3 Min

ผู้ชายเองก็เป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัว แต่เกือบครึ่งเลือกที่จะ ‘เงียบ’ ไม่บอกใคร

3 Min
820 Views
27 Apr 2022

เมื่อพูดถึงเหยื่อความรุนแรง เรามักนึกถึงเด็กและผู้หญิงเสมอ แต่ในอีกทางหนึ่ง ผู้ชายเองก็เป็นเหยื่อความรุนแรงในครอบครัวไม่ต่างกัน โดย 1 ใน 3 ของเหยื่อความรุนแรงในสหรัฐอเมริกา เป็นผู้ชาย แต่มีเพียงแค่ 4.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ไปหาองค์กรเพื่อขอความช่วยเหลือ โดยเหยื่อผู้ชายกว่าครึ่งเลือกที่จะ ‘เก็บเงียบ’ เพราะกลัวว่าคนอื่นจะไม่เชื่อ และถูกมองว่า ‘ไม่แมน’

จากประเด็นร้อนแรงของวงการฮอลลีวูดในคดีฟ้องร้องระหว่าง จอห์นนี เดปป์ (Johnny Depp) และ แอมเบอร์ เฮิร์ด (Amber Heard) อดีตสามีและภรรยา ก็มีทีท่าว่าจะชัดเจนมากขึ้น ในประเด็นความรุนแรงในครอบครัวของทั้งสองคนสมัยที่ยังอยู่ด้วยกัน ทั้งการทำร้ายทางร่างกายและการทำร้ายทางจิตใจ รวมถึงการที่เดปป์ได้เปิดเผยว่า เขาเองเติบโตมาในครอบครัวที่แม่เป็นคนใช้ความรุนแรงมาตั้งแต่เด็ก

Johnny Depp | resized`

‘ความรุนแรงในครอบครัว’ (Domestic violence) คือการละเมิดบุคคล ที่อาจเกิดขึ้นใกล้ตัวเราอย่างไม่น่าเชื่อ และครอบคลุมตั้งแต่การทำร้ายร่างกาย จิตใจ และบังคับข่มเหงจากคนในครอบครัว ซึ่งโดยทั่วไปเมื่อเราพูดถึงประเด็นนี้มักนึกถึงเหยื่อความรุนแรงที่เป็นเด็กและผู้หญิงเสมอ แต่ในความเป็นจริงแล้ว ‘ผู้ชาย’ เองก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงในครอบครัวไม่แตกต่างกัน เพียงแต่พวกเขามีแนวโน้มที่จะ ‘ไม่พูด’ มันออกมา

หลายครั้งคนในสังคมเชื่อว่าผู้ชายหรือความเป็นชาย คือการที่จะต้อง ‘เข้มแข็ง’ และ ‘แข็งแรง’ เมื่อผู้ชายตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงทำให้ถูกสังคมรอบข้างละเลยและไม่เชื่อ แต่นี่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก จากการสำรวจของสำนักงานสถิติแห่งชาติสหรัฐอเมริกาพบว่า เหยื่อ 1 ใน 3 ของความรุนแรงในครอบครัวเป็นผู้ชาย เท่ากับว่าในแต่ละปีมีผู้ชายกว่า 757,000 คนในสหรัฐฯ ที่ตกอยู่ให้ห้วงความรุนแรง

Domestic violence | bbc

ในขณะที่สำนักงานสำรวจความรุนแรงทางเพศและความสัมพันธ์สหรัฐอเมริกา (The National Intimate Partner and Sexual Violence Survey: NISVS) สำรวจพบว่า ผู้ชาย 1 ใน 4 เคยเผชิญหน้ากับความรุนแรงทางเพศ ทางกาย และการถูกสะกดรอยตาม โดย 56 เปอร์เซ็นต์ เกิดขึ้นจากคู่รักของพวกเขาเอง และผู้ชาย 1 ใน 38 คนเคยมีประสบการณ์ถูกข่มขืนกระทำชำเรามาก่อนในชีวิต ซึ่งส่วนใหญ่เกิดขึ้นก่อนอายุ 25 ปี

จากสถิติทำให้เราเห็นได้ชัดเจนว่าผู้ชายก็เป็นเหยื่อของความรุนแรงได้ไม่แตกต่างกัน แต่เมื่อมาดูที่สถิติการได้รับความช่วยเหลือสนับสนุนจากบริการขององค์กรที่ช่วยเหลือผู้ประสบความรุนแรงในครอบครัว พบว่า มีผู้ชายแค่ 4.4 เปอร์เซ็นต์เท่านั้นที่ได้รับการดูแลจากหน่วยงานด้านความรุนแรงในครอบครัว จากรายงานขององค์กรช่วยเหลือที่ให้ที่พักพิงแก่เหยื่อมากกว่า 238 แห่ง มีเพียง 58 แห่งเท่านั้นที่จัดไว้ให้สำหรับเหยื่อผู้ชาย

การเปิดเผยเรื่องราวความรุนแรงและสถานการณ์การเป็น ‘เหยื่อ’ สำหรับผู้ชายเป็นเรื่องยากที่จะเอ่ย ในช่วงการระบาดของโควิด-19 ที่ผ่านมา อัตราความรุนแรงในครอบครัวเพิ่มสูงขึ้นทั่วโลกจนน่าตกใจ แต่เหยื่อเพศชายถึง 49 เปอร์เซ็นต์จะไม่บอกกับใครเลยว่าพวกเขาตกเป็นเหยื่อ ซึ่งเป็นตัวเลขที่น้อยกว่าเหยื่อผู้หญิงถึง 3 เท่า

ในสังคมที่คาดหวังให้ผู้ชายเข้มแข็งเสมอ การจะเปิดเผยเรื่องราวว่าตนเองตกเป็นเหยื่อในครอบครัวไม่ใช่เรื่องง่ายเลย การศึกษาจากมหาวิทยาลัยบริสตอล (University of Bristol) พบว่า ผู้ชายมักกังวลว่าคนอื่นจะไม่เชื่อและถูกมองว่าไม่แมนหากพวกเขารายงานว่าตัวเองถูกละเมิด

นอกจากนี้พวกเขายังไม่รู้ด้วยว่าต้องทำอย่างไรหากตนเองตกเป็นเหยื่อ โดยนักวิจัยระบุว่า ผู้หญิงมักถูกสอนเสมอให้ระวังตัวและต้องทำอย่างไรเมื่ออยู่ในสถานการณ์ที่ตกเป็นรอง แต่ผู้ชายนั้นตรงกันข้าม หลายคนไม่รู้ว่าพวกเขาสามารถขอความช่วยเหลือได้จากองค์กรต่างๆ

ความรุนแรงในครอบครัวเป็นปัญหาสำคัญที่สามารถเกิดขึ้นได้กับทุกเพศ แต่สังคมที่ทำให้เรามักคิดเสมอว่าผู้ชายเป็นเพศที่แข็งแรงกว่าและเป็นผู้นำ ทำให้ผู้ชายที่ตกเป็นเหยื่อของความรุนแรงกว่าครึ่งเลือกที่จะไม่พูด และเก็บปัญหาเอาไว้กับตัวเองจนสถานการณ์ถึงจุดวิกฤต และตัวเลขเชิงสถิติที่เราเห็นนั้นอาจเป็นเพียงแค่ส่วนหนึ่งของเหยื่อความรุนแรงเท่านั้น

อ้างอิง