เคยไหม? เมื่อจู่ๆ ก็ลืมว่าจะเข้ามาหยิบอะไร รู้จัก ‘Doorway Effect’ ปรากฏการณ์แทรกแซงความทรงจำ ขณะที่เปลี่ยนจากพื้นที่หนึ่งไปอีกที่หนึ่ง
“เอ๊ะ! เมื่อกี้จะมาหยิบอะไรนะ”
“เอ๊า! วางกุญแจไว้ตรงไหนแล้ว”
“อ๊ะ! โทรศัพท์หายไปไหน”
เชื่อว่าหลายครั้งเมื่อประสบกับเหตุการณ์เหล่านี้ ทุกคนคงมีคำถามว่าทำไมตัวเองลืมง่ายขนาดนี้ หรือเราทำงานหนักเกินไปจนเบลอหรือเปล่านะ หรือเรากำลังเริ่มมีภาวะความจำเสื่อม ข้อสันนิษฐานเหล่านี้ล้วนมีความเป็นไปได้ทั้งหมด
แต่วันนี้ MOODY อยากชวนทุกคนไปรู้จักกับปรากฏการณ์ทางจิตวิทยาอย่างหนึ่ง ที่เกี่ยวข้องระหว่างการข้ามเขตพื้นที่กับสมองของเรา ซึ่งสามารถเป็นอีกหนึ่งคำตอบได้
โดยเรียกกันว่า ‘Doorway Effect’ ที่มักเกิดขึ้นเมื่อเราเดินผ่านประตูหรือเปลี่ยนสภาพแวดล้อมไปยังพื้นที่ใหม่ จึงมีการแทรกแซงความจำขึ้นจนทำให้เกิด ‘การลืม’ ชั่วขณะ ว่าเราจะเข้าไปที่แห่งนั้นเพื่อทำอะไร
ปัจจัยที่เขามาแทรกแซงก็คือ ‘เส้นแบ่งระหว่างพื้นที่’ ทั้งที่เป็นรูปธรรม เช่น ประตูที่เปิดไปยังอีกห้อง หรือการเปลี่ยนหน้าต่างบนแล็ปท็อป ทำให้ช่วงเวลาเพียงไม่กี่เสี้ยววินาทีระหว่างรอยต่อของพื้นที่นั้น ราวกับถูกรีเซ็ตข้อมูลจากสิ่งแวดล้อมก่อนหน้านี้ไป ทำให้ความคิดจากพื้นที่ก่อนหน้านี้สามารถถูกลบหายไปเมื่อก้าวไปยังพื้นที่ใหม่ได้
ปรากฏการณ์นี้ยืนยันได้จากงานวิจัยของมหาวิทยาลัยนอเทรอดาม ตีพิมพ์ในวารสาร Quarterly Journal of Experimental Psychology ในปี 2011 แสดงให้เห็นว่าความทรงจำได้รับผลกระทบเมื่อเดินผ่านทางเข้าประตู เนื่องจากความทรงจำของคนเราจะถูกจัดระเบียบตามเหตุการณ์หรือช่วงเวลาต่างๆ
เรียกว่า ความจำอาศัยเหตุการณ์ (episodic memory) ซึ่งเกี่ยวข้องกับการรับและจัดเก็บข้อมูลเกี่ยวกับเหตุการณ์ที่มีการลงวันที่ชั่วคราว พร้อมด้วยความสัมพันธ์ด้านเวลาและสถานที่ รวมถึงความรู้สึก เช่น งานวันเกิดครบ 20 ปี ทริปไปเที่ยวต่างประเทศกับเพื่อนสนิท หรือช่วงที่อกหัก เป็นต้น หรือพูดง่ายๆ ว่าเป็นความทรงจำในชีวิตประจำวัน
นอกจากนี้ ศาสตราจารย์เกเบรียล แรดแวนสกี (Gabriel Radvansky) ผู้ดำเนินงานวิจัยดังกล่าวได้อธิบายเพิ่มไว้ว่า คนเรายังแบ่งประสบการณ์ทางจิตใจออกเป็นเหตุการณ์ที่มีความหมาย เรียกว่า แบบจำลองเหตุการณ์ทางจิต ซึ่งหมายถึง ความทรงจำอาศัยความหมาย (semantic memory)
หากจำกัดคำนิยามสั้นๆ อาจใช้คำว่า ‘การระลึกถึง’ ดังนั้น เมื่อเราเปลี่ยนกิจกรรมจากหนึ่งไปสอง จึงทำให้เกิดกระบวนการทางจิต เรียกว่า การอัปเดตกิจกรรม ทำให้สมองลบความทรงจำก่อนหน้าเพื่อมุ่งความสนใจไปยังกิจกรรมใหม่แทน
“เนื่องจากแบบจำลองเหล่านี้มีองค์ประกอบที่เหมือนกัน พวกมันอาจแข่งขันกันเองในระหว่างการดึงความทรงจำ ทำให้เกิดการแข่งขันทางจิต นำไปสู่การลืม แม้ว่าความทรงจำทั้งสองจะชี้ไปที่ข้อมูลเดียวกันก็ตาม” ศาสตราจารย์เกเบรียล กล่าว
แต่ถามว่าปรากฏการณ์นี้มีอันตรายหรือมีความเสี่ยงหรือไม่?
ตามข้อมูลการวิจัยเผยว่า Doorway Effect เป็นการทำงานตามปกติของสมอง ซึ่งแสดงถึงกระบวนการแยกแยะและวิเคราะห์สถานการณ์ให้เป็นปัจจุบัน ส่วนทางด้านจิตใจนั้นกระบวนการนี้ยังช่วยให้เราไม่ต้องใส่ใจกับเหตุการณ์ที่ไม่จำเป็น เสมือนเป็นการเคลียร์แคชความจำในโทรศัพท์ ช่วยให้ทั้งสมองและจิตใจเราโปร่งโล่งสบาย มีพื้นที่ซึมซับสิ่งที่มีความหมายกับชีวิตได้มากขึ้น
ดังนั้น ไม่จำเป็นต้องกังวลไปว่าเราผิดปกติหรือเปล่า แต่หากไม่อยากประสบกับ Doorway Effect บ่อยๆ ระหว่างที่เดินไปยังห้องนั้น หรือจะทำอะไรที่ต้องเปลี่ยนสถานที่อาจต้องมีตัวช่วยเตือนความจำ เช่น ถ้าจะเดินไปหยิบน้ำ อาจจดลงบนกระดาษเล็กๆ บนมือ ในโทรศัทพ์ หรือเดินท่องไปเลยก็ได้
รวมถึงอีกหนึ่งหนทางออกที่ช่วยให้เราอยู่กับปัจจุบันได้มากขึ้นคือ การฝึกสติ เจริญสมาธิ เพราะหากเรามีสติมากพอนั่นหมายความว่า ทั้งสมองและจิตใจของเราอยู่กับปัจจุบันขณะตลอดเวลานั่นเอง
อ้างอิง
- The ‘Doorway Effect’ Is Why You Forget What You Were Going to Do When Entering a Different Room https://shorturl.asia/sRCyX
- Doorway effect https://shorturl.asia/IUwdL
- ความจำอาศัยเหตุการณ์ https://shorturl.asia/7Dnu
- Doorways do not always cause forgetting: a multimodal investigation https://shorturl.asia/NR1Dj