3 Min

นิวยอร์คซื้อ ‘หุ่นยนต์’ เพื่อ ‘เป็นเพื่อนคุย’ ให้คนแก่ …ว่าแต่จะยิ่งเหงากว่าเดิมมั้ย?

3 Min
400 Views
13 Jul 2022

ทุกวันนี้ โลกดูจะรอดพ้นจากโควิด-19 ได้แล้ว แต่ปัญหาเก่าๆทั้งหลายที่คาราคาซังมาตั้งแต่ก่อนช่วงโควิดก็เริ่มดาหน้ากันเข้ามาอย่างสนุกสนาน และหนึ่งในปัญหาโลกที่หนึ่งที่ค้างคามานานแล้วก็ได้แก่สังคมผู้สูงอายุ

ในประเทศที่ยังเห็นหัวประชาชนอยู่ สังคมผู้สูงอายุเป็นเรื่องใหญ่ เพราะไม่สามารถจะปฏิเสธปัญหาแบบขอไปทีว่าเป็นเรื่องของคุณได้ เพราะรัฐต้องดูแลประชาชนผู้จ่ายภาษีให้รัฐมาจนแก่เฒ่า รัฐจะทิ้งประชาชนอย่างหน้าด้านๆ ไม่ได้

ทีนี้คนแก่แบบไหนที่มีปัญหา? ในมุมของรัฐ คนแก่ที่จะมีปัญหาไม่ใช่คนแก่ที่อยู่ท่ามกลางลูกหลานพร้อมหน้า หรือกระทั่งคนแก่ที่อยู่เป็นตายายอย่างสงบสุขแน่ๆ แต่เป็นคนแก่ที่ใช้ชีวิตอยู่คนเดียวลำพังแบบเหงาๆ และในอเมริกามีคนที่เข้าข่ายเป็นแบบนี้อยู่กว่า 14 ล้านคน และดูจะเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ

แล้วรัฐจะแก้ปัญหานี้ยังไง? แน่นอนในหลายๆ ประเทศมีการทำบ้านพักคนชราของรัฐให้อยู่กัน แบบไม่ฟรีก็เกือบฟรี พร้อมทั้งมีกิจกรรมต่างๆ ให้คนแก่ที่อยู่ที่นั่นทำร่วมกันเพื่อให้ไม่เหงา ซึ่งอเมริกาไม่มีอะไรแบบนี้ (คือมีบ้านพักคนชราก็จริง แต่เป็นของเอกชนซะเยอะ และแพง) แต่รัฐบางรัฐที่ห่วงใยคนแก่ก็ยังพยายามจะหาวิธีมาทำให้คนแก่ไม่เหงา

นี่เลยเป็นที่มาของโครงการที่รัฐนิวยอร์คในกลางปี 2022 ทำการเช่าหุ่นยนต์ดูแลชื่อ ElliQ จำนวน 800 ตัว ไปอยู่เป็นเพื่อนกับคนแก่เพื่อเป็นโครงการนำร่อง โดยค่าเช่าหุ่นยนต์แรกเข้าจะอยู่ที่ตัวละ 9,000 บาท ค่าบริการรายเดือน 1,000 บาท ซึ่งต้นทุนแค่นี้ แน่นอนว่าถูกกว่าการจ้างคนไปดูแลคนแก่แน่ๆ

ElliQ เป็นหุ่นยนต์เอาไว้พูดคุยคล้ายๆ กับ Siri ของ Apple และ Alexa ของ Amazon ที่หลายคนคงรู้จักดีอยู่แล้ว แต่ความต่างคือ ElliQ จะเน้นฟังก์ชันเพื่อดูแลและแก้เหงาให้กับคนแก่โดยเฉพาะ เช่นจะมีการเตือนให้กินยา กินข้าว มีการชวนคุย และถ้าคนแก่ขำบ่อยๆ ElliQ ก็จะยิงมุกบ่อยๆ

