สู้เพื่อต้นไม้ใหญ่! ชาวปารีสประท้วงแผนปรับภูมิทัศน์ ‘หอไอเฟล’ ที่ต้องตัดต้นไม้เก่าแก่นับร้อยปีทิ้งถึง 42 ต้น
แผนการปรับปรุงภูมิทัศน์รอบๆ ‘หอไอเฟล’ ในนครปารีส ประเทศฝรั่งเศส ให้เป็นสัญลักษณ์ของความทันสมัย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ต้องหยุดชะงักลงชั่วคราว เนื่องจากถูกนักอนุรักษ์และประชาชนรวมตัวคัดค้าน ด้วยเหตุผลว่า “จะมีต้นไม้ถูกตัดทั้งสิ้น 42 ต้น”
แผนปรับปรุงภูมิทัศน์ ‘หอไอเฟล’ เป็นหนึ่งในโครงการพัฒนาเมืองเพื่อรองรับการจัดกิจกรรมโอลิมปิกในปี 2024 ซึ่งทางเมืองปารีสเป็นเจ้าภาพ เพื่อให้นักท่องเที่ยวสามารถเข้าถึงหอไอเฟลได้อย่างสะดวก ปรับปรุงเส้นทางลดปัญหาการจราจรที่คับคั่ง
ขณะเดียวกันยังชูความเป็นเมืองสีเขียวไว้อย่างน่าชื่นชม ไม่ว่าจะเป็นการปลูกต้นไม้สร้างร่มเงา ลดความร้อนของพื้นที่ มีการเพิ่มเลนจักรยาน รวมถึงความทะเยอทะยานสร้างเขตปลอดคาร์บอน ด้วยการห้ามนำรถยนต์ส่วนตัวเข้ามาในบางจุด
แต่เพราะแผนจะสร้างอาคารจัดแสดงศิลปะ ร้านจำหน่ายของที่ระลึก ห้องน้ำ จุดจำหน่ายตั๋วเข้าชมหอนี่เอง จึงเป็นเหตุให้การ ‘ปรับภูมิทัศน์’ ต้องโค่นต้นไม้ลง 42 ต้น ซึ่งเป็นสิ่งที่นักอนุรักษ์และคนปารีสรู้สึกว่าเป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้
นักอนุรักษ์ที่ออกมาคัดค้านแผนการดังกล่าว ชี้แจงว่า ต้นไม้ที่จะถูกตัดล้วนแต่เป็นไม้ใหญ่ มีอายุเกิน 100-200 ปี เป็นที่อยู่อาศัยของสิ่งมีชีวิตหลายชนิด ทั้งนก ค้างคาว สัตว์ฟันแทะขนาดเล็ก และแมลงหลายสปีชีส์ เป็นสิ่งบ่งบอกถึงความหลากหลายทางชีวภาพรอบๆ สถานที่
ที่สำคัญ ต้นไม้เก่าที่อยู่มานาน มีความสามารถกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ดีกว่าไม้ปลูกใหม่ ตามข้อมูลอ้างว่า ต้นไม้อายุเกินร้อยปีที่มีอยู่สามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากกว่าต้นไม้ปลูกใหม่ 700 ต้นรวมกันเสียอีก
นอกจากนี้ ผู้คัดค้านบางรายรู้สึกว่าต้นไม้เหล่านั้นมีคุณค่าในเชิงประวัติศาสตร์ เพราะเป็นต้นไม้ที่ปลูกโดย ‘นโปเลียน โบนาปาร์ต’ เมื่อปี ค.ศ. 1814
การคัดค้านนี้ดำเนินต่อเนื่องหลายสัปดาห์ตลอดเดือนพฤษภาคมที่ผ่านมา นักอนุรักษ์จากหลายองค์กรพากันผลัดเปลี่ยนมาเฝ้าต้นไม้ที่ตนหวงแหน เปิดให้ผู้สัญจรผ่านร่วมเซ็นชื่อคัดค้านการปรับภูมิทัศน์ครั้งนี้ ตามข้อมูลล่าสุด (วันที่ 6 มิถุนายน 2022) มีประชาชนในปารีสร่วมลงชื่อมากถึง 140,000 รายชื่อ
หลังพยายามต่อรองลดจำนวนต้นไม้ที่จะถูกตัดอยู่หลายครั้งหลายครา แต่ฝ่ายคัดค้านยืนกรานไม่ยอมถอย ในที่สุดฟากเทศมนตรีกรุงปารีส และทีมดูแลการวางผังเมืองและสถาปัตยกรรม จึงตัดสินใจยอมแพ้ พร้อมสัญญาว่าจะเขียนแบบแปลนขึ้นใหม่ โดยไม่ให้กระทบต้นไม้แม้แต่ต้นเดียว
อย่างไรก็ตาม ยังไม่มีข้อสรุปว่าแผนการปรับปรุงภูมิทัศน์จะมีรูปร่างหน้าตาเป็นอย่างไร แต่ที่แน่ๆ มันได้กลายเป็น ‘งานร้อน’ ที่ทางการต้องเร่งดำเนินการให้ทันต่อการเป็นเจ้าภาพจัดการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก ปี 2024
ที่สำคัญต้องทำใหม่ให้ถูกต้อง เพราะมีประชาชนคอยตรวจสอบอยู่
อ้างอิง
- The Guardian, Paris protesters celebrate saving trees around the Eiffel Tower, https://shorturl.asia/l0pAO
- Ecowatch, After Protests, Paris Says It Won’t Fell Trees Near Eiffel Tower, https://shorturl.asia/MuZrO
- OnE Paris, https://shorturl.asia/wbNSR