4 Min

ทำไมคนบางคนกินเยอะๆ แล้วไม่อ้วน?

4 Min
2060 Views
25 Jul 2022

ความอ้วนเป็นปัญหาของคนที่อยู่ในวัยที่ระบบเผาผลาญเริ่มทำงานน้อยลงไปตามวัยทุกคน ในชีวิตการทำงาน คนหลายๆ คนยิ่งมีรายได้มากขึ้น ก็ยิ่งรู้สึกอยากกินดีขึ้นกินมากขึ้น แต่สิ่งที่เกิดขึ้นก็คือ ในวัยที่มีรายได้เยอะๆ ร่างกายเราไม่เหมือนเดิมแล้ว กินเท่าเดิมยังอ้วนขึ้นเรื่อยๆ เลย แล้วกินเยอะขึ้นไปตามรายได้จะเหลือเหรอ

แต่จนแล้วจนรอด มันก็มีคนกลุ่มหนึ่งที่เขาก็กินอาหารเท่าๆ เรา แต่เขาก็ไม่ยักอ้วนขึ้นสักที

บางคนเราอาจรู้สึกว่าที่เขาไม่อ้วน เพราะเขาออกกำลังกายมากกว่าเรา หนักกว่าเรา แต่มันก็ยังมีคนอีกจำพวกอยู่ดี ที่กำลังกายก็ไม่ออก กินก็เยอะ แต่ยังไงก็ไม่อ้วน

สำหรับหลายๆ คน คนที่กินเท่าไรแล้วไม่อ้วนโดยไม่ต้องออกกำลังกายแบบนี้ดูจะมีความสามารถพิเศษที่สุดยอดมากๆ เพราะหลายคนที่ชอบผ่อนคลายด้วยการกินอาหาร แต่ก็ยังกลัวอ้วน จะมีอะไรดีไปกว่าความสามารถในการกินอาหารเท่าไรก็ไม่อ้วนไปอีกล่ะ?

ว่าแต่เราสงสัยไหมครับว่า ทำไมคนเหล่านี้ถึงทำแบบนี้ได้? มันมีคำอธิบายทางวิทยาศาสตร์อะไรไหม?

บางคนอาจมองว่าคนเหล่านี้ระบบเผาผลาญ’ (Metabolic system) ดีกว่าคนปกติ แต่ความรู้ทางวิทยาศาสตร์ปัจจุบัน ไม่มีอะไรที่ดูจะบ่งว่าระบบเผาผลาญของคนที่กินอะไรไปเท่าไรก็ไม่อ้วนมันดีกว่าคนอื่น

ในทางตรงข้าม ถ้าว่ากันตามความรู้วิทยาศาสตร์จริงๆระบบเผาผลาญของคนเหล่านี้ ดูจะทำงานได้ไม่ดีเท่าคนปกติ หรือกระทั่งผิดปกติมากกว่า พวกเขาถึงไม่อ้วน โดยเฉพาะคนที่กินมากกว่าคนอื่นเป็นเท่าตัวได้โดยไม่อ้วนขึ้น

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น? อันนี้เราต้องเข้าใจกระบวนการทางเคมีของความอ้วนกันก่อน

ในระดับชีววิทยาโมเลกุล ความอ้วนเกิดจากการขยายตัวของเซลล์ไขมันในร่างกายคน พูดง่ายๆ อะไรก็ตามที่ทำให้เซลล์ไขมันขยายตัว มันก็ทำให้เราอ้วน 

นี่เป็นเบสิคง่ายๆ ไม่ซับซ้อน เป็นความรู้ที่เสถียรพอสมควรแล้ว

ดังนั้นการที่คนกินอะไรไปเยอะๆ ไม่อ้วน ก็หมายความว่า เขากินอะไรเข้าไป เซลล์ไขมันก็ไม่ขยายตัว

ว่าแต่อะไรที่ทำให้เซลล์ไขมันขยายตัวกันล่ะ?

