ยินดีรับเด็กจบใหม่ *มีประสบการณ์* เรื่องหัวจะปวดของเด็กจบใหม่ เพิ่งจบมาจะมีประสบการณ์ได้ไง มาเฉลยให้เข้าใจจากปากทีม JobThai .

5 Min
2617 Views
06 May 2022

เคยไหม ยิ้มรับคำว่า ‘ยินดีรับเด็กจบใหม่’ ไม่ทันไร ก็ต้องขมวดคิ้วกับประโยคพ่วงต่อท้ายว่า ‘ประสบการณ์ขั้นต่ำ 1-2 ปี’
.
เด็กจบใหม่ กับ ประสบการณ์ สองคำนี้เป็นคำที่ห้ำหั่นกันมานานในสนามการหางานยุคใหม่ บ้างถกเถียงว่าเด็กจบใหม่จะไปมีประสบการณ์ได้อย่างไร ลุกลามเป็นวาทกรรมถกเถียงล้อเลียนไปทั่วในหมู่บรรดาคนถือใบปริญญาป้ายแดง
.
แต่ในความสับสนนั้นมี ‘ความจริง’ ที่รอให้เข้าใจ และจะมีใครที่จะเข้าใจประกาศหางานมากไปกว่าคนหาพนักงานเข้าบริษัท หรือที่เรารู้จักพวกเขาในตำแหน่ง ‘HR’ ที่ย่อมาจาก Human Resouces หรือตำแหน่งบริหารทรัพยากรบุคคล

ถึงเวลาของการเลิกงง วันนี้ทีมบริหารทรัพยากรบุคคลจาก JobThai เว็บไซต์หางานอันดับต้นๆ ของเมืองไทย จะมาช่วยปัดเป่าอาการหัวจะปวดของเด็กจบใหม่ที่มีต่อประโยค ‘ยินดีรับเด็กจบใหม่ มีประสบการณ์’ เฉลยให้เข้าใจว่าแท้จริงแล้วนายจ้างต้องการอะไร เพื่อให้บัณฑิตป้ายแดงรู้ทางมุ่งไปหางานอย่างถูกต้อง

ถึงเวลายิ้มรับประโยค ‘ยินดีรับเด็กจบใหม่ (แต่มีประสบการณ์)’ แล้ว!

เมื่อกล่าวถึงประกาศรับสมัครงานสมัยนี้ที่หลายๆ ที่มีการระบุ ยินดีรับเด็กจบใหม่แต่ – มีประสบการณ์ ทีม HR จาก JobThai รับรู้ถึงกระแสล้อเลียน มุกตลกต่างๆ ที่เกิดขึ้นในบรรดาเด็กจบใหม่

“คำว่า ประสบการณ์ บางคนอาจเอามาเป็นมุกตลกว่า ยินดีรับเด็กจบใหม่ มีประสบการณ์ แต่เราเป็นเด็กจบใหม่แล้วจะมีประสบการณ์ได้ไง คำว่า มีประสบการณ์ เราต้องตีความให้แตก คำว่ามีประสบการณ์มันไม่จำเป็นต้องเคยทำงานในออฟฟิศอย่างเดียว ประสบการณ์มีอีกเยอะมากๆ เลย เห็นได้ชัดก็คือการ ‘ฝึกงาน’ พอเราได้มีโอกาสเข้าไปฝึกงาน เข้าไปอยู่ในองค์กร ได้ฝึกทักษะต่างๆ ที่เราเรียนมาจริงๆ หรือการทำงาน ‘ประกวด’ ก็เป็นประสบการณ์อีกอย่างหนึ่ง สิ่งที่มันแฝงอยู่ในประสบการณ์คือทักษะที่เราจะเอาไปใช้ทำงานตรงนั้นมากกว่า”

ทีม JobThai อธิบายว่า การออกไปทำกิจกรรมต่างๆ นั้นล้วนแล้วแต่เป็นการฝึกทักษะที่สามารถถูกแปลเป็นประสบการณ์เลอค่า ซึ่งเด็กจบใหม่สามารถนำเอาไปประดับใบสมัครงานได้ ทั้งกิจกรรมที่เคยทำระหว่างการเรียน การแข่งขัน งานฟรีแลนซ์ พารท์ไทม์ต่างๆ กระทั่งสิ่งที่บัณฑิตทั้งหลายเคยทำในวิชาเรียน ทั้งหมดล้วนแต่เป็นประสบการณ์ได้เหมือนกัน

