3 Min

ทำไมชาวดัตช์ถึงได้ชื่อว่าเป็นชนชาติที่ ‘ขอโทษไม่เป็น’ ถ้าพูดถึงเนเธอร์แลนด์แล้วคิดถึงอะไรกันบ้าง?

3 Min
2076 Views
20 Oct 2022

บางคนก็นึกถึงกังหันลม บางคนก็อาจนึกถึงประเทศยุโรปที่คนสูบกัญชาได้ บางคนก็อาจนึกถึงย่านเดอวัลเลนของกรุงอัมสเตอร์ดัมที่เต็มไปด้วยนางงามตู้กระจกยืนหน้าร้านหาลูกค้า บางคนอาจนึกถึงประเทศที่อยู่ต่ำกว่าระดับน้ำทะเล แต่ก็มีภูมิปัญญาจัดการให้น้ำไม่ท่วมประเทศได้ และบางคนอาจนึกถึงนักบอลคนโปรดสักคน

แต่ในเชิงวัฒนธรรม คนเนเธอร์แลนด์หรือที่เรียกว่าชาวดัตช์โดยทั่วๆ ไปก็มีชื่อเสียงมากว่าเป็นชนชาติที่ขอโทษไม่เป็นซึ่งมันก็เป็นเรื่องเป็นราวระดับที่สื่ออังกฤษอย่าง BBC ไปสัมภาษณ์คนดัตช์ว่าพวกเขาเป็นแบบนั้นกันจริงๆ ไหม ซึ่งหลายคนก็ยอมรับว่าจำไม่ได้แล้วว่าในชีวิตเอ่ยขอโทษครั้งล่าสุดเมื่อไร

ทำไมถึงเป็นแบบนั้น?

อย่างแรกเลย เราต้องตั้งคำถามว่าเราขอโทษกันไปทำไมก่อน ในวัฒนธรรมจำนวนมาก ตั้งแต่วัฒนธรรมตะวันออกไกล ไปจนถึงวัฒนธรรมอังกฤษ การขอโทษเป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรม ซึ่งมันไม่ใช่การขอโทษในความหมายตรงตัวของการแสดงความเสียใจและรู้สึกผิดด้วยซ้ำ ตัวอย่างเช่น ถ้าเราฟังคู่สนทนาไม่ชัดเราก็จะขอโทษให้เขาพูดใหม่ ถ้าเราขอตัวไปทำอะไร เราก็จะขอโทษคู่สนทนาเรา ถ้าเราเดินไปเจอคนเยอะๆ เราจะขอทางเราก็จะขอโทษหรือกระทั่งบางทีถ้าเป็นคนอังกฤษ โดนคนอื่นเหยียบเท้า คนโดนเหยียบยังขอโทษคนเหยียบเลย

พูดอีกแบบการขอโทษนี่ใช้ได้ในแทบทุกสถานการณ์ในหลายวัฒนธรรม และมันใช้เพื่อคลายความตึงเครียด หรือให้ตรงกว่านั้นคือใช้เป็นมารยาทในการสื่อสาร

ซึ่งว่ากันตรงๆ สิ่งเหล่านี้ไม่ได้มีเนื้อหาอะไรเลย คือถ้าไม่ขอโทษ ก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงอะไร

และนี่คือสิ่งที่คนดัตช์คิด

เราต้องเข้าใจอย่างหนึ่งว่า สำหรับคนดัตช์ สิ่งที่เป็นตำนานสุดๆ ไม่ใช่แค่การขอโทษไม่เป็น แต่เป็นการพูดจาแบบตรงไปตรงมาสุดๆ ในทุกสถานการณ์ และคนดัตช์จะไม่เข้าใจการสื่อสารแบบอ้อมๆในวัฒนธรรมอื่น

หลายคนอาจไม่รู้ตัว แต่ที่จริงเราสื่อสารแบบอ้อมๆ กันเยอะ ยกตัวอย่างเช่น สมมติใครเอางานบางอย่างมาให้เราดู แล้วเรารู้สึกว่ามันห่วยแตกมากๆ เลย มันจะเป็นสัญชาตญาณของเราที่จะพูดว่าน่าสนใจนะหรือแปลกดีเราจะเลี่ยงแสดงความเห็นในเชิงลบตรงๆ ซึ่งที่จริงหลายๆ ชาติก็เป็นแบบนี้กัน อังกฤษ ญี่ปุ่น และสารพัดชาติเอเชีย ฯลฯ