สิ่งที่ทำให้เซลล์ไขมันขยายตัวอาจไม่ได้เรียบง่ายแบบที่เราเคยเข้าใจ

เพราะตามความเข้าใจปกติ เรากินอะไรมันๆ เข้าไป มันก็น่าจะเข้าไปสะสมในเซลล์ไขมัน แต่ในความเป็นจริงไม่ได้เป็นแบบนั้น เพราะเซลล์ไขมันไม่ได้ดูดไขมันที่วิ่งอยู่ในกระแสเลือดเข้าไปอย่างไม่มีลิมิต (ถ้าเป็นแบบนั้น เราคงไม่มีไขมันในเลือด ซึ่งไม่จริง) มันมีตัวกระตุ้นบางอย่างที่ทำให้เซลล์ไขมันดูดไขมันในเลือดเข้าไปและพองตัวขึ้น กลายมาเป็นความอ้วน

ทุกวันนี้ ค้นพบแล้วว่าตัวกระตุ้นที่ว่าคือ ระดับของฮอร์โมนอินซูลินในเลือด

แล้วอะไรคือฮอร์โมนอินซูลิน? อธิบายอย่างง่ายที่สุด ฮอร์โมนอินซูลินคือฮอร์โมนที่ตับอ่อนจะหลั่งออกมาเมื่อระดับน้ำตาลในเลือดของเราสูงขึ้น ซึ่งหน้าที่หลักๆ ของมันคือการทำให้ส่วนต่างๆ ของร่างกายลดระดับน้ำตาลในเลือด พูดง่ายๆ คือเป็นตัวกระตุ้นที่ทำให้น้ำตาลในเลือดถูกใช้เป็นพลังงาน และถูกเก็บสะสมตามส่วนต่างๆ

ซึ่งตรงนี้ ปัจจุบันเราค้นพบแล้วว่าในคนปกติ เมื่อระดับน้ำตาลในเลือดสูงขึ้น ฮอร์โมนอินซูลินในเลือดก็จะสูงขึ้นตาม โดยมีผลข้างเคียงอย่างหนึ่งก็คือ ฮอร์โมนอินซูลินจะไปกระตุ้นให้เซลล์ไขมันดูดกรดไขมันในเลือดเข้าไป และขยายตัว กลายมาเป็นความอ้วน

ดังนั้นเราจะเห็นกลไกชัดเจนของความอ้วนว่า ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้น>ระดับฮอร์โมนอินซูลินในเลือดขึ้นขึ้น>เซลล์ไขมันดูดไขมันในเลือดเข้าไป กลไกมันเป็นแบบนี้

ว่าแต่อะไรทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดสูง? อันนี้ก็เบสิคมาก มันคืออาหารจำพวกคาร์โบไฮเดรต หรือพวกน้ำตาลและแป้งนั่นเอง

กระบวนการทั้งหมดนี้ ทำให้คนที่กินข้าวเยอะๆ กินน้ำตาลเยอะๆ นั้นอ้วนเป็นปกติมาก และความอ้วนนี้ก็ไม่ได้เกิดจากความผิดปกติใดๆ ของร่างกาย ร่างกายก็แค่ทำงานไปตามปกติ

ต่างจากนี้ไปต่างหากที่ไม่ปกติ

กลับมาสู่คำถามว่า ทำไมคนบางคนกินเยอะๆ ถึงไม่อ้วน? ซึ่งเราน่าจะแยกได้เป็นกรณีๆ ไป

กรณีแรก คนที่กินเยอะๆ เขาไม่ได้กินอาหารที่ให้คาร์โบไฮเดรตหรือเปล่า? ความเป็นไปได้อันนี้ก็คือ คนบางคนกินอาหารเน้นแต่เนื้อสัตว์ ไปจนถึงไขมัน แต่แทบไม่กินข้าวหรือน้ำหวานเลย ความเป็นไปได้ที่จะไม่อ้วนก็มีอยู่ เพราะมันไม่ได้กินอะไรเข้าไปกระตุ้นให้เซลล์ไขมันในร่างกายขยายตัว ซึ่งถ้าคนกินแบบนี้ ไม่อ้วน ร่างกายก็ไม่น่าจะผิดปกติอะไร

กรณีที่สอง คนที่กินเยอะๆ เขากินอาหารแบบคนทั่วไปเยอะๆ กินข้าวมื้อละหลายจานด้วย แต่ไม่อ้วน

อันนี้อาจมองได้ว่าร่างกายผิดปกติและไม่ใช่ผิดปกติในทางที่ดี แบบระบบเผาผลาญดี อะไรด้วย

แต่มันผิดปกติอะไรได้บ้าง?

