ร้อนกว่าอากาศคือค่าไฟ! การไฟฟ้าฯ ปรับค่า Ft ใหม่ตั้งแต่เดือน พ.ค. เป็นเหตุผลว่าทำไมค่าไฟพุ่งจนคนปาดเหงื่อ
ช่วงต้นเดือนมิถุนายน 2565 ผู้ใช้สื่อโซเชียลในไทยหลายรายโชว์บิลค่าไฟฟ้าที่พุ่งสูงกว่าที่เคยเรียกเก็บเมื่อเดือนก่อนหน้า โดยหลายคนบอกว่า ‘ตกใจ’ เพราะเงินที่ต้องจ่ายนั้นเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่ก็มีคนบอกเช่นกันว่านี่คือเรื่องที่คนไทยควรจะรู้อยู่แล้ว เนื่องจากมีการประกาศว่าจะปรับเพิ่มอัตราค่าไฟฟ้าผันแปร หรือค่าเอฟที (FT ย่อมาจาก Float time หมายถึง การลอยค่าของต้นทุนการผลิตไฟฟ้าที่การไฟฟ้าไม่สามารถควบคุมได้ เช่น ราคาเชื้อเพลิง อัตราเงินเฟ้อ อัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศ เป็นต้น ตามช่วงเวลาต่างๆ ที่ใช้เป็นกรอบในการคำนวณ) ตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา
เรื่องนี้เริ่มต้นจากเดือนมีนาคม 2565 ซึ่งคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) มีมติให้ ‘ปรับเพิ่มค่าไฟฟ้าผันแปร’ หรือค่า FT ในการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าทั่วประเทศ ตั้งแต่เดือนพฤษภาคม–สิงหาคม 2565 โดยเก็บค่า FT เพิ่มจาก 1.39 สตางค์ต่อหน่วย เป็น 24.77 สตางค์ต่อหน่วย จึงเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ค่าไฟของหลายๆ ครัวเรือนเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ
แต่ก็ยังมีหลายคนที่สงสัยว่าค่า FT คืออะไร?
การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) อธิบายว่า นี่คือการคำนวณค่าไฟฟ้าตามสูตรปรับอัตราค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ ซึ่งเป็นปัจจัย 1 ใน 3 ที่การไฟฟ้าฯ นำมาอ้างอิงเพื่อเรียกเก็บค่าไฟฟ้าจากผู้ใช้งานในประเทศ ขณะที่อีก 2 ปัจจัย คือ ‘ค่าไฟฟ้าฐาน’ และ ‘ภาษีมูลค่าเพิ่ม’ ที่รวมอยู่ในบิลค่าไฟของแต่ละบ้านเช่นกัน
ช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อัตราค่า FT มีการปรับขึ้นและลงอยู่เสมอ โดยค่า FT ต่ำสุดคือปี 2555 ค่า FT ขายปลีก (สตางค์/หน่วย) อยู่ที่ 0.00 และอัตราสูงสุดอยู่ในช่วงเดือนพฤษภาคม–ธันวาคม 2557 ค่า FT ขายปลีก (สตางค์/หน่วย) อยู่ที่ 69.00
ส่วนการตรึงอัตราค่า FT ไม่ให้เกิน 0.00 สตางค์ต่อหน่วย มีผลบังคับใช้ตั้งแต่ปลายปี 2558 มาจนถึงเดือนธันวาคม 2564 และมีการปรับค่า FT ขายปลีกเป็น 1.39 สตางค์/หน่วย ช่วงเดือนมกราคม–เมษายน 2565 ก่อนจะปรับเป็น 24.77 สตางค์/หน่วย ช่วงเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม 2565
คนที่อยากดูอัตราค่า FT ย้อนหลังตั้งแต่ปี 2535 เป็นต้นมา สามารถเข้าไปดูได้ที่เว็บไซต์ของการไฟฟ้านครหลวง: https://bit.ly/3xHp2Lu
