มนุษย์เป็นสิ่งมีชีวิต และสิ่งมีชีวิตก็ต้อง “กินข้าว”
ซึ่งอาหารการกินของมนุษย์ทุกวันนี้ต่างจากสิ่งมีชีวิตอื่นๆ เพราะถูกหล่อหลอมมาด้วย “วัฒนธรรม” ในแต่ละท้องที่
ดังนั้น มนุษย์ในแต่ละสังคมจึงมีมุมมองต่อของอร่อยและไม่อร่อยที่แตกต่างกัน
ในแง่นี้มนุษย์จึงเป็นสิ่งมีชีวิตที่ “เลือกกิน” ยิ่งกว่าสิ่งมีชีวิตใดในโลก
อย่างไรก็ดี ไม่ใช่มนุษย์ทุกคนจะ “เลือกกิน” ได้ทั้งหมด
คนที่มีฐานะดีอาจจะ “เลือกกิน” ได้มากหน่อย เช่น นั่งไถแอปสั่งอาหารผ่านไปครึ่งชั่วโมงก็ “ไม่รู้จะกินอะไร”
ส่วนคนที่ฐานะไม่ดี ทางเลือกก็อาจจะมีแค่กินข้าวคลุกกับน้ำพริกน้ำปลา
แต่รู้หรือไม่ว่า มนุษย์ผู้ยากจนข้นแค้นในสังคมโบราณ มีอาหารการกินที่แย่กว่านั้นเยอะ นั่นคือ “กินดิน”
การกินดิน หรือที่ศัพท์เทคนิคเรียกว่า Geophagy มีประวัติความเป็นมาเก่าแก่ยาวนาน
เบื้องแรก บันทึกและหลักฐานทางโบราณคดีระบุชัดเจนว่า สัตว์ตระกูลวานรไปจนถึงบรรพบุรุษของมนุษย์นั้นมีการ “กินดิน” กัน
ดังนั้นการกินดินไม่ใช่เรื่องแปลก เพราะเป็นพฤติกรรมที่สืบต่อมาแต่อดีต
ในสมัยโรมันโบราณก็มีการบันทึกเรื่องการ “กินดิน” เมื่อคนยุโรปเดินทางไปรอบโลกและ “ช็อก” กับวิถีชีวิตแบบแปลกๆ ของคนพื้นเมือง หนึ่งในนั้นคือการกิน “ดิน”
พฤติกรรมดังกล่าวมีให้เห็นตั้งแต่ในชนพื้นเมืองอเมริกาใต้ถึงแอฟริกา เช่น พวกทาสชาวแอฟริกา ที่ถูกส่งไปอเมริกา เวลาไม่มีอะไรกินจริงๆ ก็ “กินดิน” กัน เพราะพวกเขาถือว่าดินเป็นสิ่งที่กินได้ (ถ้าไม่มีอะไรกินจริงๆ)
อ่านมาถึงตรงนี้ บางคนอาจตั้งข้อสงสัย “กินดิน” เข้าไป ไม่ตายเหรอ?
ก่อนอื่นต้องอธิบายว่า การ “กินดิน” นั้นไม่ได้หมายถึงกินดินอะไรก็ได้ แต่เป็นดินบางประเภทที่คนในท้องถิ่นจะรู้ว่าดินนั้นพอกินได้
ถ้ามองด้วยแว่นตาวิทยาศาสตร์ การกินดินก็คือการกินแร่ธาตุที่จำเป็นต่อร่างกายโดยตรง โดยไม่ผ่านพืชที่ปลูกในดินนั้น
และนี่ก็อาจเป็นเหตุผลให้คนในอดีต “กินดิน” และอาจเป็นส่วนหนึ่งที่ภูมิปัญญาพื้นบ้านในหลายท้องถิ่นแนะนำให้ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์ “กินดิน” เพราะพวกเธอต้องการแร่ธาตุต่างๆ มากกว่าคนปกติ
อย่างไรก็ดี อีกด้านหนึ่ง ดินก็ไม่ได้มีแค่ “ของมีประโยชน์” เท่านั้น แต่ยังมีจุลินทรีย์อันตราย จนถึงปรสิตสารพัด
ซึ่งคนที่กินดินก็มักจะกินดิบๆ ไม่ได้ปรุงสุก ดังนั้นจึงเสี่ยงต่อการติดเชื้อโรคและปรสิต และการกินมากไป อาจส่งผลกระทบต่อระบบทางเดินอาหารได้
ดังนั้นนักวิทยาศาสตร์จึงไม่แนะนำให้ “กินดิน” อย่างสิ้นเชิง
กระทั่งปี 2008 การกินดินกลายเป็นประเด็นใหญ่ เมื่อสื่อรายงานว่า คนที่จนมากๆ ในเฮติ กิน “คุกกี้ดิน” ที่ทำจากดินผสมกับน้ำมันพืชและเกลือ แล้วเอามาตากแห้ง และขายกันชิ้นละไม่ถึง 2 บาท
คนทั่วไปอาจรู้สึกประหลาดใจ แต่ความจริงแล้ว นี่เป็นพฤติกรรมที่ยังพบได้ในแถบชุมชนยากจนในแอฟริกาตอนใต้ เช่นเดียวกับเฮติ
เรื่องการกินดินของคนจนในเฮติ ก็เหมือนกับเรื่องอื่นๆ ในภูมิภาคนี้ โลกไม่ได้อยากรู้และใส่ใจ และไม่ได้นำเสนอภาพคนที่ “จนสุดๆ” ในโลก ว่าเขามีความเป็นอยู่กันอย่างไร
แต่หากจะมองในแง่ดี ก็จะเห็นว่าพฤติกรรม “กินดิน” นั้นแทบไม่หลงเหลืออยู่แล้วในโลก ซึ่งน่าจะเป็นตัวบ่งชี้ว่า โลกทุกวันนี้ ไม่ว่าใครจะรู้สึกว่ามันแย่ขนาดไหน โลกก็ยังดีกว่าในยุคก่อนๆ อย่างมหาศาล
เพราะ “คนจน” ไม่ต้อง “กินดิน” เป็นปกติอย่างในอดีตอีกแล้ว
ถึงตรงนี้ เราอาจต้องขอบคุณการพัฒนาเทคโนโลยีทางการเกษตรที่เกิดขึ้นในช่วง 100 ปีที่ผ่านมา ที่ช่วยเพิ่มผลผลิตทางการเกษตรในโลกอย่างมหาศาล
แม้การพัฒนาดังกล่าว จะสนับสนุกการปลูกพืชเชิงเดี่ยวแบบ “ใช้สารเคมี” ที่ไม่เป็นธรรมชาติ และทำลายสมดุลธรรมชาติในระยะยาว
แต่เราก็ปฏิเสธไม่ได้เช่นกันว่า สิ่งเหล่านี้ทำให้มนุษย์ทั่วโลกมีอาหารการกินเพิ่มขึ้นมหาศาล
จนแทบไม่เหลือคนจนที่ยากจนข้นแค้นจนต้อง “กินดิน” ดังเช่นในอดีตที่ผ่านมา
อ้างอิง: