4 Min

สิ่งที่ควรทำ ‘ก่อนอายุ 30’ คือไม่ต้องตั้งเป้าหมายว่าจะทำอะไรก่อน 30

4 Min
1133 Views
25 Aug 2022

การมีเป้าหมายในชีวิตเป็นเรื่องที่ดีสำหรับใครหลายคน แต่การกดดันตัวเองด้วยเงื่อนไขต่างๆ มากเกินไปก็อาจทำให้เกิดภาวะล่มสลายทางจิตใจได้เช่นกัน

เชื่อว่าหลายคนคงเคยผ่านตาบทความทำนองว่า ควรทำอย่างไรถึงจะประสบความสำเร็จก่อนอายุ 30 หรือไม่ก็บทความที่บอกว่าเราควรทำอะไรบ้างก่อนเข้าสู่วัย 30 ซึ่งคอนเทนต์ประเภทนี้มีมานานแล้ว แถมยังมีเยอะขึ้นเรื่อยๆ ด้วย จนมีการตั้งคำถามกลับผ่านสื่อเช่นกันว่า ทำไมสังคมทั่วโลกถึงต้องหมกมุ่นกับเนื้อหาคล้ายๆ กันนี้จนกลายเป็นค่านิยมร่วมสมัยของคนยุคหลัง 2000 เป็นต้นมา

บทความใน Grazia สื่อไลฟ์สไตล์ของอังกฤษเคยตั้งคำถามถึงเรื่องนี้อย่างตรงไปตรงมาเมื่อปี 2017 ว่า ทำไมคนจำนวนมากถึงต้องกลัววัย 30 และทำเหมือนกับว่าชีวิตเราจะจบสิ้นกันที่ประมาณ 35 ปีเท่านั้น? โดย รีเบคคา โคป (Rebecca Cope) คอลัมนิสต์ของกราเซีย วิเคราะห์ว่าในอดีต คนที่อายุ 30 ปีแล้วยังไม่แต่งงานหรือมีลูกมักจะถูกกดดันจากสังคม โดยเฉพาะผู้หญิง

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะในยุควิทยาการด้านการแพทย์ยังไม่ก้าวหน้า การมีลูกหลังวัย 30 ปี เคยเป็นเรื่องที่หมอส่วนใหญ่บอกให้ผู้หญิงหลีกเลี่ยงเพราะอาจส่งผลต่อพัฒนาการของเด็กในครรภ์ ทำให้มีค่านิยมว่าถ้าผู้หญิงอายุ 30 แล้วยังไม่แต่งงานก็เตรียมขึ้นคานได้เลย แถมยังจะลำบากตอนแก่ด้วยเพราะไม่มีใครดูแล แม้ทุกวันนี้การมีลูกหลังอายุ 30 ไม่ใช่เรื่องน่ากังวลเท่าเดิมแล้ว แต่คนจำนวนมากก็ยังคาดหวังว่าผู้หญิงควรจะแต่งงานก่อน 30

ส่วนกรณีของผู้ชายก็มักจะถูกกดดันว่าต้องมีบ้าน มีทรัพย์สิน มีการงานมั่นคง ทำหน้าที่ผู้นำครอบครัวได้ เพราะช่วงวัย 20 คือการเปลี่ยนผ่านจากวัยเรียนเป็นวัยทำงาน ดังนั้นตัวเลข 30 จึงเป็นหมุดหมายที่คนในสังคมจำนวนมากตั้งเป้าว่าผู้ชายต้องมีความเปลี่ยนแปลงเกิดขึ้นในชีวิตช่วงวัยนี้ และสื่อธุรกิจที่จัดอันดับบุคคลทรงอิทธิพลก็มักจะหยิบเรื่องราวของคนที่ประสบความสำเร็จก่อนอายุ 30 ปี มาพูดถึงบ่อยๆ เพราะเป็นเรื่องที่ขายได้หลายคนมองว่าเป็นการสร้างแรงบันดาลใจ ทำให้คนมีแรงผลักดันในชีวิต

อย่างไรก็ดี คอนเทนต์แบบนี้ส่วนใหญ่ไม่ได้พูดถึงข้อจำกัดหรือโครงสร้างทางสังคมอื่นๆ ที่ทำให้คนไม่สามารถไปถึงจุดหมายปลายทางเหมือนกันทั้งหมดได้

ยิ่งโลกเข้าสู่ยุคที่สื่อสังคมออนไลน์กลายเป็นช่องทางเสพข้อมูลที่คนคุ้นชินมากที่สุด เรื่องส่วนตัวของผู้คนจำนวนมากถูกเปิดเผยสู่สาธารณะ จนเกิดการเปรียบเทียบชีวิตของตัวเองกับภาพสวยๆ งามๆ ที่เห็นในชีวิตของคนอื่นที่ปรากฏทางสื่อสังคมออนไลน์ แต่การทำแบบนี้ยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่ไม่มีความสุขกับชีวิตของตัวเองยิ่งกว่าเดิม ทั้งยังรู้สึกด้วยว่าจะต้องทำให้ชีวิตสมบูรณ์แบบตามมาตรฐานของสังคมให้ได้ก่อน ถึงจะเรียกว่ามีความสุขหรือประสบความสำเร็จอย่างแท้จริง