อย่างแรกเลย ระบบทางเดินอาหารของเขาอาจย่อยคาร์โบไฮเดรตได้ช้าหรือแย่กว่าชาวบ้าน ข้อเท็จจริงนี้มีงานวิจัยสนับสนุน เพราะงานหลายชิ้นก็ชี้ว่า คนที่กินคาร์โบไฮเดรตแบบเดียวกันเป๊ะเข้าไป มันไม่ได้ทำให้ระดับน้ำตาลในเลือดขึ้นพอๆ กันเสมอไป และต่างกันอย่างมีนัยสำคัญได้ด้วย ซึ่งภาวะที่กินอะไรเข้าไปแล้วระดับน้ำตาลในเลือดไม่ขึ้นเท่าคนปกตินี้ ในทางโภชนาการไม่ใช่เรื่องดี เพราะมันหมายถึงคุณไม่สามารถใช้พลังงานจากสิ่งที่กินเข้าไปได้เท่าคนอื่น (แม้ว่าผลข้างเคียงมันจะทำให้คุณไม่อ้วน) ก็ตาม อย่างไรก็ดี ความผิดปกติแบบนี้ก็ไม่ได้คอขาดบาดตายอะไร ก็แค่อาจเปลืองค่าข้าวกว่าชาวบ้านในการดำรงชีวิตเท่านั้น

อย่างที่สอง ระบบทางเดินอาหารย่อยคาร์โบไฮเดรตเหมือนคนปกติ กินอะไรไประดับน้ำตาลในเลือดขึ้นตามปกติ แต่ฮอร์โมนอินซูลินไม่หลั่งจากตับอ่อนเท่าคนปกติ เคสแบบนี้เป็นภาวะที่อันตรายพอสมควร เพราะเห็นผอมๆ ไปตรวจเลือด สิ่งที่จะพบคือระดับน้ำตาลในเลือดสูง ซึ่งถ้าสูงมากอาจถูกวินิจฉัยว่าเป็นเบาหวานก็ได้ ซึ่งนั่นเรื่องใหญ่เลย และไม่ใช่เรื่องดีแน่ๆ (อันนี้ต้องแก้ความเข้าใจนิดนึง เบาหวานไม่ได้เกิดกับคนอ้วนเท่านั้นนะ มันคือโรคที่เกิดจากตับอ่อนทำงานผิดปกติ ดังนั้นคนผอมหลายๆ คนก็เป็นได้)

อย่างที่สาม ระบบทางเดินอาหารย่อยคาร์โบไฮเดรตเหมือนคนปกติ น้ำตาลในเลือดขึ้นเป็นปกติ ฮอร์โมนอินซูลินก็ขึ้นเป็นปกติ แต่ระดับน้ำตาลในเลือดลดโดยที่เซลล์ไขมันไม่ดูดไขมันเข้าไป ทำให้ไม่อ้วน กรณีแบบนี้ อาจบอกได้ว่าเซลล์ไขมันเกิดภาวะดื้ออินซูลิน’ (Insulin resistance) คือไม่ตอบสนองกับอินซูลิน เซลล์ไขมันไม่ดูดไขมันเข้าไปทั้งๆ ที่ควรจะดูด ภาวะแบบนี้ สิ่งที่ตามมาก็คือไขมันก็จะไปสะสมที่อื่น เช่น ในกระแสเลือดหรือที่ตับ ซึ่งถามว่าดีไหม ก็ไม่ดีเท่าไร เพราะตามความรู้ปัจจุบัน ไขมันในเลือดสูง หรือไขมันพอกตับก็ไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น และที่โหดกว่านั้นก็คือ มันไม่ได้ทำให้เรารู้สึกเจ็บป่วยอะไรด้วย ต้องไปตรวจเลือดถึงจะเจอความผิดปกติ และแน่นอนถ้าค่าเลือดผิดปกติไปมาก หมอก็ต้องรักษาเราบางอย่าง

ทั้งหมดที่เล่ามา ก็จะเห็นได้ว่าในกรณีส่วนใหญ่ ความสามารถในการกินเยอะๆ แล้วไม่อ้วนนี่ไม่ใช่เรื่องดีแบบที่คิดกันเลย มันดูจะบ่งชี้ว่า คนที่มีภาวะแบบนี้มีความผิดปกติบางอย่างในร่างกายที่มองภายนอกไม่เห็น ซึ่งความเป็นไปได้ส่วนใหญ่ก็ไม่ใช่เรื่องดีทั้งนั้น

ซึ่งทั้งหมดนี้ เราก็พูดกันในฐานของความเป็นไปได้ของความผิดปกติในระบบเผาผลาญนะ บางทีคนที่กินเยอะๆ แล้วไม่อ้วน เขาอาจจะแค่เป็นพยาธิก็ได้