Select Paragraph To Read
- อีโคไซด์ (ecocide) คืออะไร
- ทำไมการทำลายสิ่งแวดล้อมต้องเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ
ในช่วงเวลาที่โลกกำลังปั่นป่วนไปด้วยปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และการทำข้อตกลงฉบับใหม่ๆ ของรัฐบาลต่างๆ ทั่วโลกเพื่อลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกอยู่ตอนนี้ บรรดาทนายความกลุ่มหนึ่งก็กำลังผลักดันสิ่งที่เรียกกันว่า ecocide หรือ “การผลาญทำลายสิ่งแวดล้อม” ให้กลายเป็น “อาชญากรรมข้ามชาติ” ไปด้วยพร้อมๆ กัน
อีโคไซด์ (ecocide) คืออะไร
หากแปลกันอย่างง่ายๆ คำนี้หมายถึงการทำลายสิ่งแวดล้อมแบบล้างผลาญ ประเภทที่ว่าเอากันแหลกลาญจนไม่เหลือชิ้นดี เป็นการทำลายจนก่อให้เกิดผลกระทบเป็นวงกว้าง และยากจะแก้ไขให้คืนกลับมาเป็นอย่างเดิมได้อีก
ยกตัวอย่างเช่น เหตุน้ำมันรั่วที่แท่นขุดเจาะน้ำมัน Deepwater Horizon ที่ทำให้ระบบนิเวศของสัตว์ในทะเลกว่า 8,000 สปีชีส์ ป่วยจากสารพิษรุนแรง มีส่วนทำให้ออกซิเจนในท้องทะเลลดลง หรือกรณีที่เรือบรรทุกสินค้าไฟไหม้จนเม็ดพลาสติกและสารเคมีทะลักล้นลงทะเลแถบศรีลังกาเมื่อไม่กี่เดือนที่ผ่านมา
รวมถึงการทำลายป่าแอมะซอนเป็นวงกว้างจนโลกสูญเสียแหล่งเก็บกักก๊าซคาร์บอนฯ ก็นับว่าเป็นการทำลายสิ่งแวดล้อมแบบล้างผลาญได้เช่นกัน
ที่ผ่านมาเหตุการณ์เหล่านี้ แม้จะมีการฟ้องร้องและการรับผิด แต่ก็ยังไม่สามารถฟ้องร้องกับศาลอาญาระหว่างประเทศได้ ทั้งๆ ที่การทำลายป่าหรือเหตุน้ำมันรั่วไหลก่อให้เกิดผลร้ายกับคนและสิ่งแวดล้อมเป็นจำนวนมาก ไม่เพียงแต่พื้นที่ในประเทศแต่ยังกระจายไปสู่ผู้คนละแวกอื่นๆ ด้วย
ทำไมการทำลายสิ่งแวดล้อมต้องเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ
Ecocide Foundation (มูลนิธิหยุดการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อม) องค์กรไม่แสวงหากำไรในประเทศเนเธอแลนด์ ได้ร่วมกับนักสิ่งแวดล้อม ทนายความ และตัวแทนด้านสิทธิมนุษยชน ริเริ่มผลักดันให้การผลาญทำลายสิ่งแวดล้อมเป็นอาชญากรรมข้ามชาติ
หากการยื่นข้อเสนอนิยามทางกฎหมายของอาชญากรรมชนิดใหม่นี้สำเร็จ ศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะสามารถทำให้ผู้ที่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมอย่างรุนแรงรับผิดชอบต่อการกระทำของตน ไม่ว่าจะเป็นภาคธุรกิจหรือรัฐบาลประเทศใดก็ตาม
ที่ผ่านมา ไม่มีกฎหมายอาญาระหว่างประเทศฉบับใดจะช่วยปกป้องสิ่งแวดล้อมได้เลย ดังนั้นมันจึงเหมือน ‘ช่องโหว่’ ของกฎหมายที่ใครสามารถทำอะไรกับทรัพยากรธรรมชาติได้ โดยไม่ต้องแคร์ผลที่ตามมามากนัก
ขณะที่ปัจจุบันศาลอาญาระหว่างประเทศก็จะรับพิจารณาคดีเพียงการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ อาชญากรรมต่อมนุษยชาติ อาชญากรรมสงคราม และอาชญากรรมอันเป็นการรุกราน หรือก็คืออาชญากรรมที่ก่อให้เกิดอันตรายต่อมนุษยชาติโดยตรงเท่านั้น แต่ยังไม่มีกฎหมายใดที่ร่วมปกป้องสิ่งแวดล้อมในระดับเวทีโลกอย่างชัดเจนได้เลย
ตอนนี้เป็นช่วงของการนำเสนอนิยามของกฎหมาย ซึ่งนิยามตามภาษากฎหมายของการผลาญทำลายสิ่งแวดล้อม ก็คือว่า “การกระทำที่ผิดกฎหมายหรือโหดร้ายทารุณทั้งที่รู้ว่าการกระทำดังกล่าวมีแนวโน้มจะก่อให้เกิดความเสียหายต่อสิ่งแวดล้อมอย่างร้ายแรง หรือเป็นวงกว้าง หรือในระยะยาว” ดังเช่นตัวอย่างที่ยกมาข้างต้น
หากนิยามข้างต้นถูกนำไปใช้จริงในฐานะอาชญากรรมประเภทที่ห้าของศาลอาญาระหว่างประเทศ และเป็นการส่งสัญญาณให้รู้ว่า
“การทำลายสิ่งแวดล้อมขนานใหญ่เป็นการกระทำที่น่ารังเกียจอย่างยิ่งในเชิงศีลธรรม”
อย่างไรก็ตาม ในอีกแง่มุมหนึ่ง ก็หวังเอาไว้ว่าการผลักดันนี้ ก็เหมือนกับกฎหมายอื่นๆ ที่มีไว้เพื่อป้องปรามไม่ให้เกิดการกระทำความผิดขึ้น ซึ่งจะดีเสียกว่าการเป็นค้อนที่ทุบทำลายคนผิด
หนทางอีกยาวไกล
ยังไม่เป็นที่แน่ชัดว่ากฎหมายที่ว่านี้จะได้ใช้จริงๆ เมื่อไหร่ ทางฟากเอ็นจีโอและกลุ่มทนายต่างก็เห็นตรงกันว่า กว่าจะถกเถียงในเรื่องนิยามกันเสร็จสิ้นคงใช้เวลาอีกหลายปี รวมไปถึงเรื่องระดับความสูงต่ำของความเสียหาย เช่น การใช้คำว่าความเสียหาย “เป็นวงกว้าง” หรือ “ร้ายแรง” ขอบเขตควรอยู่ที่ตรงไหน
รวมถึงยังมีขั้นตอนอีกหลายลำดับชั้น กว่าจะไปถึงการแก้ไขธรรมนูญกรุงโรมว่าด้วยศาลอาญาระหว่างประเทศ ซึ่งเป็นเอกสารกำหนดบทบาทและขอบเขตของศาล
แต่ก็ยังมีข่าวดีว่าสมาชิกสภานิติบัญญัติในหลายประเทศ อาทิ ฝรั่งเศส เบลเยียม ฟินแลนด์ สเปน แคนาดา ลักเซมเบิร์ก และสหภาพยุโรปต่างส่งเสียงสนับสนุนแนวคิดนี้ ส่วนที่เหลือก็ต้องนำไปสู่การถกเถียงกันอย่างเป็นประชาธิปไตยกันต่อไป
เราเองก็หวังว่าเรื่องนี้จะได้รับข้อสรุปกันโดยเร็วที่สุด เพราะดังที่รายงานฉบับใหม่ของ IPCC ที่เพิ่งรายงานว่าโลกในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าคงถึงคราวคับขัน
และเรามีเวลาแก้ไขเพียงแค่ 30 ปี หากพ้น ค.ศ. 2050 ไปแล้ว ทุกอย่างก็คงจะสายเกินไป
อ้างอิง
- NBC News. The push to make ‘ecocide’ an international crime takes a big step forward. https://nbcnews.to/3gjOZaL