2 Min

วิ่งเข้าหา สะบัดหู เปล่งเสียง ฉี่หรืออึใส่ คือวิธีที่ ‘ช้าง’ ใช้ทักทายเพื่อนฝูงเมื่อเจอกัน

2 Min
78 Views
20 May 2024

มีการศึกษาก่อนหน้านี้ที่ค้นพบว่า ช้างสามารถสื่อสารได้จากระยะไกลโดยใช้เสียงก้องที่ต่ำเกินกว่าที่มนุษย์จะได้ยิน โดยหูขนาดใหญ่ของสายพันธุ์ของพวกมันจะได้ยินอย่างง่ายดาย ส่วนงวงยาวนั้นมีความสามารถในการรับกลิ่นที่ยอดเยี่ยม ช้างสามารถดมกลิ่นอายุ พี่น้องในฝูงของมันหรือแม้แต่กลุ่มทางสังคมในฝูงอื่น หรือรับรู้กลิ่นมนุษย์ได้ 

แต่รู้ไหมว่าหลังจากแยกออกจากฝูงแล้วกลับมารวมกันใหม่ เหล่าช้างมีวิธีการทักทายกันอย่างไร? เวสตา เอเลอูเทรี (Vesta Eleuteri) นักวิจัยจากมหาวิทยาลัยเวียนนาได้หาคำตอบมาให้แล้ว

โดยการศึกษาของเอเลอูเทรี ได้รับการตีพิมพ์เมื่อวันที่ 9 พฤษภาคมในวารสาร Communications Biology อธิบายว่า เธอและเพื่อนร่วมงานได้ทำการสังเกตกลุ่มช้างสะวันนาแอฟริกาจำนวน 9 เชือก ที่อาศัยอยู่ในเขตสงวนของ Jafuta Foundation ประเทศซิมบับเว โดยแยกช้างเหล่านี้ออกครั้งละ 10 นาที แล้วนำกลับมารวมกันเพื่อสังเกตการทักทายของพวกมัน

พวกเธอพบว่า ช้างมักใช้เสียงร้องผสมกับท่าทางในช่วงที่กลับมารวมตัวกันใหม่ มีการเปล่งเสียงร้องดึงกึกก้องร่วมกับสะบัดหูไปมา ซึ่งเป็นวิธีการที่ตัวเมียใช้กันเป็นส่วนใหญ่

แต่นอกจากนี้ ยังมีใช้การหลั่งของเหงื่อ รวมถึงการปัสสาวะหรืออุจจาระใส่กัน เพื่อเป็นตัวกระตุ้นประสาทสัมผัสการดมกลิ่นในการทักทายของพวกมัน โดยพวกมันจะปล่อยสารคัดหลั่งต่างๆ ออกมาเพื่อเป็นสัญญาณว่า “มาดมฉันสิ ฉันอยู่นี่ไง” เพื่อให้ตัวอื่นได้กลิ่น บางตัววิ่งมาหากันแล้วฉี่ใส่ก่อนจะคลอเคลียกันด้วยการใช้งวงเพื่อทักทาย

ทั้งนี้เอเลอูเทรียังระบุอีกว่า วิธีการสื่อสารที่แต่ละตัวใช้กับอีกตัวที่มันจะทักทายนั้นแตกต่างกันไป ขึ้นอยู่กับว่าเป้าหมายที่มันจะทักทายกำลังมองตากันหรือไม่ หากอีกตัวกำลังมองอยู่มันจะใช้ท่าทางอย่างกางหู โยกตัว แต่หากตัวที่อยากคุยด้วยไม่มองก็จะส่งเสียงร้อง หรือไม่ก็สะบัดหูไปมาเพื่อให้เกิดเสียง รวมถึงเข้าไปสัมผัสตัวอีกฝ่าย

ซึ่งการค้นพบความสามารถเหล่านี้ในช้าง แสดงให้เห็นว่าพวกมันมีวิวัฒนาการที่ความซับซ้อนและหลากหลายเช่นเดียวกับการสื่อสารของลิงชิมแปนซีและมนุษย์อย่างเรา โดยหลังจากนี้เอเลอูเทรียังคงเฝ้าสังเกตเพื่อศึกษาการสื่อสารของช้างต่อไป

อ้างอิง