มนุษย์อาจกิน ‘ขี้เพี้ย’ มาแต่โบราณ และเรื่องนี้สั่นสะเทือนการศึกษา ‘ประวัติศาสตร์ของมนุษยชาติ’
จริงๆ ในทางโบราณคดีหรือมานุษยวิทยากายภาพ มีทฤษฎีหนึ่งที่เชื่อว่าก่อนมนุษย์จะลงหลักปักฐานทำการเกษตรในยุคหินใหม่ มนุษย์ก่อนหน้านั้นจะแบ่งงานกันทำแบบ ‘ผู้ชาย’ ออกไปล่าสัตว์ และ ‘ผู้หญิง’ อยู่บ้านเลี้ยงลูกและขุดเผือกขุดมัน รวมทั้งเก็บพืชผักต่างๆ เอาไว้เป็นอาหาร
ความเชื่อพวกนี้ดำเนินมาจนถึงปัจจุบัน และเป็นฐานความคิดเรื่องการแบ่งงานกันทำของมนุษย์ในยุคหนึ่ง ซึ่งมองว่าการ ‘ล่า’ เป็นบทบาทที่แสดงถึงความเป็นชาย
อย่างไรก็ดี เริ่มมีนักมานุษยวิทยาตั้งคำถามว่า ทั้งหมดอาจเป็นความเชื่อที่ผิด เพราะจริงๆ มนุษย์ยุคโบราณนั้นอาจร่วมกันล่าทั้งชายและหญิงก็ได้
แต่ก่อนจะไปถึงตรงนั้น เราต้องพูดถึง ‘ความเชื่อ’ ที่ว่าผู้ชายมีบทบาทนักล่า และผู้หญิงมีบทบาทขุดเผือกขุดมัน ที่จริงความเชื่อนี้ไม่ได้มาจาก ‘หลักฐานทางโบราณคดี’ จากยุคเป็นหมื่นๆ ปีก่อน แต่มาจากการจดบันทึกของนักมานุษยวิทยาร่วมสมัยไม่เกิน 200 ปีที่เข้าไปศึกษากลุ่มชนที่ยังเข้าป่าล่าสัตว์และหาของป่าอยู่ ซึ่งมันมีการ ‘แบ่งงานตามเพศ’ ในแบบที่ว่ามา
พูดง่ายๆ ความเชื่อพวกนี้มันมาจากการคาดเดาอดีต ของมนุษย์ยุคปัจจุบันที่มีวิถีชีวิตที่ ‘คาดว่า’ คล้ายกับในอดีตเท่านั้น โดยเหตุผลที่ใช้เสริมทฤษฎีนี้มาจากการคำนวณปริมาณสารอาหารที่มนุษย์ต้องการ และก็จะพบว่าจำนวนสัตว์ที่ล่าได้นั้นให้สารอาหารไม่พอกับที่มนุษย์ต้องการแน่ๆ และเมื่อเนื้อสัตว์ไม่ใช่แหล่งพลังงานที่เพียงพอ มนุษย์ในยุคโบราณจึงน่าจะต้องการแหล่งพลังงานอื่น และพลังงานพวกนี้น่าจะได้มาจากทั้งธัญพืช พืชหัว และผลไม้ ซึ่งก็ต้องมีคนคอยเก็บ บนฐานคิดแบบนี้ก็เลยมีการเสนอทฤษฎีว่า มันน่าจะเป็นเรื่องธรรมชาติที่ผู้ชายต้องออกไปล่าสัตว์ ในขณะที่ผู้หญิงก็ไปขุดเผือกมัน เก็บผลไม้ เพราะเทคโนโลยียุคโน้นก็น่าจะมีวิธีนี้เท่านั้นที่ทำให้มนุษย์ได้รับทั้งสารอาหารและพลังงานครบถ้วนแต่แล้วหลักฐานแปลกๆ ก็ปรากฏเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน โดยมีงานวิจัยในปี 2014 เสนอว่า จริงๆ มนุษย์ยุคโบราณกินสิ่งที่เรียกว่า ‘ขี้เพี้ย’ ด้วย โดยหลักฐานมันมีอยู่ที่ฟันของมนุษย์นีแอนเดอร์ทัล (Homo neanderthalensis) ที่ขุดพบแล้วนำมาวิเคราะห์
บางคนอาจงง อะไรคือ ‘ขี้เพี้ย’?