อย่างไรก็ดี โฆษกรัฐบาลเองก็บอกว่ามติคณะรัฐมนตรีในรัฐบาล พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา เมื่อเดือนพฤษภาคม เห็นชอบให้มีการลดค่า FT แก่ครัวเรือนหรือผู้ประกอบธุรกิจรายย่อยในประเทศที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน โดยเสนอให้ลดค่า FT ลง 22 สตางค์ต่อหน่วย ในช่วงเดือนพฤษภาคม–สิงหาคม และอนุมัติงบประมาณในกรอบวงเงิน 1,724.95 ล้านบาท เพื่อช่วยเหลือประชาชนในด้านนี้
ความเป็นมาของค่า FT ที่นักเคลื่อนไหวชี้ว่าเข้าข่าย ‘นโยบายไม่เป็นธรรม’
ค่า FT ถูกรวมอยู่ในบิลค่าไฟของคนไทยมาตั้งแต่เดือนกันยายน 2535 สืบเนื่องจากมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มกราคม 2534 ซึ่งมีความเห็นว่า การเก็บค่าไฟฟ้าควรจะปรับขึ้นลงได้ตามสูตรคำนวณอัตโนมัติ (automatic adjustment mechanism) เพื่อให้การเรียกเก็บค่าไฟฟ้าในประเทศสอดคล้องกับ ‘ต้นทุนที่แท้จริง’ ในการลงทุนด้านต่างๆ ของภาครัฐและเอกชน
สิ่งที่เป็นการลงทุนเรื่องการไฟฟ้าและควรต้องนำมารวมกับการคำนวณค่าไฟในทัศนะของภาครัฐไทย มีทั้งการก่อสร้างโรงไฟฟ้า ก่อสร้างระบบสายส่ง ค่าเชื้อเพลิงในการผลิตกระแสไฟฟ้า และการซื้อไฟฟ้าจากผู้ผลิตไฟฟ้าเอกชน และจากประเทศเพื่อนบ้านของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ค่าใช้จ่ายระบบสายจำหน่ายและการค้าปลีกของการไฟฟ้าฝ่ายจำหน่าย (การไฟฟ้านครหลวง และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค) ภายใต้สมมุติฐานความต้องการใช้ไฟฟ้า ราคาเชื้อเพลิง อัตราแลกเปลี่ยน อัตราเงินเฟ้อ และการปรับปรุงประสิทธิภาพของกิจการไฟฟ้า
ถึงอย่างนั้นก็มีผู้วิพากษ์วิจารณ์เช่นกันว่าการเรียกเก็บค่าไฟฟ้าที่รวมถึงค่า FT ไม่ได้สะท้อนความต้องการใช้ไฟฟ้าของประชาชนที่แท้จริง เพราะนักเคลื่อนไหวด้านสังคมและสิ่งแวดล้อมมองว่า การผลิตไฟฟ้าที่เป็นอยู่ในประเทศไทยนั้นเป็นการ ‘ผลิตเกิน’ และการผลิตไฟฟ้าล้นเกินมีผลให้ ‘ค่าไฟแพง’ เพราะระบบของประเทศไทยใช้ระบบที่เรียกว่า ‘ค่าความพร้อมจ่าย’ คือ ‘ต่อให้เราไม่ใช้เราก็ต้องจ่าย เพราะการรับซื้อไฟฟ้ากระทำเป็นสัญญาซื้อขาย’
นอกจากนี้ กลุ่ม ‘หยุดถ่านหินกระบี่’ ยังตั้งข้อสงสัยด้วยว่า การปล่อยโควตาให้มีการผลิตไฟฟ้ามากที่สุดอาจเป็นไปเพื่อให้กลุ่มทุนที่ครอบครองการผลิตเก็บค่าไฟฟ้าจากประชาชนได้ในราคาที่แสนแพง ‘เพื่อปรนเปรอกลุ่มทุน’ ที่มีอยู่ไม่กี่ตระกูลในประเทศไทย
อ้างอิง
- การไฟฟ้านครหลวง. ความเป็นมาของ Ft. https://bit.ly/3txnGjW
- ThaiPost. ครม. เห็นชอบงบช่วยค่าไฟฟ้า ลดค่าเอฟที 4 เดือน บ้านที่อยู่อาศัย–กิจการขนาดเล็ก. https://bit.ly/3twOIrP
- Facebook/ หยุดถ่านหินกระบี่. ทำไมค่าไฟถึงแพง??? มันไม่ใช่เรื่องเทคนิค มันคือเรื่องนโยบาย. https://bit.ly/39kZn1U