“ความรู้สึกของการได้หยิบจับหนังสือ การเดินเข้ามาเจอหนังสือที่คุณไม่คิดว่าจะได้เจอ ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวการอ่าน เหล่านี้คือเสน่ห์ของร้านหนังสือที่ไม่สามารถแทนที่ได้” คุยกับ โก้-ธีระพล วานิชชัง แห่ง dot.b เจ้าของร้านหนังสืออิสระแห่งสงขลา ผู้สร้างคุณค่าให้กับเมืองผ่านร้านหนังสือ
“เมืองจะไม่ใช่เมือง หากไม่มีร้านหนังสือ” นี่คือประโยคที่ปรากฏอยู่ใน ‘American Gods’ นวนิยายเล่มดังของนักเขียนอเมริกันอย่าง นีล ไกแมน (Neil Gaiman) แม้ว่าเขาจะไม่ได้อธิบายความหมายของประโยคนี้อย่างชัดเจน หากมันก็สะท้อนให้เห็นว่า ในมุมมองของไกแมน ร้านหนังสืออิสระคือสิ่งสำคัญ
‘dot.b’ คือร้านหนังสือแห่งใหม่ล่าสุดในเมืองสงขลา เมืองเล็กๆ ที่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมาหลายคนอาจเห็นว่า โดดเด่นขึ้นอย่างชัดเจนในแง่ของเมืองสร้างสรรค์ หากคุณมีโอกาสไปเยือนสงขลา คุณจะพบว่า เมืองแห่งนี้มีทั้งคาเฟ่ แกลเลอรีศิลปะ บาร์ไวนิลสำหรับฟังเพลง และแน่นอน ร้านหนังสืออิสระ
ท่ามกลางตึกเก่าหลากสีสันอายุเกือบร้อยปีในย่านเมืองเก่าสงขลา ตึกเก่าหลังเล็กซึ่งถูกฉาบทับด้วยสีชมพูอ่อน ได้แจ้งเกิดขึ้นมาในฐานะร้านหนังสืออิสระประจำเมือง หลังจากที่ ‘ร้านหนังสือเล็กๆ’ ร้านหนังสืออิสระแห่งเดียวของสงขลาปิดตัวลง (ปัจจุบัน ร้านหนังสือเล็กๆ ย้ายไปอยู่ที่เชียงใหม่) เพราะไม่อยากให้เมืองปราศจากร้านหนังสือ ‘โก้-ธีระพล วานิชชัง’ ชายหนุ่มที่แม้จะคลุกคลีอยู่ในวงการกาแฟมากว่าสิบปี แต่ด้วยมีใจหลงรักการอ่านจึงตัดสินใจเปิดร้านหนังสือแห่งใหม่
เมื่อช่วงกลางเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เราอาศัยจังหวะที่สงขลากำลังมีงาน ‘Pakk Taii Design Week’ เดินทางไปที่จังหวัดแห่งนี้ ในวันแรกที่ไปถึง เราตัดสินใจตรงไปที่ dot.b ผลักบานประตูกระจกเข้าไปยังร้านหนังสืออิสระแห่งนี้ ก่อนจะนั่งสนทนากับชายหนุ่มเจ้าของร้านที่ส่งยิ้มให้อย่างใจดี พูดคุยกันถึงความเชื่อและความมุ่งมั่นที่เขามี เพื่อผลักดันให้ร้านหนังสือแห่งนี้เป็นคอมมูนิตี้นักอ่านในเมืองสงขลา
ช่วยเล่าเรื่องราวของคุณก่อนจะมาเปิดร้านหนังสือแห่งนี้ให้ฟังหน่อยได้ไหม
