เป็นฟรีแลนซ์กันยังไงดีในยุคปัจจุบัน

3 Min
1256 Views
05 May 2022

การเรียนจบใหม่อาจจะเป็นเรื่องดี แต่ชีวิตต่อจากนี้อาจจะไม่ใช่เรื่องราวที่น่ายินดีเสมอไป เพราะหนทางที่รออยู่ข้างหน้านี่ก็หฤโหดสุดๆ สถิติทำนอง ‘เด็กจบใหม่ 80 เปอร์เซ็นต์ หางานไม่ได้’ โผล่มาตลอดเวลา และถามว่าทำไมมันลำบากนักหนา คำตอบก็คือ เพราะ ‘บริษัทสมัยนี้’ ชอบเรียกร้องคุณสมบัติเด็กจบใหม่แบบยอดมนุษย์ แต่ให้เงินเดือนระดับต่ำเตี้ยเรี่ยดิน ซึ่งก็ไม่มีใครอยากทำ

แต่ถามว่า ‘งาน’ น่ะมีไหม? คำตอบคือมี เยอะด้วย และจริงๆ งานไม่น้อย ‘จ่ายดี’ ทีเดียว แต่นั่นคือเราอาจต้องไปต่อสู้กับแรงงานระดับอื่นใน ‘ตลาดฟรีแลนซ์’ และจริงๆ นี่เป็น ‘สายงาน’ ที่ ‘เด็กจบใหม่จำนวนมากน่าจะชอบเพราะโดยพื้นฐานมัน ‘ผลตอบแทนดี’ มากๆ เพราะตามธรรมชาติ พวกฟรีแลนซ์ที่มีงานเยอะๆ น่าจะได้รับรายได้มากกว่าคนระดับเดียวกันที่เป็นพนักงานเยอะอยู่ อาจเป็นเท่าตัวหรือมากกว่านั้น

และที่สำคัญ ‘ฟรีแลนซ์’ ในมุมของ ‘เด็กจบใหม่’ มันมีความหมายกว่านั้น คือมันเป็นที่ทางที่จะได้ ‘ทดลองทำงาน’ อย่างหลากหลายด้วย และนี่ก็คือที่มาของ ‘ประสบการณ์ทำงาน’ ที่บางบริษัทอยากให้คุณต้องมีในตำแหน่งระดับล่างสุดสำหรับ ‘เด็กจบใหม่’ ด้วยซ้ำ

งานฟรีแลนซ์มีได้หลากหลาย แต่งานระดับเด็กจบใหม่ทั่วๆ ไปก็คงหนีไม่พ้นพวกงานเขียน งานแปลและงานกราฟิกซึ่งเป็นงานที่ตลาดมีความต้องการแรงงานระดับ ‘เด็กจบใหม่’ ตลอด (พวกงานวิจัยและวิเคราะห์ก็มีตลาดฟรีแลนซ์ แต่ทั่วๆ ไปเขาไม่รับ ‘เด็กจบใหม่’)

ซึ่งงานพวกนี้ก็อยากเน้นว่า เราไม่ควรจะเลือกทางใดทางหนึ่ง ควรจะลองทำให้หมด เพราะลักษณะงานมันหลากหลายมากๆ ต้องลองเยอะๆ อาจไปเจอหมวดย่อยที่ถนัด และถ้าเจอลูกค้าที่คลิกกันก็สามารถดีลทำงานต่อกันได้ยาวๆ

ที่มาของงานพวกนี้ก็มีตั้งแต่พวกคอนเน็คชั่น งานตามเว็บหางานทั่วไป (ในหมวดจำพวก ‘งานไม่ประจำ’) ไปจนถึงแพลตฟอร์มระดับอินเตอร์อย่าง Fastwork, Upwork หรือ Fiverr ซึ่งถ้าใครพอได้ภาษาก็อยากแนะนำให้รับงานผ่านช่องทางพวกนี้ เพราะมันได้ประสบการณ์ และผลตอบแทนทั่วๆ ไปจากต่างชาติมันดีกว่าที่จ่ายๆ กันในไทยแน่ๆ ในงานแบบเดียวกัน

นี่คือ ‘จุดเริ่มต้น’ ของชีวิตฟรีแลนซ์ ซึ่งคำถามต่อมาก็คือ แล้วชีวิตแบบนี้มันจะนำพาเราไปไหน?

จริงๆ ปัญหาฟรีแลนซ์มันไม่ใช่ ‘ปัญหา’ แบบ เด็กจบใหม่เลย เพราะเอาจริงๆ เด็กจบใหม่เป็นฟรีแลนซ์ก็มักจะร่ำรวยกว่าคนทำงานตามปกติกัน แต่ปัญหาคืองานฟรีแลนซ์ทั้งหลาย ไม่ว่าจะรายได้ดีแค่ไหน โดยทั่วๆ ไปเรตอาจจะไม่พัฒนา และถ้าอายุถึงจุดหนึ่ง เราจะรู้สึกว่ามันน้อย

