spotify: https://bit.ly/41VHNGK

อ้างอิง