เราเป็นคนสงขลา แต่ไม่ได้อยู่ในโซนเมืองเก่า พอเรียนมหา’ลัยก็ไปอยู่หาดใหญ่ สำหรับเราสงขลาเป็นเมืองที่มากินข้าวหรือทางผ่าน หรือพอเรียนจบเราก็เปิดร้านกาแฟที่หาดใหญ่อีกสิบกว่าปี ส่วนตัวเราเลยไม่ได้รู้สึกเชื่อมโยงกับเมืองสงขลาสักเท่าไหร่ เพราะแม้ว่าจะเป็นจังหวัดเดียวกัน แต่หาดใหญ่กับสงขลาก็เหมือนเป็นคนละที่
เราอยู่หาดใหญ่จนถึงปี 2018 ก็มีเหตุให้ต้องปิดร้านและกลับมาอยู่สงขลา ซึ่งตอนที่กลับมาก็ยังไม่มีแผนจะทำอะไรนะ แค่ได้กลับเข้ามาอยู่ในเมือง เริ่มสุงสิงกับผู้คนในเมืองมากขึ้น จนวันหนึ่งแม่ก็มาบอกว่า มีตึกนี้ซึ่งเป็นของเพื่อนแม่ว่างอยู่ก็เลยลองมาคุยกับเจ้าของดู ปรากฏว่ามันไม่แพง เราก็เลยตัดสินใจเปิดเป็นร้านกาแฟที่สงขลา
ทำไมตอนนั้นคุณถึงเปิดร้านกาแฟ ไม่เปิดร้านหนังสือเลยล่ะ
เพราะตอนนั้นที่สงขลามีร้านหนังสืออิสระอยู่แล้ว คือร้านหนังสือเล็กๆ ของพี่เอ๋ (อริยา ไพฑูรย์ อดีต บ.ก. สำนักพิมพ์แพรวเยาวชน) เราก็เลยรู้สึกว่าไม่จำเป็นต้องเปิดใหม่ เพียงแต่การเปิดร้านหนังสือเป็นความฝันอันดับหนึ่งของเรามาตลอด เพราะเราชอบอ่านหนังสือมาตั้งแต่เด็กๆ
แต่จริงๆ อย่างร้านกาแฟที่เราเปิดก็แตกต่างจากที่อยู่เหมือนกัน เพราะว่าเราไม่ได้เน้นขายเครื่องดื่ม แต่เน้นขายสถานที่ อยากให้ผู้คนเข้ามาใช้เวลามากกว่า คุณจะเข้ามาทำการบ้าน อ่านหนังสือ พูดคุย หรือเล่นบอร์ดเกมก็ได้ เพราะฉะนั้นเราเลยไม่ได้โฆษณามันว่าเป็นร้านกาแฟ แต่ให้เป็นเรื่องของปากต่อปากมากกว่า แล้วถึงแม้ว่าเราจะยังไม่ได้เปิดร้านหนังสือในทันที แต่หนังสือก็เป็นส่วนสำคัญในร้านกาแฟของเราอยู่เสมอ
เหมือนเป็นร้านกาแฟทางเลือก?
ใช่ เราวางตัวเป็นร้านกาแฟทางเลือกตั้งแต่แรก และถึงแม้ว่าในแง่ธุรกิจมันอาจไม่ถึงกับดี แต่ด้วยความที่ค่าใช้จ่ายที่นี่ไม่สูง มันพออยู่ได้ แถมเรายังวางเป้าหมายไว้ค่อนข้างต่ำ ก็เลยไม่ซีเรียสมาก
ซึ่งในระหว่างที่เราเปิดร้านกาแฟ เราก็มีโอกาสได้ไปช่วยดูแลร้านหนังสือเล็กๆ ของพี่เอ๋ด้วย เพราะร้านของเราอยู่ใกล้กัน บางทีเวลาที่พี่เอ๋ไม่อยู่ร้านเขาก็จะมาฝากกุญแจไว้ เราก็เลยมีโอกาสได้ช่วยเฝ้าร้านให้และช่วยขายหนังสืออยู่บ้างเหมือนกัน
ตอนที่ได้ดูแลร้านคุณรู้สึกอย่างไร คล้ายว่าความฝันที่อยากเปิดร้านหนังสือขยับใกล้ความจริงขึ้นบ้างไหม
มันเหมือนได้ลองในสิ่งที่อยากทำ ได้ยืนยันว่า การเปิดร้านหนังสือนี่แหละคือสิ่งที่เราอยากทำมาตลอด ซึ่งพอพี่เอ๋มาบอกว่า ร้านหนังสือเล็กๆ กำลังจะปิดเพราะเขาจะไม่อยู่ที่สงขลาแล้ว พอจะเป็นไปได้ไหมที่เราจะเปิดร้านหนังสืออิสระจริงจังไปเลย ไม่ใช่แค่เอาหนังสือไปวางในร้านกาแฟเฉยๆ อย่างที่ผ่านมา ซึ่งเราคิดว่า น่าจะทำได้ว่ะ