ตัวอย่างง่ายๆ คือพวกงานแปลที่ปกติจ่ายเป็นคำหรือเป็นหน้า เขาไม่ดูหรอกว่าคุณอายุเท่าไหร่ คุณทำงานได้คือจบ ซึ่งเรตทั่วๆ ไปสำหรับเด็กจบใหม่คือเยอะมาก เยอะเว่อร์ๆ เลย แต่ลองคิดภาพว่าทำงานนี้มาสัก 10 กว่าปี รู้ตัวอีกทีอายุสัก 30 กลางๆ ยังรายได้เท่าตอนจบใหม่อยู่
แบบนี้มันก็ไม่ไหว ถูกไหมครับ? ดังนั้นมันเลยนำมาสู่ประเด็นต่อมาที่อยากบอกเล่าก็คือประเด็นเรื่องเส้นทางการงานหรือ Career path หรือคุณควรจะมองอนาคตข้างหน้าตัวเองอย่างไรถ้าจบใหม่มาแล้วเป็นฟรีแลนซ์เลย

เวลาเด็กจบใหม่ได้เงินเดือนแบบฟรีแลนซ์จะรู้สึกมันเยอะและทำตัวชิลล์มาก แต่ในความเป็นจริง เราไม่ควรจะชิลล์ เราควรจะขวนขวายทำงานให้หลากหลาย จากบริษัทหลากหลายรูปแบบ เพราะงานพวกนี้มันจะทำให้เราได้สัมผัสกับกลิ่นอายของธุรกิจหลากหลายรูปแบบมากกว่างานแบบปกติ

ซึ่งระหว่างทำงาน เราก็ควรจะเรียนรู้ว่างานแบบไหนเราถนัด ทำเร็วและทำแล้วลูกค้าชอบ หรืองานไหนเราไม่ถนัดเลย ทำช้าและลูกค้าก็เฉยๆ คือเรามีโอกาสได้เรียนรู้มากกว่าคนในสายงานปกติ เราก็ควรจะคว้าโอกาสนี้ไว้และใช้ประโยชน์กับมัน

และถึงจุดหนึ่ง เราก็จะรู้ว่าเราถนัดและอยากทำอะไร และตอนนั้นนี่แหละ ที่เราจะได้ขยับขยายทั้งงานและรายได้ ถ้าเราประสานงานบริหารคนเก่งและหางานได้เยอะมาก เราอาจผันตัวเป็นเอเจนซีกระจายงานให้ ‘เด็กจบใหม่’ และหักเปอร์เซ็นต์ก็ได้ (แน่นอนว่าควรหักอย่างยุติธรรม) หรือถ้าเราเบื่อชีวิตฟรีแลนซ์แล้ว อยากมีรายได้ประจำ เราก็อาจหาบริษัทที่ต้องการตำแหน่งแบบ ‘ฟรีแลนซ์ประจำ’ หรือสมัครเข้าไปเป็นพนักงานก็ได้ ซึ่งเราก็มีภาษีดีแน่ๆ เพราะเรามาพร้อมกับประสบการณ์ทำงานและดีลบางอย่างยาวนาน

ซึ่งงานแบบ ‘ฟรีแลนซ์ประจำ’ ข้อดีคือก็ยังรับงานอื่นๆ ได้อย่างอิสระ และเราอาจเป็น ‘ฟรีแลนซ์ประจำ’ ของหลายเจ้าก็ได้ และเราจะทำได้เพราะเรา ‘ถนัด’ ไงครับ ดังนั้นการพยายามทำงานฟรีแลนซ์ให้หลากหลายในช่วงอายุยังน้อยและหาว่าตัวเองมีความถนัดในทางไหน หรือตัวเองตอบโจทย์อะไรในตลาดแรงงานถึงสำคัญมากๆ

หรือถ้าจะสมัครเป็นพนักงานปกติกับบริษัทที่เราตกลงปลงใจ เราก็อาจไต่ตำแหน่งเข้าไปตามเส้นทางการเติบโตของหน้าที่การงานในบริษัทเลย (ซึ่งตรงนี้ก็ขึ้นกับว่าบริษัทเขาสนับสนุนให้ ‘คนใน’ ขึ้นไปทำงานตำแหน่งบริหารแค่ไหนด้วย หรือจะนิยมสมัคร ‘คนนอก’ มาในตำแหน่งบริหารของบริษัท) ทั้งหมดที่ว่ามานี้ก็เป็นเส้นทางการทำงานแบบหนึ่งที่เป็น ‘ทางเลือก’ ของ ‘เด็กจบใหม่’ ที่หางานไม่ได้ เพราะถ้าพิสูจน์ตัวเองในตลาดงานฟรีแลนซ์จนมีประสบการณ์และฝีมือแล้วจะไปสมัครงานประจำก็ยังไม่สาย

และสุดท้ายก็ดังที่ทราบกันว่า โดยทั่วๆ ไปด้วยราคาสินค้าและบริการทุกวันนี้ ‘เงินเดือนเด็กจบใหม่’ ในภาพรวมมันดูไม่พอใช้กันเท่าไหร่ด้วย ดังนั้นทางเลือกพวกนี้แม้แต่คนมีงานประจำก็สามารถจะเอาไปประยุกต์ใช้เพื่อเพิ่มรายได้ และหาทางขยับขยายการงานในโลกที่ตลาดแรงงานไม่มีความแน่นอนนี้ด้วย