ขยะอิเล็กทรอนิกส์กำลังจะมีน้ำหนักมากกว่ากำแพงเมืองจีนสะเทือนสุขภาพผู้หญิงและเด็ก 30 ล้านคน

electronic waste l ITU News
ในขณะที่ขยะพลาสติกกำลังเป็นปัญหาใหญ่ของโลกที่ใครต่อใครต่างพยายามหาทางแก้ไข ขยะอีกประเภทที่เรียกว่า ‘ขยะอิเล็กทรอนิกส์’ ก็กำลังเพิ่มขึ้นอย่างมหาศาลในระดับที่ชวนกังวลไม่น้อยไปกว่ากัน และถือเป็นปัญหาที่ทั้งใหญ่และหนักมากเลยทีเดียว
ปัจจุบันขยะอิเล็กทรอนิกส์หรือที่เรียกกันสั้นๆ ว่า ‘e-waste’ อันหมายถึงสิ่งของจำพวกสมาร์ตโฟน ตู้เย็น กาต้มน้ำ โทรทัศน์ ของเล่นไฟฟ้า ไปจนถึงอุปกรณ์กีฬา กำลังถูกสุ่มเป็นภูเขาขยะขนาดใหญ่ที่มีน้ำหนักมากกว่า 57 ล้านตันเข้าไปแล้ว (ตามข้อมูลของ WEEE – กลุ่มผู้เชี่ยวชาญระดับนานาชาติที่อุทิศตนเพื่อแก้ไขปัญหาอุปกรณ์ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ที่ใช้แล้วทิ้ง)
หรืออีกนัยหนึ่งยังความหมายว่า อาจมีน้ำหนักรวมมากกว่ากำแพงเมืองจีน สิ่งก่อสร้างที่มนุษย์สร้างขึ้น และมีน้ำหนักมากถึง 58 ล้านตัน
ทิ้งเยอะ รีไซเคิลน้อย
ตามรายงานของ WEEE ระบุว่าก่อนหน้านี้ในปี 2019 ขยะอิเล็กทรอนิกส์มีน้ำหนักรวมอยู่ที่ 53.6 ล้านตัน แต่ปริมาณขยะได้เพิ่มขึ้นสองล้านตันทุกปี ในทางตรงกันข้ามกลับนำไปรีไซเคิลใหม่ได้ไม่ถึง 20 เปอร์เซ็นต์
จากแนวโน้มที่เป็นอยู่ คาดว่าปริมาณขยะอิเล็กทรอนิกส์จะมีมากถึง 74 ล้านตัน ในอีก 10 ปีข้างหน้าอย่างแน่นอน
ตามรายงานของ World Economic Forum ยังบอกด้วยว่า ปี 2019 ขยะอิเล็กทรอนิกส์บนโลกมีมูลค่าทางวัตถุ 62.5 พันล้านดอลลาร์ ซึ่งมากกว่าจีดีพีของประเทศส่วนใหญ่
ปาสคาล ลีรอย (Pascal Leroy) ผู้อำนวยการของกลุ่ม WEEE กล่าวว่า ผลิตภัณฑ์อิเล็กทรอนิกส์ในปัจจุบันมีอายุการใช้งานสั้นลง และมีตัวเลือกการซ่อมที่จำกัด ตัวอย่างเช่น การพัฒนาสมาร์ตโฟนแบบปีต่อปี นำไปสู่การเปลี่ยนอุปกรณ์หลักและอุปกรณ์เสริมจากรุ่นเก่าเป็นรุ่นใหม่ มีส่วนทำให้ขยะเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว

electronic waste l cgtn news
E-waste อันตรายต่อสุขภาพ
องค์การอนามัยโลกให้ข้อมูลว่า ยิ่งขยะเพิ่มมากเท่าไหร่ คนก็เสี่ยงเจ็บป่วยมากเท่านั้น โดยเฉพาะกลุ่มที่ทำงานเกี่ยวข้องกับขยะ และสัมผัสกับสารเคมีโดยตรง
แน่นอนว่าด้วยความเป็นอาชีพ ถือเป็นมีความเสี่ยงในตัวของมันเองอยู่แล้ว แต่สิ่งที่องค์การอนามัยโลกออกมาเตือน เพราะแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของขยะอิเล็กทรอนิกส์มันเติบโตรวดเร็วเกินไป
ตามข้อมูลขององค์การอนามัยโลกระบุว่า ปัจจุบันมีผู้หญิงจำนวน 12.9 ล้านคนทำงานข้องเกี่ยวกับขยะอิเล็กทรอนิกส์ และทำให้พวกเธอสัมผัสกับขยะที่เป็นพิษเข้าโดยไม่รู้ตัว ซึ่งอันตรายอย่างยิ่งโดยเฉพาะกับคนที่กำลังมีครรภ์ เพราะพิษจะถูกส่งต่อไปยังทารก มีผลกับพัฒนาการเด็กไปตลอดชีวิต
ขณะเดียวกัน พบว่ามีเด็กและวัยรุ่นกว่า 18 ล้านคน มีส่วนร่วมในภาคอุตสาหกรรมการแปรรูปขยะร่วมกับครอบครัว และผลกระทบกับเด็กยังรวมไปถึงกลุ่มที่อาศัยอยู่ละแวกเดียวกับศูนย์รีไซเคิลขยะ ซึ่งเด็กที่สัมผัสกับขยะอิเล็กทรอนิกส์บ่อยๆ จะมีอาการผิดปกติทางปอด ระบบทางเดินหายใจ ไปจนถึงดีเอ็นเอ การทำงานของต่อมไทรอยด์บกพร่อง และเพิ่มความเสี่ยงต่อโรคเรื้อรังบางอย่างในภายหลัง เช่น มะเร็ง โรคหัวใจ และหลอดเลือด

electronic waste l MRWMD
รีไซเคิลลดโลกร้อน
ผู้เชี่ยวชาญจาก WEEE ให้ความเห็นเพิ่มเติมว่าหากเราสามารถรีไซเคิลอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ได้ เช่น เลือกที่จะซ่อมแซมเมื่ออุปกรณ์เสียหายแทนการทิ้ง ในทุกๆ ตันของอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ที่นำกลับมาใช้ใหม่จะหลีกเลี่ยงการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ประมาณสองตัน
หรือในภาพรวมที่ใหญ่กว่าของระบบโรงงานรีไซเคิล มีตัวอย่างในปี 2019 ที่สามารถรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ได้ 17.4 เปอร์เซ็นต์ ช่วยลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ได้มากถึง 15 ล้านตัน
หรืออย่างน้อยที่สุดก็ควรทิ้งในจุดรับขยะประเภทนี้โดยเฉพาะเพื่อนำไปสู่การคัดแยกและกำจัดที่เหมาะสม เช่นในสหราชอาณาจักร องค์กร Material Focus ได้จัดทำแผนที่ระบุตำแหน่งเพื่อให้ผู้คนสามารถค้นหาจุดรีไซเคิลขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ใกล้ที่สุดสำหรับสิ่งของต่างๆ
อย่างไรก็ตาม ส่วนที่สำคัญกว่าการรีไซเคิลคือมาตรการจัดการขยะระดับประเทศที่ต้องดำเนินการอย่างมีประสิทธิภาพ มีผลผูกพันโดยผู้ส่งออก ผู้นำเข้า และรัฐบาลเพื่อให้แน่ใจว่ามีการกำจัดขยะอิเล็กทรอนิกส์อย่างเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมและสุขภาพผู้คนจริงๆ
ปัจจุบันสัดส่วนขยะอิเล็กทรอนิกส์ที่ผลิตขึ้นทุกปี มีการส่งออกจากประเทศที่มีรายได้สูงไปยังประเทศที่มีรายได้ต่ำและปานกลาง แต่ยังขาดกฎระเบียบ หรือในบางประเทศที่กฎระเบียบบังคับก็ยังดำเนินการอย่างหละหลวม สิ่งที่เป็นอยู่นี้ยิ่งทำให้ขยะอิเล็กทรอนิกส์กลายเป็นสิ่งอันตรายมากขึ้นเรื่อยๆ
อ้างอิง
- BBC. Waste electronics will weigh more than the Great Wall of China. https://bbc.in/3azKjKH
- WHO. Soaring e-waste affects the health of millions of children, WHO warns. https://bit.ly/32iPs8R