ทำไมตอนนั้นคุณถึงไม่คิดจะดูแลร้านหนังสือเล็กๆ ของพี่เอ๋ต่อเลยล่ะ
เพราะมันเป็นคนละที่กัน ถึงแม้ว่ามันจะอยู่ใกล้กันก็จริง แต่พอต้องจัดการเต็มตัวมันก็ยาก เราไม่สามารถทิ้งร้านหนึ่งเพื่อไปอยู่อีกร้านหนึ่งได้ แถมเผลอๆ อาจต้องจ้างคนเพิ่มอีก ซึ่งค่าใช้จ่ายมันก็จะสูงขึ้นด้วย
แต่ทีนี้ด้วยความที่ตึกซึ่งเราเช่าสำหรับเปิดร้านกาแฟอยู่แล้วมันมีสองฝั่ง คือฝั่งนครนอกกับนครใน ซึ่งเจ้าของตึกเขาก็ยินดีให้เราเช่าทั้งสองฝั่งเลยนะ เพียงแต่ตอนแรกเรายังเช่าแค่ฝั่งเดียว ซึ่งพอมันมีเรื่องร้านหนังสือเข้ามา เราก็เลยลองไปคุยกับเจ้าของตึกอีกครั้ง พอเขาอนุญาตเราก็เลยเริ่มดำเนินการออกแบบและก่อสร้างทันที ใช้เวลาไม่นานร้านหนังสือของเราก็เปิดเป็นทางการเมื่อช่วงเดือนมกราคมที่ผ่านมา
อยากรู้ว่า ชื่อ dot.b มาจากอะไร
เพราะร้านกาแฟเราชื่อ dot เราเลยตั้งชื่อร้านหนังสือว่า dot.b เหมือนว่าเป็น part b ของร้าน หรือใครจะมองว่า b แปลว่า book ก็ได้
ช่วงแรกๆ ที่เปิดร้านกระแสตอบรับเป็นอย่างไร
เซอร์ไพรส์นะ เพราะเราได้รับการซัพพอร์ตค่อนข้างเยอะ ทั้งจากพี่เอ๋และพี่แป๊ด (ดวงฤทัย เอสะนาชาตัง เจ้าของร้านก็องดิด) ที่ช่วยคอนเนกต์เรากับสำนักพิมพ์ต่างๆ รวมถึงสายส่ง เราพบว่า ธุรกิจหนังสือไม่ใช่อะไรที่อยู่ๆ คุณก็จะสามารถกระโจนเข้ามาได้เลย แต่มันจำเป็นต้องมีคอนเนกชัน ซึ่งเป็นความโชคดีของเราที่มีหลายๆ คนมาช่วยไว้ หรืออย่างอาจารย์สดใส (สดใส พันธุมโกมล) ก็มาช่วยจัดอีเวนต์ให้กับร้านเราอยู่เหมือนกัน
มีหลายคนมาให้กำลังใจ ช่วยแชร์โพสต์ของร้าน เลยกลายเป็นว่า ในช่วง 7 เดือนที่เราเปิดร้านหนังสือมา ยอดขายของเราทะลุเป้าทุกเดือน แต่ส่วนหนึ่งเป็นเพราะวางเป้าไว้ต่ำด้วยแหละ เพียงแต่เราก็เห็นว่าฐานลูกค้าของเราก็ค่อยๆ ขยายเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ มีเด็กๆ เข้ามาเยอะ ลูกค้าจากสามจังหวัดก็มี แถมหลายคนก็มาบอกว่า ดีใจที่ยังได้เห็นร้านหนังสือในเมืองสงขลา
คุณคิดว่า ทำไมร้านหนังสืออิสระจึงจำเป็นสำหรับสงขลา
เพราะเราเป็นคนเข้าร้านหนังสืออยู่แล้ว เราเชื่อในบรรยากาศร้านหนังสือ โอเคล่ะว่ายุคนี้การสั่งหนังสือออนไลน์มันทำได้ง่ายขึ้น แต่ความรู้สึกของการได้หยิบจับหนังสือ การเดินเข้ามาเจอหนังสือที่คุณไม่คิดว่าจะได้เจอ ได้พูดคุยและแลกเปลี่ยนเรื่องราวการอ่าน เหล่านี้คือเสน่ห์ของร้านหนังสือที่ไม่สามารถแทนที่ได้
