พงศาวดารไทยมักบันทึกเรื่องราวของราชวงศ์ สงครามและการเมือง โดยมักละเว้นเรื่องราวของชีวิตความเป็นอยู่ของชาวบ้านไว้
แต่ในปีค.ศ. 1687 วันที่ 27 กันยายน “มองซิเออร์ เดอ ลา ลูแบร์” ผู้ได้พาสองเท้าจากฝรั่งเศสมาเหยียบอยู่บนแผ่นดินกรุงศรีอยุธยาในฐานะทูต เขากำลังจะสร้างบันทึกเรื่องราวของสังคมสยามอย่างละเอียดในแบบที่ไม่เคยมีใครทำมาก่อน
โดยบันทึกเกี่ยวกับชีวิตของชาวสยามในครั้งนั้น คือ “จดหมายเหตุลาลูแบร์” ที่เรารู้จักกันในวันนี้
“ว่าด้วยราชอาณาจักรสยาม” หรือ “Du Royaume de Siam” ตีพิมพ์เป็นภาษาฝรั่งเศสครั้งแรก ค.ศ. 1691 ที่กรุงอัมสเตอดัม และตีพิมพ์เป็นภาษาไทยครั้งแรกพ.ศ. 2510
หนังสือเล่มนี้มีความยาว 685 หน้า (ไม่รวมประวัติผู้แปล) มีลักษณะเด่นของหนังสือคือให้ข้อมูลเกี่ยวกับสังคมสยามใน “สมัยนั้น” อย่างละเอียด หลายเรื่องหาไม่ได้ในเอกสารอื่น บางเรื่องไม่มีในเอกสารไทย แต่มีในเอกสารจีนซึ่งตรงกับที่ลา ลูแบร์บันทึกไว้ และหลายเรื่องมีปรากฏในหลักฐานไทย เช่น ในกฎหมายตราสามดวง เท่ากับย้ำว่า สิ่งที่ลา ลูแบร์บันทึกไว้ส่วนใหญ่เป็นเรื่องจริง
ที่น่าสนใจคือ เมื่อเทียบกับสมัยปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าหลายๆ เรื่องในสมัยกรุงศรีฯ ที่ลา ลูแบร์บันทึกไว้ มีความ “คล้ายคลึง” กับลักษณะสังคมไทยในปัจจุบัน แม้บางทีอาจจะไม่เหมือนเสียทั้งหมด แต่ปฏิเสธไม่ได้เลยว่า มันมีรูปแบบโครงสร้างเรื่องราวบางอย่าง ที่เหมือนเป็นแม่แบบให้กับหลายเหตุการณ์ในยุคปัจจุบัน
“ที่หน้า 197 และ 198”
ในบันทึกระหว่างหน้า 197-198 ได้มีการพูดถึงการกดขี่ระหว่างผู้ใหญ่กับผู้น้อย ที่เหมือนเป็นธรรมเนียมที่สอนกันมาแต่เยาว์วัย กลายเป็นวงจรการกดขี่ ผู้น้อยมักรอเวลาตัวเองได้เป็นใหญ่โต แล้วตัวเองจะได้ถึงคราวกดขี่คนอื่นต่อไป ดังที่บันทึกไว้ในหัวข้อ “ชาวสยามเคยตัวมาแต่ยังไม่ประสา” ว่า
“เพราะเหตุที่ชาวสยามฝึกสันดานมาเสียจนเคยตัวแก่การพันนั้นมาแต่ยังเยาว์ไม่รู้ความ อย่างธรรมเนียมเป็นข้อช่วยทำให้เห็นว่า การที่คนเหมือนกัน แต่สูงต่ำเป็นชนิดผิดกัน โดยความกดขี่นั้นคอยร้ายแรงแก่ตนน้อยลงได้ถนัด…เมื่อนึกกระหยิ่มว่าถึงคราวตัวมั่ง ตัวก็คงจะได้ชื่นชมการกดขี่คนอื่นต่อไปอีกเช่นกัน
คนที่มียศถาบรรดาศักดิ์ทรงอำนาจวาสนาเป็นผู้ใหญ่ฤาผู้น้อยในวันนี้ ก็อาจจะเปลี่ยนโชควาสนาบารมีได้ในวันพรุ่ง สุดแต่บุญกุศล ฤาความไหวพริบฉลาดเฉลียวเข้าสบช่องเหมาะ ส่อให้พระผู้เป็นเจ้าเผอิญทรงพระกรุณาตามอำเภอพระไทย ที่ทรงพระปรีชาฤาแปรปรวนไปโดยฤทธิ์สนุกก็ตาม
การที่ผิดแผกกันขึ้นด้วยชาติตระกูลนั้น ในกรุงสยามทำให้คนเป็นอันมาก ที่บางทีไม่มีคุณวุฒิอย่างใดเลยผาดโผนขึ้นได้นั้น ก็เป็นข้อเดือดร้อนแก่คนที่ไม่สันขัดอย่างธรรมเนียมเช่นนี้”
และสืบเนื่องมาที่หัวข้อ ”คนเป็นใหญ่โตกดขี่ผู้น้อย” ที่กล่าวเมื่อผู้ใหญ่สามารถกดขี่ผู้น้อยได้ตามอำเภอใจ ผู้น้อยจังคอยต้องอ่อนน้อม ประจบประแจงสุดกำลัง ดังที่บันทึกไว้ว่า
“เพราะฉะนั้น ธรรมเนียมในกรุงสยามแลจีนนั้น ใครเป็นผู้ใหญ่ ก็อาจจะกดขี่ทำแก่ผู้น้อยได้ตามอำเภอใจ ลงโทษฤายกย่องชุบเลี้ยงตามพอใจ แลผู้น้อยก็ต้องอ่อนน้อม ประจบประแจงจนสุดกำลัง…”
อดีตผ่านไป ปัจจุบันเป็นอย่างไรบ้าง?