ประเด็นนี้ถูกพูดถึงในงานวิจัย 2 ชิ้นที่ศึกษาว่า แรงกดดันทางสังคมมีผลให้คนมองชีวิตของตนเองอย่างไร โดยชิ้นแรกเป็นการศึกษาข้อมูลเปรียบเทียบเกี่ยวกับทัศนคติเรื่องชีวิตที่สมบูรณ์แบบของประชากรจาก 3 ประเทศ คือ สหรัฐอเมริกา แคนาดา และอังกฤษ ช่วงปี 1989-2016 (https://bit.ly/2Fh9xxl) ขณะที่อีกชิ้นตีพิมพ์ในวารสาร Nature เมื่อเดือนกุมภาพันธ์ 2022 (https://go.nature.com/3A9Cms1) โดยทั้งสองงานสรุปใกล้เคียงกันว่า การยอมรับมาตรฐานของสังคมในการชี้วัดความสุขส่วนบุคคล มีผลให้คนจำนวนมากมีสุขภาวะ (well-being) ในชีวิตลดลง

พูดง่ายๆ คือ ยิ่งคนเราเอาตัวเองไปยึดติดกับมาตรฐานของสังคมมากเท่าไหร่ ก็ยิ่งใช้ชีวิตอย่างมีความสุขได้น้อยลงเท่านั้น (ซึ่งในงานวิจัยใช้คำว่ามีสุขภาวะลดลง)

ที่เป็นอย่างนี้เพราะคนส่วนใหญ่ถูกปลูกฝังให้เชื่อว่าตัวเองจะต้องใช้ชีวิตที่ดีตามความคาดหวังของสังคม ถึงขั้นที่บางคนอาจรู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอถ้าไม่สามารถไปถึงมาตรฐานที่สังคมวางไว้

โทนี เดอ โกไวอา (Tony de Gouveia) นักจิตวิทยาอเมริกัน เคยให้สัมภาษณ์กับ HuffPost สื่อออนไลน์ในสหรัฐฯ เตือนว่า ค่านิยมแบบนี้ทำให้ผู้คนยุคหลังปี 2000 เป็นต้นมา มีอาการเจ็บป่วยทางจิตใจกันมากขึ้น ทั้งโรคเครียดและโรคซึมเศร้าก็มีแนวโน้มจะเรื้อรังรุนแรงขึ้น และการที่สื่อต่างๆ ผลิตซ้ำเนื้อหาเกี่ยวกับเป้าหมายในชีวิตที่ต้องทำให้สำเร็จก่อนวัย 30 ก็ยิ่งทำให้คนส่วนใหญ่ที่เสพข้อมูลเหล่านี้รู้สึกไม่มั่นคงทางจิตใจยิ่งขึ้นไปอีก

บทความใน HuffPost อ้างอิงผลสำรวจขององค์การอนามัยโลก (WHO) ที่ประเมินว่า ผู้มีภาวะเจ็บป่วยทางจิตใจทั่วโลกมีจำนวนมากกว่า 300 ล้านคน (ข้อมูลปี 2018) ทั้งยังระบุว่า โรคซึมเศร้าและภาวะทางจิตใจอื่นๆ ที่เข้าขั้นรุนแรงส่งผลกระทบต่อชีวิตของคนหลายช่วงวัย ไม่ว่าจะเป็นเด็กนักเรียน คนวัยทำงาน ส่งผลต่อคนในครอบครัว ทั้งยังเป็นสาเหตุให้คนฆ่าตัวตายราว 800,000 รายในแต่ละปี

ขณะที่เว็บไซต์ Welcome to the Jungle เผยแพร่บทความตั้งแต่ปี 2018 เพื่อแสดงจุดยืนไม่เห็นด้วยกับการตั้งเป้าหมายชีวิตก่อนถึงวัย 30 ปี โดยมีการเตือนคนอ่านว่าสิ่งที่ควรทำก่อนเข้าสู่ช่วงวัย 30 จริงๆคือการเลิกเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่นให้ได้และอย่าคิดว่าชีวิตต้องเป็นไปตามที่คนรอบข้างหรือสังคมคาดหวังถึงจะเรียกว่าสมบูรณ์แบบส่วนการประเมินความสำเร็จในชีวิตของตัวเองจริงๆควรคำนึงถึงความสามารถและความต้องการของตัวเองเป็นหลักไม่ใช่ฟังจากคำพูดของคนอื่น

ส่วนใครที่รู้สึกว่าตัวเองกำลังหมดไฟ ไม่มีแรงทำอะไร ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าหรืออาการที่ส่งผลต่อจิตใจอื่นๆ ควรหาทางปรึกษาแพทย์หรือนักจิตวิทยา โดยกรณีของไทย มีสายด่วนสุขภาพจิต 1323 ที่สามารถสอบถามได้โดยไม่เสียค่าใช้จ่าย

อ้างอิง

  • Grazia. Why Do We Treat 30 As If We’re About To Die At 35? https://bit.ly/3AD1LvN
  • Huffington Post. The Pressure To ‘Do It All’ And ‘Be It All’ Can Send You Into A Major Depression. https://bit.ly/3Aj3Yv0
  • Nature. Perceiving societal pressure to be happy is linked to poor well-being, especially in happy nations. https://go.nature.com/3T6e76x
  • Welcome to the Jungle. Have we actually failed if we’re not ‘successful’ by the time we hit 30?. https://bit.ly/3c8hclY