ส่องแนวคิด ‘รัฐช่วยบริษัทออกเงินจ้างเด็กจบใหม่’ แก้ปัญหาไม่ถูกจ้างเพราะประสบการณ์ไม่มี! เวิร์คไหม? หรือไม่เวิร์ค?

6 Min
850 Views
05 May 2022

ในอนาคตอันใกล้นี้ คนเจน Z (Generation Z) หรือคนที่มีอายุไม่เกิน 25 ปีในปี 2022 จะเป็นประชากรราว 27 เปอร์เซ็นต์ของตลาดงานทั่วโลก ซึ่งแม้จะเป็นรองคนยุคมิลเลนเนียล (อายุราว 26-40 ปี) ที่จะเป็น 50 เปอร์เซ็นต์ของแรงงานช่วงปี 2025 แต่สำนักวิจัยหลายแห่งก็ฟันธงตรงกันว่าคนเจน Z นี่แหละที่จะเป็น ‘แรงขับเคลื่อน’ อุตสาหกรรมต่างๆ ที่สำคัญต่อจากนี้เพราะทั่วโลกต้องเข้าสู่ยุคดิจิทัลอย่างเต็มรูปแบบ และตลาดแรงงานต้องการ ‘คนรุ่นใหม่’ ที่มีทักษะเหมาะสมกับสภาพสังคมและเทคโนโลยียุคต่อไป

นี่อาจเป็นเหตุผลหนึ่งที่บริษัทหลายแห่ง รวมถึงหน่วยงานภาครัฐในหลายๆ ประเทศพากันออกนโยบายจูงใจคนรุ่นนี้ให้อยู่ทำงานด้วยกันไปนานๆ

เหตุผลหนึ่งเป็นเพราะแรงจูงใจในการทำงานของคนรุ่นนี้แตกต่างจากคนรุ่นก่อนหน้า โดยคนยุคเบบี้บูมเมอร์ (อายุตั้งแต่ 58 ปีขึ้นไป) รวมไปถึงคนเจน X (Generation X) ที่อายุระหว่าง 42-57 ปี ส่วนใหญ่มองว่า ‘ความซื่อสัตย์ต่อองค์กร’ คือสิ่งสำคัญ และการทำงานที่ใดที่หนึ่งอย่างยาวนานเคยถูกใช้เป็นตัวชี้วัด ‘ความอดทน’ ซึ่งถือเป็นคุณสมบัติของคนทำงานที่ดีในยุคก่อน

แต่สำหรับคนเจน Z ส่วนใหญ่มองว่าการแสวงหางานใหม่ที่ดีกว่าเดิมคือเรื่องปกติ และสิ่งที่จะผูกใจให้พวกเขาทำงานที่ใดที่หนึ่งไปนานๆ อาจไม่ได้เกี่ยวกับเรื่องค่าตอบแทนรายเดือนหรือโบนัสปลายปีเหมือนคนในรุ่นก่อนๆ แต่คนเจนนี้ให้ค่ากับ ‘วัฒนธรรมองค์กรที่ยืดหยุ่น’ คำนึงถึงความสมดุลระหว่างชีวิตส่วนตัวและชีวิตการทำงาน (Work-life balance) รวมถึงการปฏิสัมพันธ์กับเพื่อนร่วมงานไม่จำเป็นต้องเจอกันหรือเห็นหน้าแบบตัวเป็นๆ เพราะคนรุ่นนี้คุ้นเคยกับการสื่อสารผ่านแพลตฟอร์มดิจิทัลมากกว่า

ความต้องการของคนทำงานแบบที่กำลังเกิดขึ้นในยุคนี้อาจจะฟังดูเป็นเรื่องแปลกของคนยุคก่อน แต่ถ้าเปรียบเทียบกับนวัตกรรมที่เกิดขึ้นในยุคหลังๆ ก็มีความพยายามจะลดแรงงานมนุษย์และหันไปใช้เทคโนโลยีตอบโจทย์การทำงานมากขึ้นอยู่แล้ว ซึ่งดูจะเป็นเทรนด์หลักของการจ้างงานในอนาคต