อีกทั้งทีม JobThai แนะนำว่าอย่าละเลย ‘งานอดิเรก’ เพราะมันอาจกลายเป็นโรงงานผลิตทักษะน่าจ้างที่องค์กรต้องการได้เหมือนกัน

“สำหรับอาชีพสายคอนเทนต์ น้องบางคนอาจทำยูทูบเบอร์ ทำติ๊กต็อก รีวิวคาเฟ่อยู่แล้ว พวกนี้เป็นงานอดิเรกก็จริง แต่มันก็มีวิธีการคิด ขั้นตอนการวางแผน รวมถึงเครื่องมือต่างๆ ที่ใช้งาน ซึ่งพอเอามาทำงานในตำแหน่งคอนเทนต์จริงๆ เครื่องมือที่เอามาใช้มันก็ใช้เหมือนกัน เพราะฉะนั้น น้องก็พูดได้เลยว่าน้องมีทักษะนะ มีประสบการณ์ในการทำงานคอนเทนต์ของตัวเองมาก่อน”

ทีม JobThai แนะนำว่าอย่าละเลยคอร์สการเรียนต่างๆ ในสมัยนี้ที่ช่วยให้บัณฑิตหน้าใหม่ได้ใบรับรองการันตีการสรรหาความรู้ เพราะท้ายที่สุด มันก็อาจช่วยทำให้เด็กจบใหม่คนหนึ่งโดดเด่นขึ้นมาได้จากการสมัครงาน

“พวกใบรับรองต่างๆ ก็ดี ทุกวันนี้มันมีคอร์สการเรียนต่างๆ ที่ช่วยให้เราได้ใบรับรองมา พวกกูเกิลอะไรแบบนี้ มันก็ช่วยให้เราโดดเด่น เตะตาขึ้นมาได้ เพราะมันแสดงให้เห็นว่า เฮ้ย เราเป็นคนที่ขวนขวายหาความรู้นะ เวลาเทคโนโลยีอะไรมาใหม่ๆ เราก็ไปเรียนเพื่อให้รู้ว่าเครื่องมือนี้ใช้งานยังไง ตรงนี้ก็เป็นจุดพิเศษของเราขึ้นมาได้เหมือนกัน”

เรื่องปัญหาหัวจะปวดของประกาศสมัครงานที่อาจดูย้อนแย้งในบางที ทางทีม JobThai อยากแนะนำเด็กจบใหม่ว่า ขอให้ตั้งใจดูประกาศงานแล้วจับใจความให้ดีๆ ก่อนเป็นอันดับแรก

“บางทีองค์กรเขาจะลงแบบ ‘ต้องการคนที่มีประสบการณ์ 1-2 ปี แต่ยินดีรับเด็กจบใหม่’ พอเด็กจบใหม่อ่านจบก็อาจจะงง มันหมายความว่าอะไร? – คือเขาหมายความว่า ถ้ามีประสบการณ์ 1-2 ปีมามันก็ดี แต่ก็เปิดโอกาสให้เด็กจบใหม่สมัครงานนะ ถ้าคุณสนใจคุณก็สมัครงานได้”

ซึ่งทางทีม JobThai อธิบายเพิ่มเติมว่า ในประกาศรับสมัครงานในส่วนของระยะเวลาขั้นต่ำของประสบการณ์ จริงๆ แล้วเด็กจบใหม่สามารถก้าวข้ามรั้วกั้นตรงนั้น แล้วเปลี่ยนไปสนใจเรื่องของทักษะส่วนตัว ว่าตนเองสามารถทำได้ตามที่องค์กรต้องการได้มากแค่ไหนก่อนก็ได้