แต่คนดัตช์จะไม่ทำแบบนั้น อะไรห่วยก็จะบอกว่าห่วยเลย เขาไม่รู้สึกว่ามันเสียมารยาทที่จะพูดตรงๆ ซึ่งถ้าคนอังกฤษหรือคนเอเชียฟังคนดัตช์ ก็จะรู้สึกว่าการพูดแบบนี้มันหยาบคายมากๆ

สำหรับคนดัตช์ นี่เป็นส่วนหนึ่งของวัฒนธรรมพวกเขา เขาไม่รู้สึกว่ามันผิดปกติ ซึ่งจริงๆ ก็ไม่แปลกนักสำหรับชาติที่ทำการค้าเก่งที่จะมีความตรงไปตรงมาสูงมากๆ และประเด็นคือ ความตรงไปตรงมานี้ มันอยู่ในทุกมิติของชีวิตพวกเขา คนดัตช์ไม่เห็นความจำเป็นของการสื่อสารอ้อมๆ ไปจนถึงการประดิดประดอยถ้อยคำมาให้มันรุงรัง จะพูดอะไรก็พูดไปเลยให้ตรงประเด็นที่สุดคือดีที่สุด

และในกรอบแบบนี้เอง คนดัตช์ส่วนใหญ่จึงไม่เห็นความจำเป็นในการขอโทษพร่ำเพรื่อของคนชาติอื่นๆ แต่เขาจะมองว่าพวกคุณจะพูดคำขอโทษทำไมกัน ถ้าคุณไม่ได้รู้สึกผิด และมองว่าไม่มีประเด็นที่จะขอโทษบ่อยๆ และการขอโทษควรจะเป็นไปในตอนที่รู้สึกผิดจริงๆ

ซึ่งนี่เอง มันอาจทำให้เรากลับมาถามตัวเองว่าเราได้ขอโทษคนอื่นแบบรู้สึกผิดจริงๆ ครั้งสุดท้ายเมื่อไรกัน? คนทั่วๆ ไปคงจำไม่ได้อยู่แล้ว เพราะนี่ไม่ใช่เรื่องที่เกิดบ่อยในชีวิต และการขอโทษกว่า 99 เปอร์เซ็นต์ ในชีวิตของเรา ก็น่าจะเป็นไปแบบขอโทษตามมารยาทในวัฒนธรรมมากกว่า

และในแง่นี้ คนดัตช์ไม่ได้ไม่รู้จักคำว่าขอโทษ พวกเขาขอโทษเป็น แต่นั่นจะเป็นตอนที่พวกเขาต้องการแสดงความเสียใจและรู้สึกผิดจริงๆ ไม่ใช่ขอโทษไปตามมารยาทอย่างพร่ำเพรื่อ ดังเช่นคนในวัฒนธรรมอื่นๆ

ดังนั้นแม้ว่าเราจะไม่พบเห็นคนดัตช์ขอโทษบ่อยๆ แต่เราก็ต้องตระหนักว่าทุกครั้งที่พวกเขาขอโทษ มันมีความจริงใจสุดๆ ในนั้น เพราะไม่ใช่สิ่งที่จะได้พบเห็นกันทุกวัน

อย่างไรก็ดี ถ้าว่าตาม BBC คนดัตช์ที่ถูกสัมภาษณ์ก็ดูจะมีประเด็นว่าจริงๆ ลักษณะไม่ขอโทษนี้มันเป็นลักษณะที่เห็นได้โดยทั่วไปในพวกคนแก่ๆ มากกว่าคนรุ่นใหม่ๆ ซึ่งเขาก็ไม่ได้อธิบายว่าทำไมคนรุ่นใหม่ชาวดัตช์ถึงพฤติกรรมเปลี่ยน แต่เราก็สันนิษฐานได้ว่า คนในยุคที่อินเทอร์เน็ตเชื่อมกันทั้งโลกอาจมีลักษณะของวัฒนธรรมโลกร่วมรุ่นในตัวมากกว่าที่จะมีวัฒนธรรมแบบคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ และก็ไม่แปลกเลยที่คนดัตช์ Gen Z จะไม่ได้มีลักษณะไม่ค่อยขอโทษอีกต่อไปแล้ว

อ้างอิง