การจ้างงานคนเจน Z มาทำงานในสิ่งที่เทคโนโลยีทำไม่ได้จึงเป็นสิ่งที่หลายบริษัทฝั่งตะวันตกขยับตัววางระบบและโครงสร้างไว้ล่วงหน้า โดยเฉพาะยักษ์ใหญ่ด้านไอทีอย่างแอปเปิลและกูเกิลที่รับเด็กยุคมิลเลนเนียลและเจน Z เข้าทำงานโดยไม่สนเรื่องประสบการณ์ แต่เน้นกันที่ความสามารถล้วนๆ

ถึงอย่างนั้นก็ตาม โมเดลการจ้างงานแบบนี้ไม่ใช่เรื่องแพร่หลายทั่วไป แต่มักจะอยู่ในโลกตะวันตกหรือในกลุ่มประเทศพัฒนาแล้วมากกว่า เพราะประเทศแถบเอเชียที่ให้คุณค่ากับ ‘วุฒิการศึกษา’ พอๆ กับ ‘ประสบการณ์การทำงาน’ ทำให้ที่ทางของเด็กจบใหม่ไม่ได้สดใสขนาดนั้น

จ้างเด็กรุ่นใหม่ ‘มีความเสี่ยง’ เพราะไม่ทนงาน?

แม้การที่เศรษฐกิจชะลอตัวจากการแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 จะทำให้เกิดปรากฏการณ์ ‘ลาออกครั้งใหญ่’ หรือ Great Resignation ในประเทศฝั่งตะวันตกที่คนจำนวนมากยอมออกจากงานที่ไม่ตอบโจทย์ชีวิตที่เปลี่ยนไป แต่ในประเทศที่กำลังพัฒนาในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ รวมถึงไทย โควิดกลับมีผลทำให้คนจำนวนมากตกงานหรือสูญเสียอาชีพโดยไม่ได้สมัครใจจะออกจากงานด้วยตัวเอง

คนส่วนใหญ่ในภูมิภาคนี้ได้รับผลกระทบจากมาตรการควบคุมโควิดที่เข้มงวด ทำให้ไม่สามารถทำมาหากินได้ตามปกติ รวมถึงอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เคยเป็นเส้นเลือดใหญ่หรือแหล่งรายได้หลักๆ ของประเทศ ยกตัวอย่างการท่องเที่ยว ก็ได้รับผลกระทบลามถึงเกือบทุกธุรกิจที่เกี่ยวข้อง ทำให้คนในตลาดแรงงานเหล่านี้ต้องเปลี่ยนอาชีพหรือตกงานกันไปเป็นจำนวนมาก

เด็กที่จบใหม่ในช่วง 2-3 ปีมานี้จึงประสบกับภาวะยากเย็นในการหางานทำไม่แพ้กัน เพราะหลายบริษัทที่ต้องจ้างงานในช่วงนี้มักจะให้โอกาสคนทำงานที่เคยมีประสบการณ์มาก่อนมากกว่าเด็กที่เพิ่งเรียนจบมาหมาดๆ – สัดส่วนการแข่งกันสมัครงานระหว่างเด็กจบใหม่ VS เด็กจบใหม่ และคนมีประสบการณ์ที่เพิ่งตกงาน VS เด็กจบใหม่จึง ‘ดุเดือด’ ไม่แพ้กัน

ถ้าบริษัทไหนยอมจ้างเด็กจบใหม่ ไม่ว่าจะด้วยปัจจัยเรื่องฐานเงินเดือนที่ถูกกว่าหรือความคาดหวังว่าเด็กจบใหม่จะปรับตัวให้เข้ากับเทคโนโลยียุคใหม่ได้ดีกว่าก็ยังถือเป็น ‘ปัจจัยเสี่ยง’ สำหรับนายจ้าง เพราะว่าเด็กจบใหม่ที่เพิ่งรับเข้าทำงานพอมีประสบการณ์ก็อาจจะลาออกไปหางานใหม่ในเวลาไม่นาน เพราะเด็กยุคนี้ถูกมองว่าชอบเปลี่ยนงานไปเรื่อยๆ หรือ ‘อยู่ไม่ทน’