“เพราะฉะนั้นจริงๆ แล้ว ถ้าเราอ่านประกาศแล้ว ข้ามตรง 1-2 ปีไปก่อนนะ แล้วไปดูว่าในคุณสมบัติที่เขาต้องการ หรือทักษะที่เขาต้องการ ถ้าเรามีอยู่ 60-70 เปอร์เซ็นต์แล้ว ก็ลองสมัครงานตำแหน่งนั้นดู แต่ว่าก็ต้องพยายามขายตัวเองให้มากขึ้นว่าเราก็มีทักษะต่างๆ ที่องค์กรกำลังมองหา ถึงแม้ว่าเราจะเป็นเด็กจบใหม่ ไม่ใช่ว่ามีเรซูเม่อันหนึ่งแล้วก็ส่งไปเลย ไม่ได้ปรับเปลี่ยนหรือเขียนให้มันขายตัวเอง”

ซึ่งทีม JobThai อธิบายเพิ่มเติมว่า ในแต่ละองค์กรเองก็อาจมีโจทย์แตกต่างกันออกไป บางทีเงื่อนไขก็อยู่ที่ตำแหน่งงาน เช่น ทักษะการคุมทีม ประสบการณ์ 1-2 ปีก็อาจจะเป็นเรื่องจำเป็น หรือในบางทักษะที่ต้องมีใบรับรอง (certificate) หรือในบางทักษะที่ไม่ใช่งานระดับเพิ่งเริ่ม ระยะเวลาประสบการณ์จึงเป็นสิ่งที่ต้องมีในบางครั้ง

แต่ทางทีม JobThai ก็ขอกล่าวแก่บรรดาเด็กจบใหม่ทั้งหลายว่า “อย่าเพิ่งปิดโอกาสตัวเอง” เพราะบางทีถ้าความตั้งใจมันเข้าตา พร้อมด้วยการมีทักษะที่ตรงใจ บางทีทาง HR ก็อาจสร้างข้อยกเว้นขึ้นมาให้กับเด็กจบใหม่ได้เหมือนกัน

“บางทีน้องจบใหม่อาจรู้สึกหวาดกลัว ประหม่า กังวล ด้วยความที่เราเป็นคนไม่มีประสบการณ์ เราก็ต้องหาจุดยืนตัวเอง หาจุดเด่น แล้วหยิบมันไปใช้ทั้งสองขั้นตอน ทั้งการสมัครและการสัมภาษณ์ โดยที่อย่าหลอก ต้องจริงใจกับตัวเอง ตัวเองอยากทำอาชีพอะไร ชอบอะไร แล้วเราจะมีความสุขกับมัน”

ปฏิเสธไม่ได้ว่า 1-2 ปีที่ผ่านมา หนึ่งในเงื่อนไขสำคัญที่เข้ามาสร้างความลำบากใจให้ทั้งเด็กจบใหม่และนายจ้าง คือปัญหาการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 ที่อาจมาจำกัดทั้งโอกาสของเด็กจบใหม่ หรือบางครั้งก็มีส่วนลามไปจำกัดความใจกว้างของนายจ้างลง แต่ในท่ามกลางวิกฤตที่โอกาสอาจดูริบหรี่ ทางทีม JobThai อยากให้บัณฑิตหน้าใหม่ทั้งหลายลองพยายามเปิดประตูบานใหม่ๆ ให้กับตัวเอง

“นอกเหนือจากที่มหา’ลัยบอกให้เราไปหลายๆ ที่ หลายๆ บริษัทเองยังเปิดรับเด็กฝึกงานนะ แล้วเราก็อาจจะต้องเอาตัวเองเข้าไปอยู่ตรงนั้น ทั้งหมดทั้งมวลน้องต้องเข้าใจตัวเองก่อน ว่าสิ่งที่น้องต้องการหลังจากนี้คืออะไร ถ้าตอนนี้ทางมหาวิทยาลัยไม่ได้บังคับให้ฝึกงาน น้องจะทำไงต่อ น้องจะไม่ฝึกงานไหม แต่ถ้าเกิดน้องรู้แล้วตั้งเป้าว่ายังไงเราก็ต้องทำงาน น้องก็ต้องหาโอกาสเข้าสู่โลกของการทำงานให้ได้ ลองฝึกงาน ลองเป็นฟรีแลนซ์ ลองสร้างอะไรเป็นของตัวเองดู บางงานเราไม่จำเป็นต้องรอให้ใครมาจ้างเรา เราสามารถทำได้เอง”

