2 Min

ไดโนกุด! พบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่ในอาร์เจนตินาที่ ‘แขนเล็ก’ ยิ่งกว่าทีเร็กซ์

2 Min
1850 Views
28 Feb 2022

ที่ผ่านมา ‘ทีเร็กซ์’ หรือ ‘ไทรันโนซอรัส เร็กซ์’ (Tyrannosaurus Rex) เป็นไดโนเสาร์ที่มีภาพจำ ‘แขนเล็กแขนสั้น’ จนถูกนำมาล้อเลียนอยู่บ่อยๆ ว่าไร้ประโยชน์สิ้นดี และด้วยสรีระแบบนี้แค่ล้มก็ลุกไม่ขึ้น แต่ล่าสุดเราได้เจอผู้ล้มแชมป์สาขาแขนจิ๋วรายใหม่ในอาร์เจนตินามีแขนเล็กยิ่งกว่าทีเร็กซ์อีก!

‘กัวเมชา โอโชไอ’ (Guemesia ochoai) คือแชมป์คนใหม่ที่อยู่ในกลุ่มไดโนเสาร์แขนจิ๋วที่ใช้ชีวิตอยู่ในซีกโลกใต้เมื่อราว 70 ล้านปีก่อน และจัดอยู่ในจำพวกอะเบลิซอริด (Abelisaurid) สัตว์นักล่าอันดับต้นๆ ในระบบนิเวศ ด้วยสรีระขากรรไกรที่ทรงพลังช่วยให้มันสามารถล่าได้แม้แต่ไดโนเสาร์คอยาวขนาดใหญ่ที่เคยวิ่งอยู่ทั่วทวีปแอฟริกา อเมริกาใต้ และอินเดีย (เมื่อก่อนทวีปเหล่านี้เคยติดกัน) ซึ่งไดโนเสาร์ในตระกูลนี้มีแขนสั้นอยู่แล้ว แต่เจ้ากัวเมชา โอโชไอมีแขนเล็กจนเหมือนไม่มี เรียกว่าเล็กยิ่งกว่านิ้วเท้าของมันเสียอีก

ฟอสซิลของ กัวเมชา โอโชไอ ที่ค้นพบเป็นส่วนกะโหลกในชั้นหินที่มีอายุ 75-65 ล้านปีก่อน โดยมีลักษณะเฉพาะนอกจากแขนจิ๋วๆ คือรูปขนาดเล็กเรียงกันที่กะโหลกด้านหน้า หรือเรียกว่าฟอรามินา (foramina) ซึ่งวิทยาศาสตร์เชื่อว่าช่วยระบายความร้อนในร่างกายใหญ่ๆ ของไดโนเสาร์นักล่าได้

แม้ว่าอาร์เจนตินาจะเป็นประเทศที่มีการค้นพบฟอสซิลไดโนเสาร์ประเภทอะเบลิซอริดอาศัยอยู่มากเป็นทุนเดิม โดยที่มีการค้นพบอย่างน้อย 35 สายพันธุ์ แต่ส่วนใหญ่พบในพื้นที่ทางตอนใต้ของประเทศ ส่วนพื้นที่ที่นักบรรพชีวินวิทยาค้นพบกัวเมชา โอโชไอ เป็นพื้นที่ทางตะวันตกเฉียงเหนือของประเทศซึ่งไม่ค่อยพบฟอสซิลไดโนเสาร์สายพันธุ์อะเบลิซอริดมากนัก

dinosaur | nhm

ดังนั้นการค้นพบไดโนเสาร์พันธุ์ใหม่อาจไม่ได้น่าตื่นเต้นแค่เพราะว่ามันเป็น ‘ไดโนแขนกุด’ แต่มันอาจเป็นการอธิบายว่าเพราะเหตุใดพื้นที่นั้นถึงมีสัตว์ที่มีลักษณะพิเศษค่อนข้างมาก การค้นพบไดโนเสาร์แขนจิ๋วนี้อาจเป็นการช่วยเติมเต็มปริศนาดังกล่าวในวิวัฒนาการในยุคครีเตเชียส (Cretaceous)

โดยเจ้าแขนกุดนี้ใช้ชีวิตอยู่ในพื้นที่ซึ่งมีความแตกต่างทางสภาพแวดล้อมในอาร์เจนตินา ศาสตราจารย์ อันจาลี โกสวามิ (Anjali Goswami) หัวหน้าฝ่ายวิจัยที่พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติแห่งลอนดอนและผู้นำทีมวิจัย ระบุว่า เมื่อหลายร้อยล้านปีก่อนทวีปทั้งหมดในโลกยังอยู่ติดกันเป็นมหาทวีปที่เรียกว่า แพนเจีย (Pangaea) แต่เมื่อ 180 ล้านปีก่อนมี 2 ทวีปใหญ่ที่ค่อยๆ แยกออกจากกันซึ่งทำให้เกิดการวิวัฒนาการที่แยกออกจากกันด้วยในเวลาต่อมา ซึ่งหนึ่งในทวีปที่แยกออกมาเรียกว่า กอนวานา (Gondwana) ซึ่งสายพันธุ์อะเบลิซอริดพัฒนาขึ้นที่นี่ นั่นเป็นสาเหตุที่เราไม่ได้เจอฟอสซิลแขนจิ๋วทั่วโลกนั่นเอง

ส่วนกัวเมชา โอโชไอ ที่มีแขนจิ๋วเป็นพิเศษยิ่งกว่าแขนของทีเร็กซ์ที่เราชอบล้อเลียน ยังไม่มีรายงานว่ามันส่งผลต่อพฤติกรรมของมันหรือไม่อย่างไร แต่ที่แน่ๆ การค้นพบครั้งนี้ได้ล้มแชมป์แขนจิ๋วแห่งโลกดึกดำบรรพ์ไปเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

อ้างอิง