อย่างไรก็ดี งานวิจัยเกี่ยวกับสถิติการเปลี่ยนงานของคนยุคมิลเลนเนียลและเจน Z เมื่อปี 2021 ซึ่งจัดทำโดยสถาบันวิจัยของ IBM บ่งชี้ว่าคนรุ่นนี้ไม่ได้เปลี่ยนงานบ่อยกว่าคนรุ่นก่อนๆ แต่การเปลี่ยนงานบ่อยเป็น ‘เรื่องปกติ’ ของคนอายุ 20 ต้นๆ ซึ่งเกิดในทุกยุคสมัย เพราะนี่คือช่วงวัยที่ไม่กังวลเรื่องความเปลี่ยนแปลงมากนัก และมีมุมมองที่กล้าเสี่ยงกว่าคนอายุ 30 ขึ้นไป

เมื่อมองมา ณ ห้วงเวลาปัจจุบัน การที่คนเจน Z เปลี่ยนงานง่ายๆ หรืออย่างน้อยก็ ‘บ่อยกว่า’ คนที่เกิดในยุคก่อนหน้าจึงเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ และไม่ได้หมายความว่าคนรุ่นนี้ไม่อดทนอย่างที่ใครๆ คิดเสมอไป

รัฐช่วยหนุนจ้างงานเด็กจบใหม่ เป็นผลดีหรือผลเสีย?

การที่รัฐบาลมีนโยบายสนับสนุนการจ้างงานเด็กจบใหม่ในหลายประเทศเป็นเรื่องที่เข้าใจได้ เพราะถ้าเด็กจบใหม่ไร้งานทำ และต้องหันไปทำงานอื่นซึ่งอาจจะไม่ได้ใช้ศักยภาพตามที่เรียนมา ก็จะทำให้แรงงานที่ต้องขับเคลื่อนระบบอุตสาหกรรมต่างๆ ในอนาคต ‘อ่อนด้อย’ ประสบการณ์ตามไปด้วย ซึ่งจะมีผลต่อการขับเคลื่อนกลไกการเติบโตหรือแข่งขันทางเศรษฐกิจเช่นกัน

ช่วงปี 2020-2021 (ตั้งแต่ 1 ตุลาคม 2563 – 31 ธันวาคม 2564) รัฐบาลไทยเองก็มีโครงการส่งเสริมให้ภาครัฐและเอกชนจ้างงานเด็กจบใหม่ ที่เรียกเป็นภาษาอังกฤษว่า Co-payment Program โดยตั้งงบประมาณ 2.3 หมื่นล้านบาทเพื่ออุดหนุนค่าจ้างให้กับนายจ้างในระบบประกันสังคม เพื่อส่งเสริมการจ้างงานเด็กจบใหม่ โดยเป็นการอุดหนุนเงินครึ่งหนึ่งของอัตราเงินเดือนขั้นต่ำตามวุฒิการศึกษา

เด็กจบใหม่ในโครงการนี้เริ่มตั้งแต่ผู้ที่จบ ม.6 ปวช. ปวส. ไปจนถึงปริญญาตรี โดยมีเงื่อนไขว่าต้องเป็นคนที่ไม่เคยอยู่ในระบบประกันสังคมมาก่อนและต้องจบการศึกษาในปี 2562-2563 หรือมีอายุไม่เกิน 25 ปี ซึ่งโครงการนี้ตั้งเป้าว่าจะมีเด็กจบใหม่ได้รับการจ้างงานจากนายจ้างที่เข้าร่วมโครงการนี้ประมาณ 260,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ

แม้เป็นโครงการที่ฟังดูดี แต่ถ้าดูจากรายงานของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (TDRI) ที่เผยแพร่สถิติผลดำเนินงานโครงการ Co-Payment เมื่อเดือนพฤษภาคม 2021 จะพบว่า โครงการนี้ทำให้เกิดการจ้างงาน 30,000 ตำแหน่งเท่านั้นในระยะเวลา 15 เดือนที่ทดลองทำโครงการ ซึ่งคิดเป็น 27 เปอร์เซ็นต์จากตำแหน่งงานที่เปิดรับสมัคร 110,000 ตำแหน่ง โดย 67,000 ตำแหน่งเป็นการจ้างผู้ที่วุฒิการศึกษาต่ำกว่าปริญญาตรี และ 67 เปอร์เซ็นต์เป็นตำแหน่งงานที่อยู่ในพื้นที่ ‘ภาคกลาง’

