ในงานวิจัยของวารสาร Frontier in Veterinary Science ฉบับเดือนธันวาคม 2021 ได้มีการประเมินจำนวนหมาในประเทศไทยว่ามีมากถึงประมาณ 12.8 ล้านตัว โดยในจำนวนนี้เป็นหมาที่มีเจ้าของถึง 11.2 ล้านตัวเลยทีเดียว
ถามว่าจำนวนเหล่านี้น่าสนใจไหม? คำตอบคือมันสื่อได้ว่าประเทศไทยมีหมาเยอะมาก เพราะตามข้อมูลทะเบียนราษฎรของปี 2021 ประเทศไทยมีเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี จำนวน 12.8 ล้านคน ซึ่งจำนวนนี้ค่อยๆ ลดลงตามสไตล์สังคมผู้สูงอายุ ในขณะเดียวกันจำนวนหมาในไทยมี 12.8 ล้านตัว จากการประเมินของทีมวิจัย อัตราการเติบโตของประชากรหมาน่าจะอยู่ที่ปีละประมาณ 1-2 เปอร์เซ็นต์ ในขณะที่อัตราการโตของประชากรไทยนั้นปัจจุบันอยู่ที่ประมาณถึง 0.2 เปอร์เซ็นต์ด้วยซ้ำ (ครั้งสุดท้ายที่ถึง 1 เปอร์เซ็นต์ คือปี 2000) และลดลงเรื่อยๆ เนื่องจากอัตราการเกิดของคนไทยลดลง (เรื่อยๆ มานานแล้ว)
พูดง่ายๆ ว่าสังคมไทยคือสังคมที่กำลังจะมีหมามากกว่าเด็ก และจำนวนหมาก็กำลังเพิ่มขึ้นเร็วกว่าคนไทยอย่างชัดเจนด้วย
ไม่น่าแปลกใจเลยที่หมาส่วนใหญ่ในเมืองไทยมันมากระจุกตัวกันในกรุงเทพฯ และปริมณฑล หรือพูดอีกแง่หนึ่งคือ กรุงเทพฯ กำลังจะกลายเป็น ‘เมืองหมา’
นี่อาจจะเป็น ‘ระเบิดเวลา’ หรืออนาคตอันสดใสก็คงจะอยู่ที่ ‘การจัดการ’ ของรัฐ
จริงๆ ภาวะที่เราได้เข้าสู่สังคมผู้สูงอายุ และจำนวนของหมาที่มากกว่าเด็กนั้นไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร เพราะช่วงปลายทศวรรษ 2010 มันเกิดขึ้นในหลายประเทศแล้วเช่นในสหรัฐอเมริกา ซึ่งในสังคมที่มี ‘การจัดการ’ ที่ดี ปัญหาก็จะน้อย แต่ในสังคมไทย เราอาจต้องคุยกันเรื่องนี้อีกเยอะมากๆ เพราะในกรุงเทพฯ เรายังไม่พร้อมกับการที่สังคมจะมี ‘หมา’ มากมาย
ถึงวันนี้ก็ต้องบอกตรงๆ ว่า ‘ขอพื้นที่ให้หมาหน่อย’ เพราะหลายคนก็คงโวยว่าจริงๆ กรุงเทพฯ มันก็ไม่เป็นมิตรกับคนอยู่แล้ว แต่เราอยากจะพูดถึงหมาเป็นพิเศษ เพราะสำหรับคนเลี้ยงหมาจำนวนมาก (โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่) การเลี้ยงหมาดูเหมือนจะมาแทนที่การเลี้ยงลูก และหมาไม่ใช่แค่ ‘สัตว์เลี้ยง’ ที่โยนอาหารให้กินแล้วก็จบ แต่มันเป็น ‘สมาชิกครอบครัว’ ที่ ‘เจ้าของเลี้ยงดูปูเสื่อเป็นอย่างดี’
เอาเข้าจริงพวกอุตสาหกรรมอาหารสัตว์เลี้ยงก็เห็นเทรนด์นี้นานแล้ว ดังจะเห็นได้ว่าสินค้ากลุ่มหนึ่งที่ยอดขายโตต่อเนื่องแบบไม่สนโควิดเลยก็คือ กลุ่มพวกอาหารสัตว์เลี้ยงแบบพรีเมียม ซึ่งก็นำโดยอาหารหมาแบบพรีเมียมนั่นแหละ