เรามองว่า คุณไม่จำเป็นต้องซื้อหนังสือก็สามารถเข้ามาเดินเล่นในร้านได้ เข้ามานั่งอ่านหนังสือเฉยๆ ก็ได้ แค่เราสามารถทำให้คนเข้ามาที่ร้านหนังสือของเราได้ทุกวันก็โอเคแล้ว ใครจะไปรู้ว่าบางทีเขาอาจเข้ามาเจอหนังสือสักหน้าหนึ่งที่เปลี่ยนชีวิตไปเลยก็ได้
แล้วร้าน dot.b เน้นขายหนังสือแบบไหน
ส่วนตัวเราเป็นคนที่ค่อนข้างจะอ่านทุกแนว เราเลยพยายามเลือกหนังสือที่ตัวเองอ่านจริงๆ มาขาย เพราะเราสามารถพูดได้เต็มปากว่า หนังสือเล่มนี้เกี่ยวกับอะไร แต่อย่างหนังสือนิยายวาย หรือหนังสือที่เกี่ยวกับธุรกิจจ๋า ที่ร้านของเราจะยังไม่ค่อยมีเท่าไหร่ ซึ่งมันเป็นเพราะเรายังไม่คุ้นเคยกับหนังสือประเภทนี้มากนัก ยังต้องใช้เวลาศึกษามันอีกหน่อยเพื่อที่จะสามารถขายได้ด้วยตัวเองจริงๆ
ตอนนี้ที่ได้เปิดร้านหนังสือเป็นของตัวเองแล้ว คุณคิดว่าความฝันเป็นจริงแล้วหรือยัง
ตั้งแต่เปิด dot.b มา เรารู้สึกว่า living a dream อยู่ตลอด แต่ถามว่าอยากให้โตกว่านี้ไหม ก็อยากให้โตกว่านี้อยู่แล้ว เพียงแต่เป้าหมายเราคือขอให้มันอยู่ได้จริงๆ
อย่างตอนนี้มันก็โตกว่าที่คิดแล้วระดับหนึ่งนะ แต่เราก็อยากดูต่อไปอีกสัก 2-3 ปีถึงจะตอบได้ ต้องดูกันยาวๆ เพราะแม้ว่าตอนนี้ทุกอย่างจะดูดี แต่มันก็อาจไม่ได้เป็นแบบนี้ไปตลอดก็ได้ แต่อย่างน้อยๆ ตอนนี้เราก็แฮปปี้กับมันนะ อีกอย่างคือ เรามองว่าผลตอบแทนมันอาจไม่ใช่เรื่องเงิน แต่คือผู้คนที่เข้ามาต่างหาก การได้เห็นผู้คนที่เข้ามาขอบคุณร้านนี้ ได้เห็นความดีใจที่เขาได้หนังสือกลับไปอ่าน เพียงแค่นี้มันก็เพียงพอแล้ว
คุณมองว่า ร้านหนังสืออิสระมอบคุณค่าแบบไหนให้กับเมือง
ถึงที่สุดเราก็มองว่า ร้านหนังสืออิสระก็ยังเป็นตัวเลือกหนึ่งแหละ เพียงแต่เราไม่ได้มองไปที่นักท่องเที่ยว แต่คือผู้คนที่อยู่ในเมืองต่างหาก ร้านหนังสืออิสระช่วยเพิ่มมิติให้กับเมือง ซึ่งต่อให้จะมีร้านหนังสือใหม่ๆ เปิดอีกในสงขลาเราก็ไม่มีปัญหานะ ดีเสียด้วยซ้ำ เพราะความหลากหลายมันย่อมจะดีกว่าอยู่แล้ว
ร้านหนังสืออิสระมันก็เหมือนร้านกาแฟแหละ คือถ้าคุณอินกับสิ่งที่ทำจริงๆ มีแพสชันกับกาแฟจริงๆ ต่อให้มันจะมีร้านเปิดเยอะ แต่มันก็ถือเป็นเรื่องดี
แล้วการเปิดร้านหนังสือให้อะไรกับคุณ
ให้ความสุข ให้เราได้ทำในสิ่งที่ฝัน ซึ่งสุดท้ายมันก็แค่นั้นเอง