อียิปต์ไม่ได้มีพีระมิดมากที่สุดในโลก! แต่เป็น ‘ซูดาน’ ประเทศเพื่อนบ้าน

3 Min
1733 Views
25 May 2022

หากนึกถึงพีระมิดแน่นอนว่าประเทศอียิปต์ต้องผุดขึ้นมาในหัวของหลายๆ คน จนเราต่างคิดไปว่าประเทศที่ได้รับฉายาแดนพีระมิดคงจะมีพีระมิดมากที่สุดในโลก

ในความเป็นจริงแล้ว ประเทศที่มีจำนวนพีระมิดมากที่สุดในโลกกลับไม่ใช่อียิปต์ แต่เป็นประเทศเพื่อนบ้านอย่างซูดานต่างหาก ซึ่งมีพีระมิดมากกว่า 200 แห่ง เอาชนะแดนฟาโรห์ที่มีเพียง 118-138 แห่งเท่านั้น (จำนวนที่ไม่แน่นอนมาจากการตีความว่าอาคารสุสานบางประเภทจะนับเป็นพีระมิดได้หรือไม่)

แล้วทำไมประเทศซูดานถึงมีพีระมิดมากกว่าอียิปต์ถึงเท่าตัว?

อียิปต์ไม่ใช่เพียงดินแดนแห่งเดียวที่ได้อานิสงส์จากแม่น้ำไนล์ ซูดานในสมัยโบราณซึ่งมีชื่อเรียกว่านูเบีย‘ (Nubia) ก็เป็นทางผ่านของแม่น้ำไนล์ก่อนจะเข้าสู่อียิปต์ แม้ดินแดนส่วนใหญ่จะปกคลุมด้วยทะเลทราย แต่ก็มีพื้นที่อุดมสมบูรณ์เลียบแม่น้ำไนล์ที่สามารถก่อตั้งอารยธรรมลุ่มน้ำได้

อารยธรรมนูเบียถือกำเนิดขึ้นราว 4,500 ปีที่แล้ว โดยมีศูนย์กลางที่นครเคอร์มา (Kerma) ซึ่งตั้งอยู่บนฝั่งแม่น้ำไนล์ ชาวนูเบียขึ้นชื่อเรื่องทำการเกษตร เลี้ยงปศุสัตว์ และการส่งออกสัตว์ป่าจากแอฟริกา เมื่ออารยธรรมของพวกเขาเริ่มขยายไปตามลุ่มน้ำไนล์ ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะติดต่อกับเพื่อนบ้านชาวอียิปต์ทางตอนเหนือ

ความสัมพันธ์ทั้งสองกลุ่มมีทั้งการค้าขายแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไปจนถึงการสู้รบประปรายตามแนวชายแดน แต่ทุกอย่างเปลี่ยนไปตลอดกาลเมื่อชาวอียิปต์ในยุคราชวงศ์ใหม่ (New Kingdom) ราว 3,500 ปีที่แล้วได้รุกรานและยึดครองนูเบียนานหลายร้อยปี

ภายใต้การปกครองโดยอียิปต์นี้เอง ชาวนูเบียก็ได้รับเอาวัฒนธรรมและศาสนาของอียิปต์มาอย่างเข้มข้น อาคารต่างๆ ในนูเบียถูกสร้างตามแบบอียิปต์ เทพเจ้าอียิปต์ก็กลายเป็นที่นับถือของชาวนูเบีย แม้แต่อักษรภาพ (hieroglyphic) แบบอียิปต์ก็ยังถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลาย แม้ในด้านสังคมและวัฒนธรรมจะรับเอาจากอียิปต์ไปมาก แต่ชาวนูเบียยังคงรักษาภาษาของตนไว้ได้ ภาพสลักหรือภาพวาดร่วมสมัยแสดงให้เห็นว่าพวกเขามีผิวสีดำ นิยมแต่งกายด้วยหนังสัตว์ป่า หรือไม่ก็แต่งกายเลียนแบบชาวอียิปต์