พูดถึงเรื่อง “การกดขี่ระหว่างผู้ใหญ่และผู้น้อย” ที่ผ่านมาล่าสุด คนไทยก็ได้เห็นข่าวของรุ่นพี่อุเทนถวายจัดกิจกรรมรับน้อง และลงมือทำร้ายร่างกาย นายวีรพัฒน์ ตามกลาง อายุ 22 ปี จนได้รับบาดเจ็บสาหัส และเสียชีวิต เป็นเหมือนเหตุการณ์เดจาวูเกี่ยวกับการรับน้องไทย ที่แสดงให้เห็นว่า ระบบการกดขี่เช่นนี้ แม้จะมีหลักฐานมาแต่อดีตเนิ่นนาน แต่มันก็ยังดำเนินซ้ำๆ มาจนถึงปัจจุบัน
หรือจะเรื่องระบบอุปถัมภ์ ที่บางทีก็ทำให้ผู้ไม่มีคุณวุฒิเหมาะสม กลับได้รับตำแหน่งหรืออำนาจตามแต่นายจะโปรดชอบ ซึ่งพอมาเทียบในปัจจุบัน เราก็จะได้เห็นข่าวทั้งจากในไทยหรือต่างประเทศ ที่มีข่าวการคอร์รัปชั่น หรือเหตุการณ์ประชาชนไม่พอใจในการแต่งตั้งรัฐมนตรี ซึ่งย้อนแย้งกับความสามารถและความต้องการของประชาชน
อย่างไรก็ดี เราก็ควรพึงระลึกไว้ด้วยว่า แม้บันทึกสุดละเอียดนี้จะมีค่าอย่างมาก แต่มันก็ยังมีข้อบกพร่องอยู่บ้าง อันเกิดจากการเข้าใจผิด หรือมีการแปลที่ผิดพลาดของล่าม อาทิเรื่องของปีนักษัตร เลขไทย หรือเรื่องของรายละเอียดกฎหมายต่างๆ ที่ไม่ตรงกับที่คนไทยบันทึกไว้
แต่เมื่อเทียบกับข้อมูลอันมีค่าที่มีความหนาถึง 685 หน้า โดยที่มีเวลาเก็บข้อมูลเพียง 3 เดือนกับอีก 6 วัน รวมถึงอุปสรรคในการต้องใช้ล่าม ต้องถือว่าจดหมายเหตุของลาลูแบร์ เป็นข้อมูลชั้นต้นเกี่ยวกับประวัติศาสตร์สมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชที่ดีที่สุดเท่าที่มีในปัจจุบัน และควรค่าแก่การศึกษาอย่างยิ่ง
เพราะบางที เราก็ควรหันกลับมามองอดีต แล้วเก็บบทเรียน เพื่อที่จะได้ก้าวเดินไปในอนาคตให้ได้อย่างถูกต้องและมั่นคงต่อไป
อ้างอิง
- ACT4DEM. จดหมายเหตุลาลูแบร์เล่ม 3. https://bit.ly/2RJVwTb
สุวิทย์ ธีรศาศวัต. บทวิจารณ์หนังสือ: จดหมายเหตุ ลา ลูแบร์ ราชอาณาจักรสยาม. สำนักพิมพ์ศรีปัญญา. 2552
คมชัดลึก “อุเทนถวาย” ไล่ออก 12 รุ่นพี่ รับน้องโหด.