ไม่ใช่แค่บริษัทผลิตอาหารหมาที่ตื่นตัว เพราะเอกชนก็ตื่นตัวกันหมด ดังเช่นยุคนี้เราจะเห็น ‘คอนโดที่อนุญาตให้เลี้ยงสัตว์ได้’ มากขึ้น จากในอดีตที่หายากเสียยิ่งกว่ายาก รวมถึงพวก ‘ห้างสรรพสินค้าที่พาหมาเข้าได้’ ก็ขยายตัวขึ้น ในจำนวนนั้นก็มักจะมี ‘ร้านอาหารที่พาหมาไปนั่งกินด้วยได้’ และคงไม่ต้องพูดถึง ‘ที่พักที่พาหมาเข้าพักได้’ ซึ่งทุกวันนี้มีเต็มไปหมด จนพวกเอเจนซีจองที่พักออนไลน์ต้องเพิ่มหมวด ‘Pet-Friendly’ เข้ามาบนแพลตฟอร์ม หรือพวกแอพฯ เรียกรถอย่าง Grab ก็ยังเปิด GrabPet เพื่อให้คนสามารถเรียกรถเพื่อขนส่งสัตว์เลี้ยงโดยเฉพาะ
ดังนั้น พูดกันจริงๆ ‘เอกชน’ ไม่น่าเป็นห่วงอะไรเลยกับ ‘สังคมอุดมสัตว์เลี้ยง’ ที่กำลังเกิดขึ้น เพราะปรับตัวกันเร็วมาก แต่ปัญหาจริงๆ ก็คือพวกภาครัฐน่ะแหละที่ไม่ได้ยอมปรับตัวกับเรื่องนี้
เอาง่ายๆ ทุกวันนี้ สวนสาธารณะในกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ก็ยังไม่ให้หมาเข้าไปเลย และถ้าไปค้นในเน็ตมันมีคนโวยประเด็นนี้มาตั้งแต่ปี 2013 ในเว็บ Pantip.com ซึ่งสถานการณ์ทุกวันนี้ก็ยังไม่เปลี่ยน
นี่เป็นเรื่องพื้นฐานที่ซีเรียสเลย เพราะในหลายประเทศคนที่จะเลี้ยงหมา เขาบังคับให้ต้องพาออกไปเดินเล่นทุกวันด้วยซ้ำ เพื่อสวัสดิภาพของหมา และนี่คือวิธีคิดเรื่อง ‘สิทธิสัตว์’ ในทางปฏิบัติจริงๆ (ไม่ใช่แบบไทยที่ใช้ปกป้องพวกหมาข้างถนนที่ไม่รู้เป็นพิษสุนัขบ้าหรือไม่) คำถามคือ ในไทยมันจะทำแบบนี้ได้ยังไง เพราะแค่สวนสาธารณะที่ไม่ได้มีมากมาย ก็ยังห้ามไม่ให้คนเอาหมาไปเดินเล่นเลย
เอาเข้าจริงเรื่องพวกนี้ไม่ได้ยากเลย ถ้าจะมีกฎระเบียบก็ให้หมาต้องใส่สายจูงตลอดเวลาที่อยู่ในสวนสาธารณะก็ว่าไป พวกสิ่งปฏิกูลของหมา ในบรรดาคนเลี้ยงหมารุ่นใหม่ทั่วๆ ไปก็มีความรับผิดชอบพอที่จะรู้จักเก็บอยู่แล้ว หรือถ้าคิดว่าการมีหมาเข้าไปในสวนฯ จะทำให้ขยะมันมากขึ้น การเก็บค่าเข้าของหมาในเรตที่สมเหตุสมผล ก็คงไม่มีคนเลี้ยงหมาที่ไหนขัดข้องอยู่แล้ว แต่ประเด็นคือตอนนี้มัน ‘ห้ามเข้า’ อย่างสิ้นเชิงน่าจะเกือบทุกสวนสาธารณะ
และก็ไม่ใช่แค่พวกสวนสาธารณะ แต่การขนส่งมวลชนต่างๆ ใน กทม. ก็ไม่เป็นมิตรต่อหมาเช่นกัน เพราะถ้าว่ากันตามระเบียบตามตัวอักษร ขนาดหมาตัวเล็กๆ อยู่ในกระเป๋าที่มิดชิด ทุกวันนี้ก็ยังขึ้นรถไฟฟ้าไม่ได้เลย
ถ้าไปดูในรายละเอียดก็จะมีเรื่องพวกนี้อยู่เต็มไปหมด จะเรียกว่าเป็นการ ‘เหยียด’ คนเลี้ยงหมาก็ได้ ทั้งที่ไม่มีความจำเป็นเลยที่จะต้องทำแบบนี้
ถามว่าทำไมสิ่งเหล่านี้ต้องเปลี่ยน? ก็อย่างที่บอกตอนต้น เมืองไทยกำลังเป็น ‘สังคมที่มีหมามากกว่าเด็ก’ ดังนั้นประชากรหมามันจะเยอะขึ้น และคนที่เลี้ยงหมาก็น่าจะค่อยๆ เรียกร้องให้เมืองนี้ปฏิบัติกับคนที่เลี้ยงหมาอย่างมีความรับผิดชอบดีกว่านี้