เมื่ออียิปต์และตะวันออกกลางตกอยู่ภายใต้วิกฤตการล่มสลายยุคสำริด (Bronze Age Collapse) ชาวนูเบียก็ถือโอกาสตั้งอาณาจักรอิสระในนามว่า อาณาจักรคูช (Kingdom of Kush) ราว 3,070 ปีที่แล้ว อาณาจักรแห่งนี้มีรูปแบบการปกครองและระบบต่างๆ ถอดแบบมาจากอียิปต์ก็ว่าได้ แถมยังเคยบุกเข้าไปสถาปนาราชวงศ์ที่ 25 (25th Dynasty) ปกครองอียิปต์อยู่หลายร้อยปีเช่นกัน ก่อนจะโดนอาณาจักรอื่นขับไล่ออกมา

ในขณะที่การสร้างพีระมิดเริ่มเอาต์ในอียิปต์ กษัตริย์และชนชั้นสูงในคูชกลับเห่อสุสานทรงพีระมิดอย่างเป็นเอามาก และนิยมสร้างสุสานเพื่อวันที่่จะฝังร่างตนเอง ชนชั้นที่มั่งคั่งชาวนูเบียที่มีเงินมากพอก็นิยมสร้างพีระมิดขนาดย่อมไว้ให้ครอบครัวของตนด้วย พีระมิดทั้งใหญ่และเล็กจึงค่อยๆ ผุดในดินแดนนูเบียตั้งแต่นั้นมา อีกทั้งชนชั้นสูงในอียิปต์นิยมสร้างสุสานหลังคาแบนที่เรียกมัสตาบา‘ (Mastaba) มากกว่า จำนวนพีระมิดของอียิปต์จึงน้อยกว่านูเบีย

แม้จะเป็นพีระมิดเหมือนกัน แต่ถ้าสังเกตกันดีๆ จะเห็นว่าพีระมิดของนูเบียและอียิปต์มีรูปทรงต่างกันพอควร พีระมิดอียิปต์จะมีฐานกว้างกว่าและมีองศาไม่ชันมาก ในขณะที่พีระมิดของชาวนูเบียจะมีทรงที่ชันกว่ามาก 

เมื่อเวลาผ่านไปดินแดนอียิปต์ถูกจักรวรรดิอื่นๆ เข้ามาผลัดเปลี่ยนกันปกครอง วัฒนธรรมกรีกโรมันเข้ามาในอียิปต์ เทพเจ้าอียิปต์โบราณก็เสื่อมความนิยมลงเรื่อยๆ จนกระทั่งศาสนาคริสต์เข้ามาแทนที่ในที่สุด

แต่ในนูเบีย อารยธรรมอียิปต์โบราณยังคงถูกรักษาไว้อย่างเหนียวแน่น พีระมิดยังถูกสร้างขึ้นเรื่อยๆ จนถึงคริสต์ศตวรรษที่ 4 ทวยเทพของอียิปต์ทั้งมวลยังคงได้รับการสักการะบูชาตามวิหารในนูเบีย บางครั้งชาวนูเบียยังบุกโจมตีเมื่อวิหารเก่าตามชายแดนจะถูกเปลี่ยนเป็นโบสถ์ด้วย ดังนั้น จะกล่าวว่านูเบียเป็นผู้รักษาอารยธรรมอันเก่าแก่ของอียิปต์เป็นแห่งสุดท้ายในขณะที่จักรวรรดิโรมันกำลังระส่ำระสายก็ว่าได้ 

แต่ไม่มีอะไรที่คงอยู่ตลอดไป อารยธรรมเก่าแก่ย่อมต้องเปลี่ยนแปลงสักวันหนึ่ง ภายหลังชาวโรมันได้นำศาสนาคริสต์มาเผยแพร่ในนูเบียและแอฟริกาตะวันออก วัฒนธรรมและความเชื่อในนูเบียจึงรับอิทธิพลมาจากโรมันมากขึ้น พีระมิดที่เคยนิยมจึงก่อสร้างน้อยลงจนหายไปในที่สุด แต่ซูดานก็ได้ครองแชมป์ประเทศที่มีพีระมิดมากที่สุดจนถึงทุกวันนี้

อ้างอิง