รู้ไหม? จอมพล ป. เคย ‘ง้อ’ ปรีดี

3 Min
1021 Views
21 Oct 2021

Select Paragraph To Read

  • จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ปรีดี พนมยงค์
  • ละเอียดเล่า
  • พูนศุขเล่า
  • #เรื่องเล่าเมียคณะราษฎร

จอมพล ป. พิบูลสงคราม และ ปรีดี พนมยงค์

ใครที่พอรู้จักเกี่ยวกับ ‘ปฏิวัติ 2475’ มาบ้างย่อมรู้ว่า สองชื่อนี้เป็นชื่อที่สำคัญอย่างยิ่งยวดในหน้าประวัติศาสตร์การปฏิวัติไทย

ทั้งคู่เป็นหนึ่งในกลุ่มนักเรียนดีเด่นที่ได้ไปศึกษาต่อที่ฝรั่งเศส ณ ขณะนั้น จอมพล ป. ยังเป็นเพียง ‘ร.ท. แปลก ขีตตะสังคะ’ ที่ได้มาเจอกับปรีดี พนมยงค์ และเพื่อนคนอื่นๆ ที่มีความตั้งมั่นคล้ายกัน จนได้กลายเป็นเพื่อนร่วมอุดมการณ์เสี่ยงชีวิต แล้วเปลี่ยนแปลงการปกครองใน พ.ศ. 2475 อย่างที่เราๆ ทราบกัน

แต่บางครา มิตรภาพก็ไม่ได้เป็นสิ่งที่มั่นคงถาวรตลอดไป หากชีวิตเราเคยทะเลาะกับเพื่อนเพราะคิดไม่ตรงกันฉันใด จอมพล ป. กับปรีดีย่อมไม่ต่างกัน มิตรภาพของทั้งสองคนเรียกได้ว่า ขึ้นๆ ลงๆ ไปตามแต่เกมการเมืองในช่วงเวลาต่างๆ

แต่หากจะมีใครรู้เรื่องของเพื่อนรักเพื่อนชังคู่นี้ได้ในระดับ ‘วงใน’ จนสามารถออกมาเล่าเรื่องลับๆ หลังม่านปฏิวัติได้ คนเหล่านั้นก็คงเป็น ‘เมีย’ ของทั้งคู่

และนี่คือเรื่องราวของ จอมพล ป. กับปรีดี ฉบับเมียเล่าในบางส่วน ซึ่งทำให้เราเห็นอีกแง่มุมของมิตรภาพเดี๋ยวหวานเดี๋ยวขมของทั้งคู่

ละเอียดเล่า

‘ละเอียด พิบูลสงคราม’ ภรรยาของจอมพล ป. พิบูลสงคราม และเป็นหนึ่งในภรรยาคณะราษฎรที่ทรงอิทธิพลมากที่สุด เธอคือผู้สร้างมรดกอะไรหลายๆ อย่างให้แก่คนรุ่นหลัง เช่น การกำหนดให้ ‘ดอกมะลิ’ เป็นสัญลักษณ์ของ ‘วันแม่’ อันเป็นดอกไม้ที่สามีเธอโปรดปราน รวมถึงผลักดันกฎหมายสิทธิสตรีต่างๆ ขึ้นมา

ภายใต้กระแสความขัดแย้งระหว่างปรีดี พนมยงค์ กับจอมพล ป. ที่เกิดจากปมเรื่องขบวนการเสรีไทย เหตุการณ์กบฏวังหลวง และกบฏสันติภาพ มีข่าวออกมาว่าทั้งคู่อยากสมานความสัมพันธ์กันทั้งช่วงก่อนและหลังรัฐประหาร 2500

ซึ่งละเอียดก็ยืนยันเรื่องนั้น

ละเอียดได้บันทึกในช่วงที่สามีของเธอเสียชีวิตไปแล้วว่า เคยได้ยินสามีพูดให้ฟังอยู่เสมอๆ ว่า หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ยุติลง ผู้ที่เหมาะสมจะเป็นนายกรัฐมนตรีคือ ปรีดี เพราะเป็นหัวหน้าขบวนการเสรีไทย

และในช่วงบั้นปลายชีวิตของเธอหลังจากจอมพล ป. เสียชีวิตไปแล้ว เธอก็ได้แสดงความเป็นมิตรกับปรีดีและภรรยาของเขา ด้วยการแวะไปหาทั้งคู่ที่บ้านพักในฝรั่งเศสระหว่างเที่ยวยุโรป และนำ ‘ทุเรียน’ ไปฝาก แม้นั่นจะเป็นผลไม้ต้องห้ามของสายการบิน

พูนศุขเล่า

‘พูนศุข พนมยงค์’ ภรรยาของปรีดี พนมยงค์ ในช่วงบั้นปลายชีวิตหลังสามีเสีย เธอได้ให้สัมภาษณ์กับนิตยสารสารคดี ใน พ.ศ. 2543 ว่า เมื่อคราวจอมพล ป. ตกเป็นอาชญากรสงครามหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 สิ้นสุดลง สามีของเธอเป็นผู้สำเร็จราชการ ได้ช่วยเหลือจอมพล ป. ด้วยการตั้งศาลอาชญากรสงครามในประเทศ และใช้เทคนิคทางกฎหมายให้แปลกและคณะได้รับการปล่อยตัว เพราะเห็นว่าเป็นเพื่อนกัน เคยร่วมอภิวัฒน์มาด้วยกัน

อ้างอิงจากคำให้สัมภาษณ์ของเธอ นอกจากสามีเธอจะเป็นผู้บริสุทธิ์ในคดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 แล้ว จอมพล ป. เองก็ต้องการจะคืนดีกับสามีเธอในช่วงก่อนการรัฐประหาร 2500 ด้วยการส่งคนมาติดต่อปรีดีว่าจะรื้อฟื้นคดีลอบปลงพระชนม์รัชกาลที่ 8 ขึ้นใหม่ หากแต่กระบวนการถูกหยุดชะงักเพราะ ‘สฤษดิ์ ธนะรัชต์’ ทำการรัฐประหารเสียก่อน

รวมถึงต่อมาในบั้นปลายชีวิตของแปลกที่ญี่ปุ่น พูนศุขเล่าว่า จอมพล ป. เขียนการ์ด ส.ค.ส ส่งมาให้ปรีดีเป็นภาษาอังกฤษมาว่า “Please อโหสิกรรม” อีกด้วย

จะพูดว่า จอมพล ป. พยายาม ‘ง้อ’ ปรีดี ก็ไม่ได้ดูเกินจริงไปนัก

#เรื่องเล่าเมียคณะราษฎร

แต่บทบาทของภรรยาคณะราษฎรไม่ได้จบแค่ที่การ ‘เล่าเรื่อง’ เพราะจริงๆ แล้ว พวกเธอมีอิทธิพลและมีความสำคัญต่อประวัติศาสตร์การปฏิวัติ 2475 มากกว่าที่ใครหลายๆ คนรู้

เรื่องเล่าเกี่ยวกับ ‘จอมพล ป.-ปรีดี’ ไม่ใช่สิ่งที่ ‘พีค’ ที่สุด ที่พวกเธอเก็บไว้ในคลังจากช่วงเวลาที่พวกเธออยู่เคียงข้างสามีและการปฏิวัติ

ยังมีเรื่องลับๆ จาก ‘หลังบ้าน’ อีกมากมายรอการค้นพบและถูกเล่า

LOCALRY จึงขอเชิญชวนทุกท่านมารู้จักการปฏิวัติ 2475 อีกครั้งผ่านสายตา ‘เมีย’ ของเหล่าคณะราษฎรในรายการ LOCALTALK&TELL ที่มาพร้อมกับคำถาม “เมียคณะราษฎร มีอำนาจมากแค่ไหน? ” เฉลยและเล่าโดยคุณ ‘ชานันท์ ยอดหงษ์’ ผู้เขียนหนังสือ ‘หลังบ้านคณะราษฎร’

มาฟังเรื่อง ผัวๆ เมียๆ ฉบับคณะราษฎรทางเพจ LOCALRY และทางยูทูบ Brandthink ในวันที่ 20 ตุลาคมนี้ เวลา 19.00 น.

บอกได้เลยว่า “อย่าพลาด”

อ้างอิง

  • ชานันท์ ยอดหงษ์. หลังบ้านคณะราษฎร : ความรัก ปฏิวัติ และการต่อสู้ของผู้หญิง. กรุงเทพฯ : มติชน 2564