ทีม JobThai เน้นย้ำว่า การขวนขวายหาความรู้เป็นเรื่องสำคัญของโลกการหางานสมัยใหม่ ที่เทคโนโลยีต่างๆ พัฒนาไปอย่างว่องไว ของเก่าไป ของใหม่มา ดังนั้น การพัฒนาตัวเองอยู่เสมอผ่านการลองผิดลองถูกจะช่วยให้เด็กจบใหม่ได้มีโอกาสเฉิดฉายมากขึ้น จนอาจนำไปสู่ทางสว่างและโอกาสงานมากมาย

“น้องจบใหม่ที่ไม่ได้มีงานไม่ได้มีอะไร การศึกษาและการเรียนรู้ที่ดีที่สุดคือการได้ ‘ลองทำ’ ไปเลย”

สุดท้ายนี้ แม้ตำแหน่ง HR อาจจะดูเป็นพี่ๆ ใจหินที่คัดคนมาสมัครงานอย่างโชกโชน แต่ทางทีม JobThai ก็กล่าวว่า พวกเขาก็เข้าใจเด็กจบใหม่ ในฐานะที่หนหนึ่งในชีวิตก็เคยรับบทถือใบปริญญาป้ายแดงไม่ต่างกัน

“พวกพี่ก็เคยเป็นเด็กจบใหม่ที่ไม่มีประสบการณ์มาก่อนเหมือนกัน จริงๆ ก็เข้าใจว่า การเริ่มต้นอะไรบางอย่างมันยาก การที่น้องซึ่งเรียนมาตลอดชีวิตแล้วต้องก้าวเข้าไปสู่โลกการทำงาน โลกมันพลิกจริงๆ จากที่เป็นเด็กที่ไม่ต้องคิดอะไรมาก มันกลายเป็นคนที่ต้องเข้าสู่โลกการทำงานแล้วต้องคิดเยอะ มันเป็นการแข่งขันที่ดูยาก ดูลำบาก”

ทางทีม JobThai อยากฝากข้อคิดสำคัญให้แก่บรรดาเด็กจบใหม่ทั้งหลายเข้าใจว่า การเรียนรู้ในสิ่งที่ตัวเองผิดพลาด แปรเปลี่ยนความผิดหวังให้เป็นความเข้าใจว่าตัวเองจะพัฒนาเปลี่ยนแปลงตัวเองให้ดีขึ้นอย่างไรบ้าง เป็นสิ่งที่จะทำให้เด็กจบใหม่ทั้งหลายก้าวต่อไปข้างหน้าได้

“ไม่อยากให้น้องมาบั่นทอนกำลังใจตัวเอง พอไปสัมภาษณ์งานแล้วไม่ผ่าน แล้วต้องกลับมานั่งนอยด์ว่าเราไม่เก่ง เราไม่ดี แต่อยากให้เอาข้อผิดพลาดนั้นกลับมานั่งคิด แล้วแก้ไขตรงนั้น แล้วก็พยายามที่จะแก้ไขจุดที่ผิดพลาด แล้วก็ลองใหม่อีกครั้งดีกว่า”

ทางทีม JobThai ก็ขอฝากบทเรียนแก่เด็กจบใหม่ทั้งหลายไว้ว่า การรู้ใจตัวเองเป็นเรื่องสำคัญ

“ขอให้ศึกษาตัวเอง ทำความเข้าใจกับตัวเองให้เร็วที่สุดว่าตัวเองต้องการทำอะไร แล้วก็มุ่งหน้าทำสิ่งนั้นต่อไป ตั้งใจทำไปเรื่อยๆ เพราะถ้าเกิดเรายอมแพ้ มันก็คือเราแพ้เลย กลับไปตั้งใจ อ่านประกาศงานให้ดีๆ แล้วลองดูว่าสิ่งที่เราต้องการทำกับสิ่งที่เรามีตอนนี้ ถ้ามีสัก 50-60 เปอร์เซ็นต์ที่มันไปกันได้ก็ลองดูเลย”