‘Echoism’ ขั้วตรงข้ามของคนหลงตัวเอง คนธรรมดาที่ไม่อยากเป็นจุดสนใจของใคร
หลายคนน่าจะเคยได้ยินชื่อ ‘อาการหลงตัวเอง’ (Narcissism) จากตำนานของนาร์ซิสซัส (Narcissus) กันมามากแล้ว ซึ่งหลายคนคงนึกภาพได้ทันทีเลยว่าคนประเภทนี้มั่นใจในตัวเองสูงจนอาจไม่เห็นคนอื่นในสายตา แต่ในขณะเดียวกันเรากลับไม่ค่อยเห็นใครพูดถึงอีกด้านของตำนานเท่าไหร่
MOODY จึงอยากแนะนำให้ทุกคนรู้จักกับ ‘Echoism’ อาการกลัวการเป็นจุดสนใจที่เป็นขั้วตรงข้ามของคนหลงตัวเอง
คำว่า Echoism นั้นมีที่มาจากตำนานกรีกโบราณเดียวกับอาการหลงตัวเองอย่างที่กล่าวไปในตอนต้น
ตำนานเล่าว่าก่อนที่นาร์ซิสซัสจะตายเพราะเอาแต่ส่องเงาสะท้อนของตัวเอง เขาได้เจอกับนางไม้เอคโค่ (Echo) ผู้ถูกเทพีเฮรา (Hera) สาปให้พูดกับใครก่อนไม่ได้ ได้แต่พูดตามคนอื่นเท่านั้น นางเอคโค่ตกหลุมรักหนุ่มหล่ออย่างนาร์ซิสซัสเข้าอย่างจังแต่ก็ถูกเขาปฏิเสธอย่างไร้เยื่อใยจนตรอมใจตาย เพราะเขารำคาญที่เธอเอาแต่พูดตามตลอด
ด้วยเหตุนี้เรื่องราวของทั้งคู่จึงกลายเป็นที่มาของชื่ออาการหลงตัวเอง (Narcissism) และอาการกลัวการเป็นจุดสนใจ (Echoism) ที่คนหนึ่งก็หลงตัวเองจนตัวตาย ส่วนอีกคนก็เป็นเพียงเสียงสะท้อนที่ไม่มีใครสนใจ
คนที่มีอาการ Echoism จึงมักจะทำตัวไม่ถูกหรือรู้สึกอึดอัดเวลามีคนมาให้ความสำคัญ เป็นพวกที่ไม่กล้าแสดงความต้องการของตัวเองเพราะไม่อยากดูเห็นแก่ตัว ไม่มั่นใจในตัวเอง ปฏิเสธคนไม่เป็น ทุกอย่างที่กล่าวมาล้วนส่งผลกระทบหลายอย่างจนอาจทำให้เจ้าตัวไม่เห็นคุณค่าของตัวเอง
นักจิตวิทยาบำบัดดอนนา เซเวอรี (Donna Savery) เคยเขียนประเด็นนี้ไว้ว่า พฤติกรรมเหล่านี้มีสาเหตุหลักมาจากพ่อแม่ที่เป็นคนหลงตัวเอง พ่อแม่แบบนี้มักจะทำร้ายลูกโดยที่ไม่รู้ตัว โดยการวิจารณ์ให้ลูกขาดความมั่นใจจนไม่กล้าเรียกร้องอะไรเพราะกลัวจะโดนดุ สุดท้ายเด็กคนนั้นก็กลายเป็นคนที่กลัวการเป็นจุดสนใจ
ถึงแม้อาการกลัวการเป็นจุดสนใจจะไม่จัดเป็นความผิดปกติทางบุคลิกภาพ แต่ก็ส่งผลต่อสภาพจิตใจและนำไปสู่อาการซึมเศร้าได้ หากใครที่กำลังเผชิญกับความกลัวเหล่านี้ ผู้เชี่ยวชาญได้แนะนำ 3 วิธีจัดการความรู้สึกนี้ด้วยตัวเองที่ MOODY อยากจะมาแชร์ให้ทุกคนได้ลองเอาไปใช้กันดู
1. หยุดโทษตัวเองก่อน
หลายคนมักจะ ‘โทษตัวเอง’ ก่อนเป็นอันดับแรกเพราะไม่อยากแสดงความหงุดหงิดออกมา ซึ่งมันเป็นวิธีแสดงความรู้สึกที่ไม่ค่อยดีเท่าไหร่เพราะสุดท้ายมันก็เหมือนเป็นการโกหกตัวเอง เราควรปรับความเข้าใจก่อนว่า การซื่อสัตย์ต่อความรู้สึกตนเองนั้นเป็นเรื่องดีและเป็นการแก้ปัญหาที่ถูกจุดกว่าการโทษตัวเอง ถ้าความผิดนั้นไม่ใช่ของเรา เราก็ไม่ต้องรับมาใส่ใจและรู้สึกผิดโดยใช่เหตุ
2. คบเพื่อนดี ชีวิตก็จะดี
หลายคนอาจโดนบั่นทอนจากสังคมจนทำให้ต้องหลบไปอยู่ในมุมมืด อิทธิพลของคนรอบข้างจึงมีความสำคัญมาก การมีเพื่อนดีๆ ที่คอยสนับสนุนและเป็นพลังบวกให้เราได้ จะทำให้เรามี ‘ความกล้า’ ในการใช้ชีวิตมากขึ้น
3. แสดงความรู้สึกด้วยวิธีอื่น
ถ้าไม่อยากเป็นจุดสนใจก็ไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยๆ ก็ควรได้แสดงความรู้สึกของตัวเองออกมาบ้างโดยที่ไม่ต้องพูดก็ได้ ผู้เชี่ยวชาญแนะนำว่าให้ลองเขียนความรู้สึกของตัวเองออกมาผ่านตัวอักษรหรือสร้างสรรค์ออกมาเป็นศิลปะ จะช่วยเพิ่มความมั่นใจให้เรากล้าแสดงออกมากขึ้น
ใครที่เคยมีประสบการณ์หรือเคยเจอคนที่กลัวการเป็นจุดสนใจแบบนี้ คงเข้าใจดีว่าการอยู่ท่ามกลางคนเยอะๆ เป็นเรื่องที่น่าอึดอัดใจจริงๆ สำหรับใครก็ตามที่กำลังเผชิญกับความกลัวนี้อยู่ MOODY ก็ขอบีบมือส่งกำลังใจให้คุณผ่านมันไปให้ได้นะ
อ้างอิง
- Exploring your mind. Echoism: The Fear of Feeling Special. https://bit.ly/36Epz5R
- Healthline. Echoism: The Other Side of Narcissism. https://bit.ly/3M17W0m