ทั้งหมดนี้นำเรากลับมาสู่สิ่งที่ผิดเพี้ยนบ้าบอ (อันเป็นเรื่องปกติของสังคมไทย) อีกอย่างหนึ่งก็คือ การเอาหลักการด้าน ‘สิทธิสัตว์’ ไปใช้กับ ‘หมาจรจัด’ ซึ่งจริงๆ ในต่างประเทศนั้นสิทธิจำพวกนี้แทบไม่ได้ใช้กับสัตว์พวกนี้ด้วยซ้ำ เพราะหมาจรจัดที่ไม่ได้รับการฉีดวัคซีนมันอาจเป็นพาหะของเชื้อพิษสุนัขบ้า ที่ถ้าคนติดไปแล้วเชื้อฟักตัว โอกาสตายมีถึง 99.9 เปอร์เซ็นต์ ดังนั้นเขาจึงมีมาตรการมาแต่โบราณว่าต้องจัดการพวกหมาจรจัดอย่างเด็ดขาด ไม่ต่างจากการกำจัดสัตว์อื่นๆ ที่เป็น ‘พาหะโรค’ ร้ายแรงระดับใครเป็นแล้วถึงตาย
แน่นอนว่าไม่จำเป็นต้องเป็นการจับไป ‘ฆ่าทิ้ง’ ให้หมด เพราะต่างประเทศก็ไม่ได้ทำอย่างนั้น เขาจับมาฉีดวัคซีน ทำหมัน จับเข้าศูนย์พักพิง เพื่อให้คนมารับอุปการะ หากไม่มีคนรับอุปการะก็ค่อยทำการ ‘จบชีวิต’ พวกมันอย่างสงบ ไปจากโลกที่ไม่มีใครต้องการจะดูแลพวกมัน
ในไทยเองเอาจริงๆ เอกชนหลายพื้นที่ก็มีไอเดียเรื่องการจัดการแบบ ‘หมาชุมชน’ ที่ชุมชนรับผิดชอบร่วมกัน และแบ่งระดับ ‘ความเป็นมิตร’ ของพวกมันตามสีปลอกคอ ซึ่งอะไรพวกนี้มันก็สมเหตุสมผลอยู่ เพราะสำหรับคนไม่เลี้ยงหมา (ที่ยังมีเหตุมีผล) เขาก็ไม่ได้เกลียดหมาเสียทีเดียว ประเด็นปัญหาคือหมาที่เพ่นพ่านในพื้นที่สาธารณะ เวลากัดคนมักจะไม่มีใครรับผิดชอบอะไรทั้งนั้น และจริงๆ หมาพวกนี้ แม้แต่คนเลี้ยงหมาเองก็ไม่ได้ชอบ เพราะพวกหมาจรจัดที่เพ่นพ่านตามตรอกซอกซอยแถวบ้าน มันทำให้หมาที่เขาเลี้ยงไว้ในบ้านไม่สามารถออกมาเดินเล่นแถวบ้านได้อย่างสงบเช่นกัน
ดังนั้นกล่าวโดยสรุป ในทางนโยบายการให้สิทธิที่เหมาะสมกับหมาที่มีคนเลี้ยง กับการ ‘จัดระเบียบ’ หมาจรจัดอย่างจริงจังก็ต้องมาคู่กัน เพื่อให้เมืองแห่งนี้น่าอยู่ขึ้น ทั้งสำหรับคน หมา คนเลี้ยงหมา และคนที่ไม่เลี้ยงหมา
ส่วนรัฐก็ไม่ต้องทำอะไรเลย นอกจากยอมรับความจริงว่าหมาที่มีเจ้าของมีเยอะขึ้นจริงๆ และพวกมันก็ต้องการที่ทางและโครงสร้างการใช้ชีวิตที่เหมาะสม เพื่อจะมีชีวิตอย่างมีสวัสดิภาพในเมืองนี้เช่นเดียวกับมนุษย์อย่างเรา
‘Better City – เมืองที่ดีสำหรับทุกคน’ คือแคมเปญล่าสุดของ BrandThink ที่ตั้งใจจะถ่ายทอดเรื่องราวปัญหาสุดคลาสสิกของเมืองกรุง ที่เราต้องเผชิญมาหลายทศวรรษและไม่เคยแก้ไขได้สำเร็จเสียที
มาร่วม ‘ส่งเสียง’ ของคุณ และ ‘ฟังเสียง’ ของคนอื่นไปพร้อมๆ กัน ผ่านคอนเทนต์สนุกๆ สร้างสรรค์ กระตุกต่อมคิด ในรูปแบบบทความ คลิปวิดีโอ อินโฟกราฟิก ภาพถ่ายสารคดี รวมถึงกิจกรรมอื่นๆ อีกมากมาย ตลอดหนึ่งเดือนเต็มนับจากนี้
เพื่อขับเคลื่อนกรุงเทพฯ ไปสู่ ‘เมืองที่ดีสำหรับทุกคน’ อย่างแท้จริง