เอาจริงๆ แล้ว ไอเดียหุ่นยนต์ดูแลคนแก่มันมีมานานแล้ว และเป็นฟังก์ชันแรกๆ ของหุ่นยนต์ที่เขามองว่ามันจะมาตีตลาดด้วยซ้ำ แต่การดูแลแบบนั้น หลักๆ เป็นการดูแลเชิงกายภาพ เขาไม่ได้คิดถึงการดูแลทางอารมณ์แบบใช้ AI มาเป็นเพื่อนแก้เหงาของคนแก่แบบที่ใช้กันตอนนี้

พวกงานวิจัยเกี่ยวกับการใช้หุ่นยนต์ดูแลคนแก่ก็ยังมีน้อย แต่ก็มีบางงานวิจัยที่บอกว่า การที่หุ่นยนต์ช่วยดูแลคนแก่อย่างน้อยก็ทำให้คนแก่รู้สึกดีขึ้น หรือพูดง่ายๆ ก็คือมีดีกว่าไม่มี

อย่างไรก็ดี อีกด้าน หลายคนก็คงจะได้เห็นแง่มุมหลอนๆของมัน และพอนึกถึงตัวเองยามแก่ที่ต้องอยู่ในห้องคนเดียวคุยกับแชตบอตนี่แค่คิดก็เหงาแล้วซึ่งก็นำไปสู่คำถามว่า การที่เรายอมรับทางแก้ปัญหาเรื่องความเหงาของคนแก่ด้วยการโยนหุ่นยนต์เข้าไปเป็นเพื่อนคุยกับคนแก่ ที่จริงแล้วคือการที่เราพยายามจะตัดปัญหาแทนที่จะพยายามคิดหาทางแก้ที่ดีกว่านี้หรือไม่

เพราะอย่างน้อยๆคนแก่ในรุ่นปัจจุบันนี้ คือคนแก่รุ่นแอนะล็อกแท้ๆ ตอนเกิดมานี่แผ่น CD ยังไม่มีในท้องตลาดเลย ไม่ต้องพูดถึงคอมพิวเตอร์ และคนรุ่นนี้กว่าจะได้ใช้คอมพิวเตอร์จริงๆ จังๆ ก็น่าจะเข้าวัยชรามากๆ แล้ว

ดังนั้นคำถามคือ เอาคนรุ่นนี้ไปอยู่กับเทคโนโลยีดิจิทัล จะยิ่งทำให้รู้สึกเหงาและถูกทอดทิ้งยิ่งกว่าเดิมไหม? กล่าวคือ มันเป็นแค่การพยายามตัดปัญหาของคนที่มีหน้าที่ต้องดูแลคนแก่หรือเปล่า หรือพูดง่ายๆ วิธีการแบบนี้อาจจะไม่เข้าท่าทำนองเดียวกับเวลาผู้ใหญ่สมัยนี้ขี้เกียจเลี้ยงเด็กแล้วก็โยน iPad ให้ แต่นี่กลับกัน คือเราขี้เกียจดูแลคนแก่ ก็เลยโยนหุ่นยนต์ให้ดูแลแทนอย่างนั้นหรือเปล่า?

ข้อถกเถียงพวกนี้คงไม่จบง่ายๆ และก็คงจะพัฒนาไปเรื่อยๆ ตามความสามารถและศักยภาพของหุ่นยนต์ดูแลคนแก่รุ่นใหม่ๆ ที่จะผลิตมาในตลาด ซึ่งสุดท้ายเราต้องไม่ลืมว่า ไม่ว่าการใช้หุ่นยนต์ดูแลคนแก่จะเหมาะสมหรือไม่ในแง่ไหน ก็คงต้องดูเรื่องแรงงานมนุษย์ที่ขาดแคลนด้วย เพราะคนที่จะมาทำงานด้านนี้ไม่ได้มีเพียงพอต่อความต้องการอยู่แล้ว 

แต่ไม่ว่าอย่างไร บริษัทที่จะฟันกำไรไปเต็มๆ เมื่อทั้งภาครัฐและเอกชนหันมาใช้หุ่นยนต์ดูแลคนแก่ ก็คือพวกบริษัทผลิตหุ่นยนต์พวกนี้นี่แหละ 

อ้างอิง