เห็นได้ชัดว่าการจ้างงานเด็กจบใหม่ในโครงการนี้ ‘กระจุกตัว’ อยู่แค่ในพื้นที่ส่วนกลางของประเทศ และงาน 110,000 ตำแหน่งงานในโครงการก็ ‘ไม่ถึงครึ่ง’ หรือคิดเป็น 42 เปอร์เซ็นต์ของเป้าหมายโครงการที่ประเมินไว้ในตอนแรกว่าควรจะต้องเกิดการจ้างงานให้ได้ 260,000 ตำแหน่งทั่วประเทศ

รายงานของ TDRI จึงประเมินว่า ‘โครงการนี้มีประสิทธิภาพต่ำ’ และแจกแจงว่าส่วนหนึ่งเป็นเพราะภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจที่กระทบรุนแรงในเกือบทุกอุตสาหกรรม หลายธุรกิจในไทยจึงไม่อาจดำเนินการได้ตามปกติ และกิจการที่ยังไปต่อได้อยู่ก็จำเป็นต้องลดต้นทุนเพื่อให้ตัวเองอยู่รอดต่อไป ทำให้การจ้างงานเกิดขึ้นได้ยาก ไม่เฉพาะแค่การจ้างเด็กจบใหม่เท่านั้น

เนื้อหาในรายงานของ TDRI ระบุว่า “เงื่อนไขทางธุรกิจทำให้การจ้างงานเกิดขึ้นได้เฉพาะในอุตสาหกรรมที่เติบโตหรือคงตัวเท่านั้น” ส่วนกิจการที่ได้รับผลกระทบจะไม่สามารถจ้างงานได้ เว้นแต่จะเลิกจ้างพนักงานเก่า ในขณะที่เงื่อนไขในโครงการ Co-payment กำหนดไว้ชัดเจนว่านายจ้างต้อง ‘ไม่เลิกจ้างพนักงานเก่าเกิน 15 เปอร์เซ็นต์’ ในช่วงที่เข้าร่วมโครงการ เพราะรัฐต้องคุ้มครองพนักงานที่ถูกว่าจ้างอยู่แต่เดิมด้วย ทำให้การกระตุ้นการจ้างงานเด็กจบใหม่ในโครงการนี้ไม่เป็นไปอย่างที่คิด

นอกจากนี้ TDRI ยังระบุด้วยว่า เงื่อนไขของโครงการที่จะช่วยอุดหนุนเฉพาะการจ้างตำแหน่งงานประจำ และบังคับให้ต้องลงทะเบียนผ่านเว็บไซต์ของรัฐที่ถูกวิพากษ์วิจารณ์ว่ายุ่งยากและไม่เสถียรก็ทำให้โครงการไม่เอื้ออำนวยต่อธุรกิจขนาดเล็กที่จ้างงานแค่ไม่กี่ตำแหน่ง ขณะที่ปัจจุบัน เว็บไซต์ www.จ้างงานเด็กจบใหม่.com ที่ดำเนินงานโดยกรมจัดหางาน กระทรวงแรงงาน ก็ไม่สามารถเข้าถึงได้แล้วด้วย

การส่งเสริมการจ้างงานเด็กจบใหม่ของรัฐบาลไทยจึงเป็นเรื่องที่ดีในเชิงหลักการ แต่ในทางปฏิบัติจริงอาจต้องคำนึงถึงความเป็นไปได้และแนวทางปฏิบัติที่จะทำให้เกิดความยั่งยืนในระยะยาวมากกว่านี้

แล้วคุณล่ะ? มีความคิดเห็นอย่างไรกับแนวคิดหรือโครงการนี้ หรือมีประสบการณ์ในช่วงจบที่ยังไร้ประสบการณ์อย่างไรบ้าง มาแชร์ให้เราฟังได้เลย!

อ้างอิง

  • Beresford Research. Generations defined by name, birth year, and ages in 2022. https://bit.ly/3KajWen
  • CNBC. Millennials, Gen Z are job-hopping, but contrary to popular belief, maybe not enough. https://cnb.cx/3K9uJFE
  • MOL. Labour Minister Delighted to Support Employment for Over 700,000 People in Q1 Circulating Over 2.7 Bn Baht in the System. https://bit.ly/3x7RNkJ
  • TDRI. ประสิทธิภาพของโครงการจ้างงานเด็กจบใหม่ (Co-payment) จากรัฐบาล. https://bit.ly/3qXhyQQ
  • WEF. Putting the Gen Z unemployment rate in perspective. https://bit.ly/3uPiHeo