‘Ecofascism’ กลุ่มเหยียดเชื้อชาติ ที่บอกว่าสิ่งแวดล้อมพังทลาย…เพราะผู้อพยพ

3 Min
450 Views
28 Mar 2022

ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นสิ่งที่ทุกคนสามารถรับรู้ได้ร่วมกันทั้งการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ปัญหามลภาวะอากาศและพลาสติก แต่มุมมองการแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม รวมถึง ‘ต้นเหตุ’ ของปัญหาก็มีความหลากหลาย บางคนระบุว่าเป็นเพราะกลุ่มทุน บางคนอ้างว่าเป็นวงจรของโลก หลายคนมองว่าเป็นเพราะนโยบายระดับสากล แต่รู้ไหมว่ามีบางคนที่มองว่าปัญหาสิ่งแวดล้อมนั้นเกิดขึ้นมาจาก ‘ผู้อพยพ’ และ ‘ชนกลุ่มน้อย’ อยู่ด้วย

แม้จะฟังดูประหลาด แต่มีคนที่เชื่ออย่างนั้นอยู่จริงๆ ‘Ecofascism’ คือชื่อเรียกของกลุ่มที่ผูกแนวคิดแบบฟาสซิสต์และชาตินิยมเข้ากับประเด็นสิ่งแวดล้อม จากการที่ประชาคมระหว่างประเทศ ‘ล้มเหลว’ ในการจัดการวิกฤตภูมิอากาศ พวกเขามองว่าการล่มสลายของสิ่งแวดล้อมเป็นเพราะมีประชากรมากเกินไป การย้ายถิ่นฐาน และการอพยพของผู้คนชายขอบทำให้ประชากรล้น รวมถึงการส่งเสริมอุตสาหกรรมมากเกินไปในพื้นที่ จนเกิดเป็นการกระตุ้นความเกลียดชังต่อกลุ่มอื่นๆ

Umbra Ecofascism | grist

แนวคิดดังกล่าวอาจส่งผลกระทบอย่างร้ายแรงและเชื่อว่าอาจเชื่อมโยงกับการก่อการร้ายโดยพวกอนุรักษนิยมหัวรุนแรงในช่วงที่ผ่านมานี้ด้วย ยกตัวอย่างเช่นกรณีการสังหารหมู่ผู้คนกว่า 51 ชีวิตในมัสยิดที่ไครสต์เชิร์ช นิวซีแลนด์ เมื่อปี 2019 ผู้ก่อการร้าย เบรนตัน ทาร์เรนต์ (Brenton Tarrant) ได้อธิบายว่าตัวเองเป็น Ecofascism และการกระทำของเขาเป็นไปเพื่อต่อต้านการอพยพเข้าเมือง และเรียกว่านี่คือ ‘สงครามสิ่งแวดล้อม’

เพียงแค่ 8 เดือนถัดมาหลังจากเหตุการณ์ที่ไครสต์เชิร์ช เรื่องราวแบบเดียวกันเกิดขึ้นที่เท็กซัส สหรัฐฯ เกิดการสังหารคนเชื้อสายละตินกว่า 23 ราย ซึ่งนับว่ามากที่สุดในประวัติศาสตร์สมัยใหม่ของสหรัฐฯ โดย แพทริก ครูซัส (Patrick Crusius) วัย 21 ปีบอกว่าได้รับแรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่ไครสต์เชิร์ช เขาระบุว่าสิ่งแวดล้อมเลวร้ายลงทุกปีเป็นเพราะกลุ่มฮิสปานิก (คนเชื้อสายลาติน) บุกเข้ามาในเท็กซัส

“พวกเขาดื้อรั้นเกินกว่าจะเปลี่ยนวิถีชีวิตของตัวเอง ดังนั้นสิ่งที่ทำได้คือลดจำนวนประชากรในอเมริกาที่ใช้ทรัพยากร ถ้าเรากำจัดคนได้มากพอ วิถีชีวิตของเราถึงจะสามารถยั่งยืนได้” แพทริกกล่าวหลังจากก่อเหตุสะเทือนขวัญทั่วสหรัฐฯ

อันที่จริงแนวคิดนี้ไม่ใช่เรื่องใหม่นัก แต่มันมีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นตามสภาพสิ่งแวดล้อม หนึ่งในผู้นำลัทธิ Ecofascism หัวรุนแรงคนหนึ่งคือ เท็ด คาซินสกี (Ted Kaczynski) อดีตนักคณิตศาสตร์ชาวอเมริกันผันตัวไปเป็นผู้ก่อการร้ายระหว่างปี 1978-1995 และเข้าร่วมการทิ้งระเบิดภายใต้อุดมการณ์ว่าการต่อสู้กับอุตสาหกรรมสมัยใหม่และการทำลายสิ่งแวดล้อม ก็เป็นหลักฐานให้เห็นว่าแนวคิดนี้มีมายาวนานหลายปี

Crowd | earth.org

ไม่เพียงแค่นั้นในช่วงการระบาดใหญ่ของโควิด-19 ที่ทำให้เกิดการล็อกดาวน์และหยุดชะงักทางเศรษฐกิจ สิ่งที่เกิดขึ้นคือในช่วงแรกเราได้เห็นภาพสัตว์ต่างๆ ที่เดินเข้ามาในเมือง ภาพโลมาว่ายในคลองเวนิส หรือแพะในเมืองใหญ่ การล็อกดาวน์ทำให้ช่วงหนึ่งการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจากการเดินทางและอุตสาหกรรมลดลง นั่นทำให้ Ecofascism หลายคนเห็นตรงกัน และมีการพูดว่า ‘มนุษย์คือไวรัส’ พวกเขามองว่าหากประชากรลดลงสิ่งแวดล้อมก็จะยิ่งยืนขึ้น

แนวคิดการผูกโยงความเกลียดชังผู้อพยพและปัญหาสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงนำไปสู่การก่อการร้ายน่าหวาดผวา พวกเขามองว่าวัฒนธรรมและชาติพันธุ์อื่นๆ เป็นภัยคุกคามสิ่งแวดล้อมในพื้นที่ เป็นเหมือนศัตรูที่ต้องถูกขับไล่ก่อนที่สิ่งแวดล้อมจะพังทลายไปมากกว่านี้

แต่ในทางกลับกัน ปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมและมลภาวะเกิดขึ้นแล้วทั่วโลก และในบางพื้นที่รุนแรงจนมนุษย์ไม่สามารถอาศัยอยู่ได้ ปัญหาเหล่านี้ก็ทำให้มีผู้อพยพเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมจำนวนมหาศาลในแต่ละปี พวกเขาต้องการพื้นที่ปลอดภัยเพื่อใช้ชีวิต แต่การเคลื่อนย้ายประชากรเพราะปัญหาสิ่งแวดล้อมกลับทำให้ถูกหลายคนมองว่าพวกเขาเป็นตัวการที่จะทำให้เกิดปัญหาสิ่งแวดล้อมและต้องถูกกำจัด

อ้างอิง