อธิบายสั้นๆ ขี้เพี้ย หรือ digesta คือพืชต่างๆ ที่พวกสัตว์กินพืชกินเข้าไปและย่อยไปบางส่วนแล้ว หรือพูดอีกแบบมันคือ ‘กากอาหารที่อยู่ในส่วนลำไส้ของสัตว์กินพืช’ นั่นเอง
แม้ว่าคนไทยบางภาคจะกินสิ่งพวกนี้เป็นปกติ แต่ ‘ฝรั่ง’ ไม่เคยคิดว่าสิ่งเหล่านี้กินได้ มันเลยไม่ได้อยู่ในโมเดลอาหารของมนุษย์โบราณที่เขาคาดการณ์และเสนอทฤษฎีกันมา หรือพูดง่ายๆ คือนักวิจัยฝั่งตะวันตกใช้ ‘อคติด้านอาหารของคนสมัยใหม่’ ย้อนกลับไปมอง ‘อาหารของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์’ แบบผิดๆ
พอมีหลักฐานใหม่มา คนที่ศึกษาเรื่องนี้ก็เริ่มคำนวณและทบทวนทฤษฎีใหม่
ถ้าอธิบายง่ายๆ ก็คือ เขาคำนวณแล้วว่าเวลามนุษย์ยุคโบราณล่าสัตว์กินพืชมาได้ในตอนที่สัตว์เพิ่งกินอิ่ม แล้วคนยุคนั้นกิน ‘ขี้เพี้ย’ ที่อยู่ในท้องของมันไปด้วย คนก็จะได้รับสารอาหารเพียงพอ ไม่ต้องไปขุดเผือกมันหรือไปหาผลไม้เพิ่มให้ยุ่งยากการค้นพบนี้จึงเปลี่ยนทุกอย่าง และทำให้เห็นความเป็นไปได้ว่าจริงๆ บทบาทของผู้หญิงอาจไม่ใช่ขุดหัวมันและหาผลไม้อย่างที่คิดกัน แต่บทบาทของพวกเธออาจจะเป็นการไปช่วยผู้ชายล่าสัตว์นี่แหละ เพราะมันสมเหตุสมผลกว่าที่จะเพิ่มคนล่า
ลองคิดย้อนไป เราก็จะพบ ‘ข้อผิดพลาด’ ในการคิดถึงพฤติกรรมของมนุษย์ยุคก่อนประวัติศาสตร์ โดยเทียบกับสังคมล่าสัตว์และหาของป่าในปัจจุบัน
ข้อผิดพลาดที่ว่าคือ ‘ปริมาณสัตว์’ เพราะจริงๆ ทฤษฎีที่ว่า ‘ทำไมมนุษย์ถึงเริ่มทำการเกษตร’ ค่อนข้างชัดว่าเป็นเพราะปริมาณสัตว์มันลดลง มนุษย์เริ่มล่าไม่ได้ สุดท้ายมนุษย์ก็เลยต้องหันมาปลูกพืชผักกินแทน เพราะมันเป็นการใช้แรงงานที่สมเหตุสมผลกับการอยู่รอดมากกว่า
แต่ถ้าคิดแบบนี้ อีกด้านก็หมายความว่าในยุคก่อนมนุษย์จะเริ่มทำการเกษตร จะต้องมีสัตว์มากมายเหลือเฟือมากๆ ดังนั้นโอกาสในการออกล่าสัตว์และได้สัตว์กลับบ้านมาในยุคก่อนการทำการเกษตร มันจึงเป็นสิ่งที่น่าจะง่ายกว่าสมัยนี้แน่ๆ และถ้าหากการล่าสัตว์ในยุคนั้นยังเป็นเรื่องง่าย มนุษย์ก็เลือกที่จะล่าสัตว์ เพราะมันได้สารอาหารมากกว่าการกินพืชแน่ๆ และวิธีที่จะทำเพิ่มโอกาสในการล่าสัตว์ให้สำเร็จก็คือต้องมีคนช่วยกันล่าเยอะๆ และในแง่นี้การที่ผู้ชายและผู้หญิง ‘ยกกันไปทั้งเผ่า’ เพื่อล่าสัตว์ มันก็เป็นสิ่งที่สมเหตุสมผลมากกว่าการให้ผู้หญิงรออยู่ที่แคมป์ และผู้ชายออกไปล่า
ถ้าไอเดียนี้เป็นจริง เราต้องมองประวัติศาสตร์ของมนุษย์ก่อนประวัติศาสตร์กันใหม่แทบทั้งหมดเลย และมันน่าสนใจมากๆ ถ้าจะมีการศึกษาต่อและเจอหลักฐานที่สนับสนุนทฤษฎีนี้เพิ่มและนี่ก็เป็นเหตุผลว่าทำไมแค่การไปเจอว่า ‘มนุษย์โบราณกินขี้เพี้ย’ มันถึงสะเทือนถึงประวัติศาสตร์ของเผ่าพันธุ์มนุษย์ได้อย่างที่ว่ามา
อ้างอิง
- The Conversation. ‘Man, the hunter’? Archaeologists’ assumptions about gender roles in past humans ignore an icky but potentially crucial part of original ‘paleo diet’. https://tinyurl.com/2auckhtp