สิ้น ‘ปอดของโลก’ สถิติการทำลายป่าแอมะซอนเพิ่มสูงต่อเนื่อง เสี่ยงทำพืชและสัตว์กว่าหมื่นชนิดต้องสูญพันธุ์

จากัวร์ในป่าแอมะซอนอาจพบจุดจบเพราะการสูญเสียพื้นที่ชุ่มน้ำในแอมะซอน l Newyork Post
เดิมทีเราอาจเคยได้ยินคำว่า ‘ป่าแอมะซอนเป็นปอดของโลก’
ด้วยความที่มีพืชหลากหลายชนิด มีระบบนิเวศที่ซับซ้อน อีกทั้งยังมีความสามารถดูดซับก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ให้กับโลกได้มากมาย แอมะซอนจึงเปรียบเป็นเครื่องปรับอากาศที่ช่วยให้อุณหภูมิของโลกเย็นขึ้น และเป็นอาวุธที่ทรงพลังในการต่อสู้กับปัญหาการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ
แต่ทว่าภาพความจริงในวันนี้ เราคงไม่สามารถพูดอย่างนั้นไม่ได้อีกแล้ว
ตามรายงานล่าสุดของ ของสถาบันวิจัยอวกาศแห่งชาติ (INPE) ระบุว่า มีการตัดไม้ทำลายป่าเพิ่มเกือบ 22 เปอร์เซ็นต์ภายในปีเดียว แถมยังมากที่สุดในรอบ 15 ปี

สิถิติการทำลายป่าแอมะซอนเพิ่มสูงขึ้นนับตั้งแต่ ฌาอีร์ โบลโซนารู ดำรงตำแหน่งประธานาธิบดีบราซิล
10 เดือนเสียป่า 2.4 ล้านเอเคอร์
INPE รายงานว่า ระหว่างเดือนสิงหาคม 2020 ถึงเดือนกรกฎาคม 2021 ป่าแอมะซอนถูกทำลายมากถึง 8,271,875 ไร่
ขณะที่ Imazon ซึ่งเป็นสถาบันวิจัยอิสระ ที่เฝ้าติดตามสถานะของป่าระบุว่า ตลอด 10 เดือนแรกของปี พบว่ามีป่าหายไปมากถึง 2.4 ล้านเอเคอร์ หรือประมาณ 6,072,000 ไร่ หรือเมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา พบว่าสถิติสูงกว่าปี 2020 ถึง 33 เปอร์เซ็นต์ โดยเฉพาะในช่วงเดือนตุลาคม แอมะซอนเสียป่าไปมากกว่า 200,000 เอเคอร์ หรือ 50,600 ไร่ ในเดือนเดียว
ต่อสภาพที่เกิดขึ้นมีการกล่าวโทษไปถึง ฌาอีร์ โบลโซนารู ประธานาธิบดีบราซิล ว่านโยบายของเขานำไปสู่การตัดไม้ทำลายป่าครั้งใหญ่ โดยฌาอีร์ได้อนุญาตให้มีการทำเหมืองและเกษตรกรรมในพื้นที่คุ้มครองของแอมะซอน และลดทอนอำนาจงานบังคับใช้กฎหมายด้านสิ่งแวดล้อมให้อ่อนแอลง แถมในปีนี้ตัวเขายังลดงบประมาณสิ่งแวดล้อมลงไปอีก 24 เปอร์เซ็นต์
สิ่งนี้ทำให้สถิติการทำลายป่าแอมะซอนพุ่งสูงขึ้นอย่างชัดเจน นับตั้งแต่มกราคม 2019 ที่เขาเข้ารับตำแหน่ง ซึ่งในช่วงเกิดเหตุไฟป่าครั้งใหญ่ทั้งในปี 2019-2020 ตัวประธานาธิบดีเองก็เมินเฉยกับภาพตรงหน้า จนถูกนานาประเทศกดดันว่าจะคว่ำบาตรทางการค้าก่อนถึงจะลงมือแก้ไข
หมื่นสปีชีส์เสี่ยงสูญพันธุ์
ผลกระทบใหญ่นอกจากการเสียป่าและแหล่งดูดซับคาร์บอนฯ แล้ว ในงานวิจัยอีกชิ้น ซึ่งรายงานโดย Science Panel for the Amazon (SPA) ที่รวบรวมงานวิจัยจากนักวิทยาศาสตร์ 200 คนทั่วโลก และถูกระบุว่าเป็นการประเมินเกี่ยวกับสภาพแอมะซอนที่ละเอียดที่สุดในปัจจุบัน พบว่า ป่าแอมะซอนกำลังสูญเสียพืชและสัตว์มากกว่า 10,000 สายพันธุ์ และอาจนำไปสู่สถานะสูญพันธุ์ในอนาคตอันใกล้
การทำลายล้างอย่างต่อเนื่องที่เกิดจากการแทรกแซงของมนุษย์ ทำให้พืชเฉพาะถิ่นมากกว่า 8,000 ชนิดและสัตว์ 2,300 ชนิด มีความเสี่ยงสูงที่จะสูญพันธุ์ และมีความเป็นไปได้ว่า 35 เปอร์เซ็นต์ของสิ่งมีชีวิตในผืนป่าแห่งนี้อาจสูญพันธุ์จากหน้าที่ไปแล้ว หรือในอีกความหมายหนึ่งคืออาจไม่สามารถแก้ไขหรือฟื้นฟูสายพันธุ์เหล่านั้นได้อีกแล้ว
รายงานยังบอกอีกด้วยว่า หากไม่หยุดทำลายป่าและเร่งฟื้นฟูแอมะซอนเสียตั้งแต่ตอนนี้ แอมะซอนก็อาจถึงคราวอวสานภายในเวลาไม่ถึงทศวรรษ
อ้างอิง
- CNA. More than 10,000 species risk extinction in Amazon, says landmark report. https://bit.ly/3A7JsM3
- CNN. Deforestation in the Amazon increased by 33% in first 10 months of 2021, analysis shows. https://cnn.it/3oNfade
- Aljazeera. Amazon deforestation in Brazil surges to 15-year high. https://bit.ly/3l1E4oA